เมื่อ SACICT รุกคืบ หัตถศิลป์ไทยก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

                        “.... งานศิลปหัตถกรรมของไทยไม่ใช่เรื่องล้าสมัยแต่สามารถประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้ตลอดเวลา”   



   


เกือบสองทศวรรษของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT กับพันธกิจส่งเสริมสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทย ที่โอบอุ้มหัตถวิถีของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง กาลเวลาผ่าน SACICT หรือ คำพ้องเสียง “ศักดิ์สิทธิ์” ยังคงก้าวสานงานศิลป์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าและความงดงามของงานเหล่านั้น อีกทั้งยังมุ่งสร้างสรรค์ให้ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ของการผสมผสานระหว่างงานศิลป์กับชีวิตผู้คนให้สามารถต่อยอด หล่อหลอมความเป็นไทยได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืนยิ่งขึ้น 

แต่กระนั้น ... ทั้งหมดทั้งมวลจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดซึ่งหัวหอกสำคัญของศูนย์ฯแห่งนี้ โดยเฉพาะภายใต้การกุมบังเหียนของผู้อำนวยการคนปัจจุบัน คุณอัมพวัน พิชาลัย ที่มุ่งเน้นสานต่องานหัตถศิลป์ ในวิถี Today Life’s Crafts ให้งานหัตถศิลป์ของไทยขยายวงออกสู่สาธารณะชน...สู่การจับต้องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม อันนำมาซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจอย่าง SACICT เพลิน Craft คราฟต์วันหยุดอยุธยา 2560 

SACICT เพลิน  Craft 

... เสียงพากย์ประกอบการแสดง เชิดหนังใหญ่ แห่งวัดขนอน เริ่มขึ้นด้วยลีลาเร้าใจ ขณะที่ศิลปินนักเชิดหนังใหญ่ต่างผสานรับทำนองดนตรีไทยโหมโรงระรัวเร็วบอกเล่าเรื่องราวภายในพิธีเปิดกิจกรรม SACICT เพลิน Craft คราฟท์วันหยุดอยุธยา ณ บริเวณลานด้านหน้าวัดพระธาตุ เมื่อบ่ายแดดจัดของวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้เหล่านักท่องเที่ยวหยุดเพ่งมองอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ 

   

   

ผู้หลักผู้ใหญ่เข้าร่วมกิจกรรมการพิธี ทั้งรองผู้ว่าฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์ฯ ผอ.ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ คุณอัมพวัน พิชาลัย ที่เปิดโอกาสให้กองบก. www.Btripnews.net ได้รับรู้ถึงความเป็นมาของงานนี้

ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เล่าให้ฟังว่างานศิลปหัตถกรรมขณะนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น คนไทยและชาวต่างชาติอยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ งานหัตถกรรมก็ตอบโจทย์เหล่านี้ ในฐานะที่ SACICT เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนให้คนได้รับรู้และรู้จักงานศิลปะและสามารถนำไปใช้ได้จริง จึงจัดงาน SACICT เพลิน Craft ขึ้น เพื่อให้เห็นว่างานหัตถกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มีส่วนในชีวิตประจำวันของเราจริงๆ สามารถทำและใช้งานเหล่านี้ได้

....งานหัตถกรรมมีรากฐานและภูมิปัญญาที่ควรจะอนุรักษ์เอาไว้ ขณะเดียวกันทุกคนสามารถมีส่วนร่วม สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ งานนี้จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ได้เห็นถึงงานหัตถกรรมที่บางแขนง อาจจะไม่รู้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ทำอย่างไร ให้ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วยกันผ่านชิ้นงานเหล่านั้น 

เพื่อเสริมสร้างความประทับใจและสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย ในลักษณะที่เราไม่ได้บังคับให้ทุกคนสืบสาน แต่ทุกคนเมื่อมีความรัก ทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตัวเอง ตรงนี้ถือเป็นคอนเซ็ปต์ของงาน คือให้คนได้รักก่อน เมื่อรักแล้วจะทำให้เกิดการสนใจและค้นคว้า ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสืบสานงานเหล่านั้นต่อไปในงานวันข้างหน้า”

สืบสานรากเหง้าแห่งภูมิปัญญา

บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าวัดมหาธาตุ ถูกจัดพื้นที่เพื่อการแสดงผลงานและเปิด Work Shop จากครูช่างศิลป์และทายาทช่างศิลป์หลายแขนง 

“ลองดูค่ะ ... ค่อยๆ จับปลายมุมนี้ สานไม่ยาก” นางประภาส เรืองกิจ หนึ่งในสมาชิก SACICT เอ่ยขึ้นเมื่อเห็นเด็กน้อยทำท่ารีรอส่งสายตาหาผู้ปกครองแบบไม่แน่ใจกับการจักสานใบตาล – ใบลาน กิจกรรมเวิร์คช็อปเพื่อครอบครัวภายในงาน

