อธิบดีสค. เปิดบ้านต้อนรับ มิสซิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 พร้อมชวนร่วมแสดงพลัง”ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว”



ในวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เวลา 10.30 น. ณ ห้องรับรอง ชั้น 3 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้การต้อนรับ นางอุไรวรรณ์ พัฒนศิลป์ มิสซิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 คนแรกของประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปการเมือง (WEMOVE) ซึ่งมีความสนใจในประเด็นความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมประกวดเวทีระดับโลก Mrs. Universe 2017 ที่ประเทศ South Africa ในช่วงปลายปีนี้ 
 



นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพสตรี ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย และการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งการมาเยี่ยมเยียนหน่วยงาน สค. ในวันนี้ ของ นางอุไรวรรณ์ พัฒนศิลป์ Mrs. Universe Thailand 2017 ซึ่งเป็นสตรีไทยที่อยู่ในสถานภาพสมรส ที่มีความพร้อม ในด้านต่าง ๆ ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ความสง่างามสมบูรณ์แบบ ทั้งด้านครอบครัวและสังคม รวมทั้งมีจิตสาธารณะ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดเวทีระดับโลก Mrs. Universe 2017 ได้มาพบปะพูดคุย เกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ที่จะนำไปแลกเปลี่ยนในเวทีประกวดระดับนานาชาติ ที่มีผู้แทนมิสซิสยูนิเวิร์สแต่ละประเทศ รวม 84 ประเทศ 

จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ทั้งเรื่องของการส่งเสริม สนับสนุนสตรีถึงแม้จะสมรสแล้วได้มีโอกาสประกวดเวทีนางงามระดับโลกได้ และยิ่งถือเป็นสิ่งดีที่มิสซิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 คนแรกของไทยคนนี้ ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยในการนำเสนอถึงรูปแบบการขับเคลื่อนการดำเนินงานการป้องกัน แก้ไขปัญหา และคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้นานาประเทศได้รับทราบ 
 

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกสังคมทุกประเทศทั่วโลก โดยมีสาเหตุที่สำคัญที่สุดเกิดจากทัศนคติดั้งเดิมที่มองเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เมื่อผู้ที่มีอำนาจหรือถูกมองว่ามีอำนาจเหนือกว่าใช้อำนาจในการควบคุมพฤติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง นั้นคือ เป็นโครงสร้างทางสังคมที่สะท้อนความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจในสถาบันครอบครัวที่ไม่เท่าเทียมกัน 

ความคาดหวังในบทบาทหญิงชายที่แตกต่างกันด้วยทัศนคติดังกล่าวทำให้สังคมทั่วไปเห็นว่าการทำร้ายกัน เป็นเรื่องปกติภายในครอบครัว ซึ่งบุคคลภายนอก ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำให้บางครั้งอาจทำให้ปัญหาลุกลาม จนแก้ไขไม่ทันหรือยากที่จะเยียวยา การป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรง คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติดั้งเดิมที่มองเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน จึงต้องสร้างกระแสให้สังคมเกิดความตระหนักต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและเข้าใจถึงรากเหง้าของเหตุแห่งความรุนแรงที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งชี้ทางในการดำเนินชีวิตเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีปราศจากความรุนแรง 
 

สุดท้ายนายเลิศปัญญาได้ฝากให้ Mrs. Universe Thailand 2017 เชิญชวนทุกประเทศ ร่วมแสดงพลังด้วยการ "ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว" โดยขอความร่วมมือทุกประเทศร่วมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมแสดงพลัง ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และสมาชิกในครอบครัวของตนเอง 

รวมทั้งปฏิบัติบทบาทหน้าที่ให้เหมาะสมในฐานะสมาชิกในครอบครัว โดยปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และขอความร่วมมือนานาชาติให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว โดยขอความร่วมมือแต่ละประเทศในการเสริมสร้างระบบกลไกต่าง ๆ ในการป้องกัน ช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็ก สตรี และสมาชิกในครอบครัวจากความรุนแรง เพื่อเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง อันเป็นรากฐานของสังคมแต่ละประเทศ อันจะส่งผลให้ประเทศชาติ และสังคมโลกสงบสุขต่อไป