เปิดโลกทัศน์กับดร.มณฑิชา เครือสุวรรณ์ คณบดี วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ “ม.ศรีปทุม”

                “….อาจารย์จะบอกเด็กเสมอว่า ไม่ว่าจะจบอะไร สาขาไหน ชีวิตคนเราคือ life long learning ชีวิตเราไม่ได้หยุด แม้แต่อาจารย์เองก็ต้องขวนขวายอัพเดทความรู้และข้อมูลตลอด เราจะปลูกฝังจิตสำนึกตรงนี้เพื่อให้มีวินัยกับตัวเองและกับสถานประกอบการ”


ในช่วงของการเดินทางสู่ เวียตนามใต้ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บีทริปนิวส์ มีโอกาสร่วมทริปไปพร้อมๆกับ น้อง ๆ นักศึกษาสาขาวิชาธุรกิจการบิน ชั้นปี 1 วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ ในโครงการเปิดโลกธุรกิจการบินประจำปีการศึกษา 2559 ทำให้กองบก. www.btripnews.net ได้รับเกียรติจาก ดร.มณฑิชา เครือสุวรรณ์ คณบดี วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ปรึกษาด้านวิชาการกรมการท่องเที่ยวและการกีฬา และผู้ทรงคุณวุฒิของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  มาบอกเล่าแนวคิดของการจัดการหลักสูตรซึ่งกำลังฮอตฮิต ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบัน …..เรามาเปิดโลกทัศน์ไปกับหลักสูตรที่น่าสนใจนี้กัน

คุณภาพคือความแตกต่าง 



ดร.มณฑิชา เครือสุวรรณ์ คณบดี วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เริ่มเล่าให้ฟังว่า …..วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มี 4 สาขา สาขาธุรกิจการบิน สาขาการจัดการโรงแรม สาขาท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจเรือสำราญ ใน 4 สาขา จะมีเรื่องของ service industry หรืออุตสาหกรรมการบริการ เพียงแต่จะแตกต่างกันไปในเนื้องานเฉพาะกิจของตัวเอง

เรื่องหลักสูตร เราตั้งสโลแกนของหลักสูตรและวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการว่า นักศึกษาทุกคนต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริง คณาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมทีมต้องมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอย่างไม่ต่ำกว่า 7 ปี รวมถึงการเชิญบุคลากรที่มีประสบการณ์ตรงเข้ามาเพื่อสอนและถ่ายทอดเทคนิคให้กับนักศึกษา

ทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรทางด้านการบริการ ในภาคทฤษฎีจะถูกดูแลควบคุมมาตรฐานจากกระทรวงศึกษาอยู่แล้ว แต่ส่วนที่จะทำให้นักศึกษาแตกต่างกันคือ คุณภาพ ในเรื่องของประสบการณ์ ในทุกวิชาทางวิทยาลัยฯ จะกำหนดว่าหลังจากเรียนภาคทฤษฎีแล้ว ต้องเรียนภาคปฏิบัติเพื่อที่นักศึกษาจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์

โดยมีการประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการ สอบถามความต้องการทางภาคอุตสาหกรรมว่า อยากได้เด็กแบบใด เมื่อเด็กไปฝึกปฏิบัติงาน จะมีอาจารย์ไปนิเทศน์เด็ก และจะดูว่าใช่ในสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการหรือไม่ หากต้องเพิ่มเติมเช่น เด็กของเราทักษะการใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างน้อย ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ใช่เฉพาะของเรา เรานำอาจารย์ สกล สุชาตวุฒิ เพื่อมาจัดกิจกรรมด้านภาษา จะพาไปออกค่าย English Camp , English for Fun , English for The Day เพื่อเติมเต็มให้เด็ก ”

เรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐาน

 คณบดี กล่าวต่อว่า “ …..การออกภาคปฏิบัติจะจัดให้สำหรับทุกชั้นปีการศึกษา เช่นเด็กการบิน ปี 1 วิชาเปิดโลกทัศน์สู่อุตสาหกรรมการบิน พาเด็กไปให้เห็นขั้นตอนการเดินทาง ตั้งแต่ Counter Check in ผ่าน Immigration การทำงานบนเครื่องของแอร์โฮสเตท หรือสจ๊วต