....ไม่ไกลกันนักเป็นที่แสดงงาน “ปั้นตุ๊กตาชาววัง” โดยครูจริยา สงวนชาติ หัวหน้าแผนกปั้นตุ๊กตาชาววัง ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ  นู่น... งาน “หุ่นกระบอก ศิราภรณ์ หัวโขน” ที่ครูช่างศิลปหัตกรรม ปี 2556 ครูพิรุณ ศรีเอี่ยมสะอาด กำลังบรรยายให้กับมัคคุเทศน์ชาวไทยที่พานักท่องเที่ยวชาวสเปนเข้ามาเยี่ยมเยียน

   

มองผ่านเลยไป ...“เร็วๆ มานี่เร็ว ถ่ายรูปกัน” สาวน้อยวัยใสผิวเข้ม สวมหมวกสานใบเขื่องสีสรรจัดจ้าน ชูสมาร์ทโฟนคู่ใจ ส่งเสียงเจื้อยแจ้วเรียกกลุ่มเพื่อนชวนกันเซลฟี่กับทีมเชิดหนังใหญ่ที่ยืนรอท่ายิ้มแย้มเห็นฟันขาวจ๋อง

ผอ.อัมพวัน เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “...งานบางอย่าง เช่น โขน อาจจะมองว่าไกลตัว แต่เดี๋ยวนี้เราส่งเสริมให้มีการนำงานเหล่านี้มาประยุกต์ให้สอดคล้องกับชีวิตมากขึ้น โดยนำมาผลิตเป็นชิ้นงานใกล้ตัวเช่นเครื่องประดับ ของใช้ ของตกแต่งบ้าน หรือไปเชื่อมโยงอย่างอื่น 


....เราต้องการปลูกฝังกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งในทุกวันนี้อยากเป็นสตาร์ทอัพกันหมด แต่อาจจะลืมนึกไปว่า งานหัตถศิลป์ก็เป็นงานหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะสตาร์ทอัพในปัจจุบันมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงมาก และอะไรคือความต่าง การนำหัตถกรรมที่มีรากเหง้าของภูมิปัญญามาผสมผสาน จะสามารถสร้างความแตกต่างของผลงานได้ โดยเฉพาะงานหัตถกรรมเหล่านี้เน้นเรื่องงานฝีมือ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้นำไปคิดรูปแบบ คิดถึงโอกาสทางธุรกิจและพัฒนาต่อยอดต่อไป

งานหัตถกรรมงานทำด้วยมือมีอยู่ทั่วไป แต่หากเรารับรู้ว่า หัตถกรรมที่มาจากภูมิปัญญาไทยมีความงดงามที่แฝงไปด้วยคุณค่าในตัวเอง จะสามารถเพิ่มมูลค่าทั้งทางความรู้สึกทางใจและอารมณ์ อีกทั้งยังสามารถใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้”

คัดสรรเพื่อสืบสาน  

หากแต่ศิลปะของไทยมีให้เห็นมากมาย แล้วการคัดสรรหัตถศิลป์แต่แขนง จะมีวิธีอย่างไร ผอ.อัมพวัน บอกว่า “ศิลปะของไทยทุกแขนง ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศส่งเสริมสนับสนุนอยู่แล้วเพราะเป็นภารกิจ แต่ว่าในแต่ละปีจะมีการวางกลุ่มเป้าหมายว่าจะส่งเสริมสนับสนุนอะไร

อย่างปีนี้ให้ความสำคัญกับศิลปหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย เช่น งานโขน งานเบญจรงค์ ซึ่งจะเห็นว่างานเบญจรงค์คนซื้อไม่ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ เป็นโจทย์สำหรับเราว่าจะทำอย่างไรให้คนซื้อไปใช้ เมื่องานเบญจรงค์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ตลาดก็จะขยายตัว เบญจรงค์ที่เป็นของดั้งเดิมถูกจำกัดด้วยการใช้งาน แต่ถ้าหากมีรูปลักษณ์ใหม่ เป็นฟังก์ชั่นใหม่ เช่น เบญจรงค์เป็นรูปภาพ หรือเครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน หรือเป็นขาแว่นอย่างที่ออกแบบมานำเสนอในครั้งนี้ หรือไปอยู่ในส่วนประกอบของสินค้าอุตสาหกรรมก็จะทำให้งานขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นแนวคิดที่พยายามนำนวัตกรรมเพิ่มเข้ามา นวัตกรรมทางความคิด นวัตกรรมทางวิธีการในการทำงาน นวัตกรรมทางการออกแบบ”

   

