สค. เล็งหาทิศทางสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวไทยโดยใช้กลไกระดับพื้นที่

ในวันที่ 24 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น. ณ ห้องมาร์โค โปโล (Marco Polo) ชั้น 2 โรงแรมรามาดา เดมา กรุงเทพมหานคร นายวิศิษฐ์ เดชเสน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธานเปิดกิจกรรมการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนกิจกรรมตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพครอบครัวลดความรุนแรงในครอบครัว โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และผู้แทนจากพื้นที่/ชุมชนที่ร่วมดำเนินการโครงการ จำนวน 66 คน 
 

   

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินโครงการที่เน้นการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน ป้องกัน เฝ้าระวัง คุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยา และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ร่วมกับจังหวัดและกลไกสหวิชาชีพในพื้นที่ ในการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพครอบครัวลดความรุนแรงในเด็กเล็ก และโครงการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ในพื้นที่ 28 จังหวัด

ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ พิษณุโลก อุดรธานี ปราจีนบุรี สิงห์บุรี สระบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พัทลุง สตูล และนราธิวาส ซึ่งเป็นการสร้างพลังทีมงานระดับจังหวัดและระดับตำบล 
 

นายวิศิษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า การจัดกิจกรรมการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนกิจกรรมตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพครอบครัวลดความรุนแรงในครอบครัวในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้ง 28 จังหวัด ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในพื้นที่ 

ตลอดจนทราบถึงจุดเด่น จุดด้อยของแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานทั้งในด้านการตัดสินใจ การวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงาน การเฝ้าระวัง ตลอดจนการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในระดับพื้นที่ได้ โดยใช้การคิดวิเคราะห์แบบแบ่งกลุ่มเพื่อฝึกภาคปฏิบัติในการเรียนรู้ร่วมกัน 
 

“องค์ความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนในครั้งนี้ สค. จะดำเนินการผลิดเป็นเอกสารคู่มือการดำเนินงานสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกลไกในระดับพื้นที่ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้ทุกจังหวัดใช้เป็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานต่อไป” นายวิศิษฐ์ กล่าวในตอนท้าย