สพฉ.ยกนาสารโมเดล แม่แบบช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ชูระบบเครือข่ายเข้มแข็ง



สพฉ.ยก นาสารโมเดล แม่แบบ ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกลอย่างมีประสิทธิภาพ ชู ระบบเครือข่ายในพื้นที่เข้มแข็ง ทำให้การบริการมีประสิทธิภาพ เรื่องการประสานงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมส่งต่อความรู้การใช้งานสายด่วน 1669 ให้กับกลุ่มเยาวชน เพื่อสานต่อความยั่งยืน

ปัจจุบันระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นการบริการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งในสภาวะปกติ และภาวะภัยพิบัติ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกล หากมีการลำเลียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินไปโรงพยาบาลไม่ถูกวิธี อาจทำให้อันตรายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการดูแลรักษาล่าช้า

ดังนั้นการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการให้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่น ที่ต้องมีพื้นฐานการให้บริการที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสอดรับกับพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ได้กำหนดบทบาทและภาระกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ด้วยเหตุนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ..ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการประสาน ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน 

จึงได้จัดงานสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ห่างไกล และการฝึกอบรมการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศขั้นสูงในพื้นที่ทุรกันดารและซับซ้อน จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้น ในวันที่ 21-23 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยการจัดงานในครั้งนี้ สพฉ.ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อ.นาสาร จังหวัดสุราษฏร์ธานี

      

เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้ายิ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล หากมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยได้ 

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่าร้อยละ 67 ของพื้นที่ ซึ่งในส่วนของพื้นที่อำเภอบ้านนาสาร จ.สุราษฏร์ธานีนี้ นับเป็นหนึ่งในนั้น ที่สามารถดำเนินการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศยาน ทั้งที่ตัวพื้นที่จะอยู่ห่างไกล ติดเขาและทะเล  จึงถือเป็นต้นแบบการจัดการของของการวางระบบการให้บริการผ่านสายด่วน 1669

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวต่อว่า การดำเนินการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่อำเภอนาสาร นับว่ามีความน่าสนใจ มีทั้งการให้บริการประชาชนแบบคลอบคลุมทั่วถึง รวม 11 ตำบล ผ่านชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 12 หน่วย กระจายอยู่เกือบทุกตำบล ทำให้เกิดความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่อำเภอนาสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือการสร้างเครือข่ายในท้องถิ่นร่วมด้วย โดยมีการประสานทั้ง โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมูลนิธิภาคเอกชน ในการทำงานร่วมกัน ทั้งเรื่อง อุปกรณ์ ยานพาหนะ รถ เรือ เครื่องบิน  ในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้เกิดความรวดเร็วมีประสิทธิภาพทำให้ประชาชนไว้ใจ และมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น”เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว

เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ผลของการปฏิบัติการที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เกิดจากความเข้มแข็งของระบบเครือข่าย ผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกัน อาทิ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในส่วนของอำเภอและจังหวัด ทุกทีมเข้าร่วมซ้อมแผนรับมือสาธารณะภัยอำเภอ ปีละ 1 ครั้ง  ผ่านการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง ในทุกรูปแบบของการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน อาทิ การดูแล และการใช้เครื่องมือ ขณะลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ เป็นต้น  ส่งผลสำคัญต่อการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งยังส่งต่อไปยังกลุ่มเยาวชน โดยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาสนับสนุนดูแล มีการให้ความรู้เชิงรุกกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ ในการใช้งานสายด่วน 1669 จุดประสงค์สำคัญเพื่อปลูกฝังกลุ่มเยาวชน เกิดเป็นเครือข่ายที่ยั่งยืนเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นต่อไป

ขณะที่ นายแพทย์จารุวิทย์ บุษบรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ชุดปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินที่อำเภอบ้านนาสาร การดำเนินการเริ่มแรกนั้นยังไม่มีเครือข่าย และความพร้อมในการออกปฏิบัติการ จะใช้เวลามากกว่า 10 นาที จนมาถึงปี 2550  โรงพยาบาลบ้านนาสาร ได้เริ่มพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ พัฒนาระบบสื่อสาร รวมทั้งการพัฒนาระบบเครือขายให้มีความเข้มแข็ง โดยมีความร่วมมือจาก มูลนิธิภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนทำให้ปัจจุบันนี้ ทีมงานกู้ชีพฉุกเฉินของโรงพยาบาลมีความพร้อมต่อการออกปฏิบัติการภายใน 2 นาทีเท่านั้น

“จุดเด่นของการให้บริการกู้ชีพฉุกเฉินของเรา คือ การให้บริการที่รวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการมีเครือข่ายที่เข้มแข็งคลอบคลุมทั้งอำเภอ รวม 11 หน่วย โดยเฉพาะความร่วมมือจากทั้งมูลนิธิภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีกิจกรรมการพัฒนาการให้บริการร่วมกัน อาทิ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินอำเภอปีละ 1 ครั้ง การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดเดือนละ 1 ครั้ง จัดโครงการซ้อมแผนรับมือสาธารณภัยของอำเภอ ปีละ 1 ครั้งเป็นต้น ทั้งหมดนี้ส่งผลทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2559 สามารถออกให้บริการได้ 3,151 ครั้ง โดยมีผู้ป่วยฉุกเฉินกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขอใช้บริการมากสุดถึง 75 เปอร์เซ็นต์”ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าว