สนุกศิลป์ 

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อสานต่องานศิลปหัตถกรรมของไทยแล้ว ผอ.อัมพวัน  ยังมองว่า ....อย่างน้อยทำให้เห็นว่างานหัตถกรรมเป็นเรื่องสนุก ข้อสองคือเรื่องของการประชาสัมพันธ์บทบาทขององค์กร ถึงแม้ว่าองค์กรฯ จะตั้งมาสิบกว่าปี แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในประเทศไทยหรือชาวต่างชาติรู้จัก เพราะฉะนั้นอย่างน้อยชาวต่างชาติจะเข้าใจแล้วว่า ประเทศไทยมีองค์กรที่ทำหน้าที่ของการอนุรักษ์และให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเห็นความสำคัญของงานหัตถศิลป์เหล่านี้  

อีกทั้งคนไทยเองก็อาจจะยังไม่รู้จัก ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งที่มองว่า เพื่อให้คนไทยได้เข้ามารู้จักและรับรู้ว่า เราเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ในงานศิลปะ

เดิมก็มีการนำไปจัดกิจกรรมที่กรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นทุกอย่าง ทำให้เรามองย้อนกลับมาที่บ้านของเราด้วยความเชื่อว่า พระนครศรีอยุธยาน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ จึงนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่นโบราณสถาน ก็เกี่ยวเนื่องกับงานศิลปะหัตถถกรรมไม่ว่าจะเป็นปูนปั้น วัดวาอาราม ที่เกี่ยวเนื่องไปด้วยกัน

เมื่อกิจกรรมนี้จบลงจะดูว่ากิจกรรมครั้งนี้ได้ผลอย่างไร ใช่โฟกัสกรุ๊ปตามที่ต้องการหรือไม่ โดยการทำงานจะต้องมีการวิเคราะห์วิจัยว่าผลเป็นอย่างไร เกิดการตอบรับกลุ่มเป้าหมายอย่างไร

จากนั้นปีหน้าก็อาจจะไปจัดที่ต่างจังหวัดอื่นๆ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการคิดว่าจะมีการจัดที่ไหนอย่างไร อาจจะร่วมกับททท. เพื่อดึงความสนใจทั้งชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวคนไทย จริงๆ งานคราฟเป็นงานที่ครอบครัวทำร่วมกันได้ ก็อยากจะโฟกัสที่ครอบครัวด้วย อย่างน้อยทำให้พ่อแม่ ลูก คนรุ่นใหม่ ได้มีกิจกรรมร่วมกันเป็นการส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมคนไทยด้วย

 “.....การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อตอกย้ำให้รู้ว่าศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT มีความเชื่อมั่นว่างานศิลปหัตถกรรมสามารถต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ได้และสามารถจะประยุกต์ใช้กับชีวิตในปัจจุบันได้เสมอ งานศิลปหัตถกรรมของไทยไม่ใช่เรื่องล้าสมัยแต่สามารถประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้ตลอดเวลา  ตรงนี้เป็นความเชื่อของเราและเราจะทำสิ่งเหล่านั้น” ผอ.อัมพวัน กล่าวทิ้งท้าย

  



                                         __________________________________

Craft Week @ Ayutthaya สัมผัสมรดกแห่งภูมิปัญญา บนพื้นที่มรดกโลก 

Experience Thai Craft Heritage on World Heritage Sites 

กิจกรรม SACICT เพลิน Craft คราฟต์วันหยุดอยุธยา 2560 จัดขึ้น 3 สัปดาห์ต่อเนื่อง 

โดยเริ่มวันที่ 2 – 3  กย. 2560 ณ วัดมหาธาตุ โดยมีการจัดเวิร์คช็อป “ตอกหนังใหญ่” ,” เครื่องปั้น-เบญจรงค์”, “จักสานใบตาล-ใบลาน”

วันที่ 9-10 กันยายน เวลา 10.00-17.00 น. ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยจัด Workshop  3 รอบต่อวัน ได้แก่ “ปั้นปูนสด” โดย ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2559 นายสมชาย บุญประเสริฐ “หุ่นกระบอก” โดยนายพิรุณ ศรีเอี่ยมสะอาด ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 และ”ปั้นตุ๊กตาชาววัง” โดยครูจริยา สงวนชาติ หัวหน้าแผนกปั้นตุ๊กตาชาววัง ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ

วันที่ 16-17 กันยายน เวลา 10.00 – 17.00 น. ณ วัดไชยรัตนาราม Workshop 3 รอบต่อวัน ได้แก่ “ลายรดน้ำ” โดย ผศ.สิพ้ง สุพวงแก้ว ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 “แกะสลักช้างจิ๋ว” โดย นายสุวรรณ สามสี ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 “ของเล่นโบราณ” โดยนายทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560