ต่อไปหากลงเรียนวิชา Ticketing การออกตั๋ว จะมีอาจารย์จากการบินไทยที่อยู่ห้องตั๋วผู้โดยสารมาสอน มีโปรแกรมอมาดิอุส ซึ่งใช้ในการสำรองที่นั่ง เด็กจะรู้วิธีการคำนวณเส้นทาง

อีกวิชาหนึ่ง คือ Inflight service มีมอคอัพในมหาวิทยาลัย  50 Seat เด็กจะต้องผลัดกัน 20 คนเป็นผู้โดยสาร 20 คนเป็นคนเสริฟ วันสอบจะมีคณาจารย์ไปเล่นบทผู้โดยสาร ผู้โดยสารมีปัญหาแล้วจะต้องทำอย่างไร เพื่อทดสอบวุฒิอารมณ์ของเขาในการบริการ

วิชา Cargo มีการพาเด็กไปดูหน้างานว่าการขนส่งสัมภาระ สินค้าแตกต่างจากงานขนส่งผู้โดยสารอย่างไร เมื่อเด็กได้เรียนรู้ทุกหน้างานก็จะหันมามองดูตัวเองว่า คุณสมบัติของเขาพร้อมที่จะไปหน้างานส่วนไหน เมื่อแรกเข้า 90 %จะบอกว่าอยากเป็นแอร์ เป็นสจ๊วต แต่พอเจอหน้างานจริงๆ จะรู้เลยว่า ตัวเองมีความชอบหรือเหมาะสมกับงานด้านใด ให้เขารู้ถึงหน้างานทุกงานเพื่อจบออกไปจะมีโอกาสเลือกในวิชาชีพของตัเอง เด็กที่จบออกไป 80 คนได้งานทำ 90 % ส่วน 10 % คือไปประกอบธุรกิจครอบครัว หรือ เรียนต่อ

บททดสอบปฏิบัติจริง



คณบดี เล่าต่อว่า “ตอนนี้นักศึกษาจบไปสองรุ่น  รุ่นแรก 124 คน แต่จบไป 80 คน ที่เหลือ Disqualify เราไม่ได้ปล่อยเขาออกไปให้จบๆ  เพราะงานประเภทนี้จะมีสเปคพิเศษ เช่นแอร์โฮสเตท จะต้องมีส่วนสูง น้ำหนักเท่าไหร่ ถ้าสูงของเด็กผู้หญิงต้องลบด้วย 110  นั่นคือน้ำหนัก ถ้าเด็กผู้ชายต้องลบด้วย 100  นั่นคือน้ำหนัก นั่นทำให้ตอนนี้เด็กๆ เริ่มเตรียมสำหรับการขึ้นตาชั่งละ จะเพิ่มหรือจะลดน้ำหนัก

ด้านภาษาถ้าเป็นผู้โดยสารที่ต้องติดต่อกับผู้โดยสารโดยตรงบนเครื่อง ต้องสอบโทอิกให้ผ่าน 650 ถ้า Ground  600 ถ้า Cargo  550 หรือ Catering 350-400 นี่คือคะแนน เราจะมีกิจกรรมที่จะเสริมทักษะด้านภาษา อาจารย์จะจัดคอร์สให้เพื่อเด็กได้เตรียมตัวและติว

รุ่นที่สอง เพิ่มขึ้นมาเป็น 250 คน หลักสูตร 4 ปี จริงๆ แล้วคือ สามปีครึ่ง อีกเทอมหนึ่งครึ่งปีไปฝึกปฏิบัติงาน ทางวิทยาลัยฯ มี MOU กับสถานประกอบการ สายการบิน ไม่ว่าจะเป็นสายการบินระดับชาติ Singapore Airlines , Thai Airways , Lufthansa Airline , Emirates Airline, Boutique Airline หรือ Low-Cost Airline

