สค. ส่งเสริมการฝึกอาชีพสตรีและครอบครัว มุ่งให้มีรายได้จากการประกอบอาชีพในชุมชน พื้นที่สกลนครและนครพนม

ในวันที่ 21 ตุลาคม 2560 นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานกลุ่มอาชีพต้นแบบในพื้นที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม




นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มุ่งส่งเสริมและพัฒนาสตรีและครอบครัว ให้สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน ครอบครัวมีความมั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นพื้นฐานในการพัฒนาสังคมด้านอื่น ๆ 

โดยมีกลไกระดับพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน คือ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 ศูนย์ 8 เขตรับผิดชอบ โดยศูนย์ฯ ทั้ง 8 แห่ง เหล่านี้ มีภารกิจในการฝึกอบรมอาชีพให้แก่เด็ก สตรี และครอบครัว ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาผลประโยชน์ไปในทางที่ไม่เหมาะสม และเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกไปค้าประเวณี และค้ามนุษย์ อันเนื่องมาจากความยากจน การขาดโอกาสทางการศึกษา 

หรือประสบปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ทั้งการฝึกอบรมภายในศูนย์ฯ และภายนอกศูนย์ฯ ในลักษณะการรวมกลุ่มประกอบอาชีพต่างๆ โดยศูนย์ฯ ได้เข้าไปจัดอบรมและให้ความรู้ด้านอาชีพในชุมชน จนเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลุ่มอาชีพต้นแบบเพื่อเป็นแบบอย่างให้กลุ่มอาชีพต่างๆ ได้

   

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ มุ่งมาเยี่ยมกลุ่มอาชีพทอผ้าย้อมคราม กลุ่มแปรรูปปลา ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และเยี่ยมชมการส่งเสริมการดำเนินงานกลุ่มอาชีพวัยเกษียณ พื้นที่จังหวัดนครพนม ซึ่งกลุ่มอาชีพดังกล่าว ถือเป็นเป็นกลุ่มอาชีพต้นแบบ ที่มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งสู่ความยั่งยืน

"จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่มีความยากลำบาก กลุ่มอาชีพในชุมชน จึงมีความหลากหลายของช่วงวัย ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนที่มุ่งหารายได้เสริมให้ครอบครัว และกลุ่มผู้สูงอายุ อันเกิดจากภาวะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีความมุ่งหวังต่อสุขภาพร่างกายที่เข้มแข็ง สามารถดูแลตนเองได้ เป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่า หลีกเลี่ยงการเป็นภาระต่อลูกหลาน และมุ่งเข้าสู่สังคมวัยเดียวกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันก่อให้เกิดรายได้ และสมองได้คิดพัฒนา 

อึกทั้งสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลานรุ่นหลังได้อีกด้วย ดังนั้น การที่ศูนย์ฯ ลงพื้นที่ฝึกอาชีพในชุมชน นอกจากจะได้ฝึกอบรมให้กลุ่มอาชีพมีอาชีพ มีรายได้แล้ว ยังถือเป็นโอกาสที่ศูนย์ฯ จะได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาความรู้ได้อีกด้วย" นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย