“รมว.อุตสาหกรรม” นำคณะผู้แทนไทยร่วมเปิดประชุมสมัยสามัญ UNIDO ครั้งที่ 17

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนำคณะผู้แทนไทย ร่วมพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญ UNIDO ครั้งที่ 17  พร้อมเครือข่ายสมาชิก 168 ประเทศ และเปิดเวทีหารือนักธุรกิจออสเตรียลงทุน EEC

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมนายทรงศัก  สายเชื้อ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา และ นายศิริรุจ  จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และคณะผู้แทนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) หรือ อีอีซี เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสมัยสามัญ (General conference: GC) ครั้งที่ 17 ขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization – UNIDO) พร้อมผู้แทนจากประเทศสมาชิก 168 ประเทศ ภายใต้หัวข้อ “การเป็นหุ้นส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน (Partnering for Impact – achieving the SDGs)” ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย

การประชุมสมัยสามัญของยูนิโด (UNIDO) เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกโดยเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย โดยการประชุมครั้งที่ 17 อยู่ภายใต้หัวข้อ “การเป็นหุ้นส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน (Partnering for Impact – achieving the SDGs)” ร่วมกับผู้แทนประเทศสมาชิก UNIDO เช่น ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิส ประธานาธิบดีสาธารณรัฐมอลตา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐโครเอเชีย ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2560 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรียโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงภารกิจของ UNIDO กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

นอกจากนั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เป็นเจ้าภาพการประชุมหารือช่วงอาหารกลางวันแก่ ดร. คริสตอฟ มัทซ์เนทเทอร์ รองประธานหอการค้าประเทศออสเตรีย พร้อมด้วยนักธุรกิจออสเตรียที่สนใจการลงทุนในประเทศไทยจำนวน 25 ราย เช่น Greiner Bio-One Fronius International บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับนานาชาติ รวมถึงนักลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลกสัญชาติออสเตรียในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเชื่อมโลหะ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสีโลหะ ผู้ให้บริการปรึกษาธุรกิจ พร้อมสื่อมวลชนออสเตรีย

โดย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมหารือช่วงอาหารกลางวัน เกี่ยวกับความร่วมมือของประเทศไทยและ UNIDO และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในไทยซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนโยบายประเทศไทย 4.0 กับนักลงทุนซึ่งจะเป็นแผนที่นำทาง (Roadmap) ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยโดยองค์รวม โดยมีกลยุทธ์ 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง โครงสร้างด้านดิจิตอล 2. เทคโนโลยีแกนหลักใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3. การพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนโดยผ่านกลไกประชารัฐ

นายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี ประธานคณะทำงานโครงการลงทุน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ และเปิดเวทีให้นักลงทุนได้ทำความเข้าใจกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ของประเทศไทย โดยมีบริษัทออสเตรียให้ความสนใจ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อการลงทุนในประเทศไทยพอสมควร จากการพิจารณาสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจในการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พบหารือทวิภาคีกับ นางมาเรีย วาสสิลากูว์ รองนายกเทศมนตรี และรองผู้ว่าการกรุงเวียนนา เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับนโยบายการจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยรองนายกเทศมนตรี กรุงเวียนนา ได้นำเสนอตัวอย่างการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะในกรุงเวียนนาซึ่งมุ่งเน้นให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เท่านั้น แต่ต้องเป็นการพัฒนาในองค์รวม โดยการแลกเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการพัฒนานโยบายเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยต่อไป

   

   

ในช่วงเย็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมการประชุม The 6th UNIDO Forum on Inclusive and Sustainable Industrial Development (6th ISID Forum) กิจกรรมคู่ขนานของการประชุม สมัยสามัญครั้งที่ 17 ของ UNIDO เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสมาชิก และหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงผลการดำเนินงานของความร่วมมือในรูปแบบ พหุภาคี หรือ ความเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ถึงนโยบายและกลยุทธ์การขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยเน้นย้ำถึงการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน คำนึงถึงทุกภาคส่วน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนร่วมกัน