การรับนักศึกษาจะรับตลอดทั้งปี เนื่องจากวิทยาลัยฯ ปรับเป็นโปรแกรมกับอาเซียน หลักสูตรนานาชาติ มีโปรแกรมหมุนเวียนไป ทางเราไม่กำหนดสเปคเด็ก เรารับเข้ามาแล้วมาบ่มเพาะ เพราะแต่ละหน้างานจะมีความแตกต่างกัน”

มุมมองการเติบโตทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

คณบดี กล่าวว่า “เราได้ตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวและจากรายงานการสำรวจความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบประเทศที่จะมาท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นท็อปอันดับหนึ่งของโลก

เป็นตัวบ่งบอกว่า ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้มากๆ ด้วยทรัพยากรที่มี ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ท่องเที่ยวด้านกีฬา ด้านสุขภาพ จะจัดเป็นรูปของนักท่องเที่ยว ก็จะหมุนเวียนกันมาได้ตลอดปี อย่างตัวที่สามคือ จากสถิติการสั่งซื้อเครืองบินแบบโบอิ้งและแอร์บัส แต่ละบริษัทมีออเดอร์ปีละ 80 ลำ จากแต่ละสายการบิน บางสายการบินที่ดูแล้วอาจจะมีปัญหาในเรื่องธุรกิจการบิน ก็ลุกขึ้นมาสั่งเครื่องบิน 20-50 ลำ

ตัวบ่งบอก อีกอย่างหนึ่งคือ จากการสำรวจพบว่าหลังจบการศึกษาเด็กมัธยมปลาย สนใจเรียนต่อด้านอุตสาหกรรมการบินบริการเป็นอันดับหนึ่ง เพราะความท้าทาย การได้เดินทางท่องเที่ยว สนุก รายได้ดี และอีกปัจจัยหนึ่ง ขณะนี้ได้ยินมาว่าในประเทศไทยเราเองกำลังมีบริษัทการบินที่เป็นโลว์คอร์สแอร์ไลน์กำลังรออนุมัติขอเปิดอีกสิบกว่าสายการบิน งานมีอยู่แล้ว นักศึกษาต้องปรับตัวให้เข้ากับสเปคของอุตสาหกรรม

คณบดี กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมนี้นับวันทวีคูณมากขึ้น เราเปิดมาได้ปีที่ 6 แต่ละปีที่พานักศึกษาวิชาเปิดโลกทัศน์ มี พม่า ลาว สิงคโปร์ เวียตนาม เพื่อให้เด็กเรียนรู้และปรับตัวกับอาชีพ วัฒนธรรมข้ามชาติ เด็กต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจไลฟ์สไตล์ชาติต่างๆ ที่เข้ามา วิชาชีพนี้สามารถป้อนนักศึกษาเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เด็กสาขาธุรกิจการบิน เป็นคณะที่ได้ให้ความนิยมมากที่สุด มีนักศึกษามากที่สุดในมหาวิทยาลัย ปีหนึ่ง 400 คน

สำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน เด็กไม่ต้องสอบเข้า เราเข้าใจว่าเด็กพื้นฐานไม่เหมือนกัน การที่เขาต้องสอบเอ็นทรนส์และอื่นๆ ทำให้เขาเก่งบางวิชา ด้อยบางวิชา เขาก็ Disqualify แล้ว แต่เราให้โอกาสเขาว่า เขาผิดหวังมาแล้ว   ณ วันนี้ มีโอกาสดีแบบนี้ ถ้าอยากเดินก้าวต่อไป ต้องพัฒนาตัวเอง และเราพร้อมจะเติมเต็มให้เขา

….เราจะบอกเด็กเสมอว่า ไม่ว่าจะจบอะไร สาขาไหน ชีวิตคนเราคือ life long learning ชีวิตเราไม่ได้หยุด แม้แต่อาจารย์เองก็ต้องขวนขวายอัพเดทความรู้และข้อมูลตลอด เราจะปลูกฝังจิตสำนึกตรงนี้เพื่อให้มีวินัยกับตัวเองและกับสถานประกอบการ

ความต่างของเด็กไทยกับต่างชาติ

ดร.มณฑิชา ยกตัวอย่างว่า “มีช่วงหนึ่ง การบินไทยไปทำเครือข่ายพันธมิตรกับ Star Alliance มี Air Canada  Lufthansa SAS Thai Airways และ United ปรากฎมีการเซอร์เวย์ว่า หากไม่ใช่สายการบินประจำชาติของคุณ คุณอยากจะบินสายการบินไหน ในเครือข่าย Lufthansa ผล 90 % เป็นการบินไทย ถึงแม้ว่าการบินไทยจะเป็นสายการบินที่เล็กที่สุดในกลุ่ม 5 สายการบินนั้น

สิ่งที่ผู้โดยสารต้องการคืองานบริการ ไทยสมายล์ รอยยิ้ม ความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่ง ซึ่งคนไทยมีโดยวัฒนธรรมไทย โดยการอบรม ไลฟ์สไตล์ของคนไทย พูดอะไรไม่ออก บอกไม่ถูก ยิ้มไว้ก่อน เพราะฉะนั้น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ที่เราสอนเด็ก การไหว้ การมีสัมมาคารวะ มารยาทไทย จะเป็นวิชาหลักเพราะในวิชาหนึ่งที่เราเน้นมากโดยเรียนกันในปีหนึ่งเลย คือ การพัฒนาบุคลิกภาพและอัตลักษณ์

เราจะสอนการใช้ชีวิตในสังคม สอนมารยาทตะวันตก สอนมารยาทไทย และการดูแลตัวเอง แต่งหน้าทำผม ซึ่งตรงนี้คุณต้องพร้อม เวลาไปบินต้องเป๊ะและเนี๊ยบ ต้องดูแลตัวเองเสมอ ซึ่งตรงนี้เรามีสเปคมาจากการบินอยู่แล้วว่า ผม เสื้อผ้า กระโปรง กางเกง รองเท้า เราจะสอนเด็กตรงนี้และบวกกับมารยาทไทย

และอีกตัวหนึ่งที่เน้น คือ อีคิว เพื่อให้เขาได้รู้การวางอารมณ์จะควบคุมอย่างไรกับผู้โดยสารเมื่อเกิดปัญหาอะไรเขาจะต้องนิ่ง พร้อมให้บริการ เราจะส่งไปสู่วิชาที่ 2 คือ จิตวิทยาการบริการ

“ในภาพรวมของประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ เป็นรายได้หลักของประเทศ ช่วยกู้ชาติก็ว่าได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจในทุกๆ ครั้ง เศรษฐกิจโลก หุ้นพุ่ง หุ้นตกกระพริบตาแป๊บเดียว มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่กับคนไทยในภาพรวม แต่ทุกครั้งจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามา

ตรงนี้จะสอนให้คนไทยอยู่ได้โดยไม่ต้องเอาตัวเองไปแขวนไว้กับเศรษฐกิจโลกหรือสภาวะโลก สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ดูในสิ่งที่บ้านเรามีอยู่  เป็นเจ้าบ้านที่ดี นำเสนอการบริการ นำเสนอสิ่งดีๆ มอบความสุขให้กับคนทั่วโลกที่เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ

…ในมุมมองของภาคพรวมของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ก็สามารถช่วยประเทศได้ ในความเป็นตัวตนของเด็กเองที่จะมาเป็นนักศึกษาและจะเป็นตลาดแรงงานในอนาคต เขามีทางเลือกที่จะทำในสิ่งที่ชอบ สนุกสนาน ได้เที่ยว ได้มองโลกกว้าง และสำคัญที่สุดคือ สามารถเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ให้กับประเทศไทย เป็นทูตทางวัฒนธรรมเป็นผู้ถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามที่ประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยวได้รู้จัก

เด็กที่จะเข้ามาขอให้มีใจรักในงานบริการ เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะเรียนรู้กับวัฒนธรรม กับสิ่งแวดล้อมในหน้าที่การงาน ทั้งจากสายการบินต่างๆ หรือนักท่องเที่ยว เด็กจะมีความสุขในสิ่งที่อยากเป็น เพราะถ้าทำงานแล้วเครียดไม่มีความสุข ชีวิตก็ไม่มีความหมาย” ดร.มณฑิชา กล่าวท้ายสุด