SACICT ชี้ทิศทางตลาดงานศิลปหัตถกรรมไทยปี 2561 แนวโน้มโตต่อเนื่อง 

 นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT กล่าวถึง ทิศทางตลาดงานหัตถกรรมของไทยในปี 2561 ว่า จากตัวเลขการส่งออกงานหัตถกรรมของไทยในช่วงเดือนมกราคม ถึง ตุลาคม ปี 2559 และปี 2560  มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปี 2559 ตัวเลขส่งออกงานหัตถกรรมเท่ากับ 49,486.98 ล้านบาท และในปี 2560 ยอดส่งออกงานหัตถกรรมมีมูลค่า 48,478.11 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมอยู่ในหมวดของใช้ที่ได้รับผลกระทบจากการลดหรือประหยัดรายจ่าย จึงอาจจะทำให้ยอดการจำหน่ายลดลงในช่วงที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม SACICT ยังมีความเชื่อมั่นในการเติบโตของตลาดงานศิลปหัตถกรรมไทยในภาพรวม เพราะจากการวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า งานศิลปหัตถกรรม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านหรืองานหัตถกรรมชุมชน ที่ใช้ทักษะฝีมือจากช่างพื้นบ้าน ผลิตงานหัตถกรรมที่เป็นของใช้สอยทั่วไป เช่น เครื่องจักสาน ผ้าทอ เครื่องปั้นดินเผา และงานศิลปหัตถกรรมที่ใช้ทักษะฝีมือชั้นสูง เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า ที่ผู้ซื้อนิยมซื้อเพื่อสะสม หรือ เป็นการซื้อเพื่อการลงทุนที่สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต งานศิลปหัตถกรรมทั้ง 2 ประเภทนี้ยังคงได้รับความนิยม แต่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านรูปแบบ ประโยชน์การใช้สอย วัตถุดิบ และการสร้างคุณค่าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของช่างผู้ผลิต



บทบาทหน้าที่ของ SACICT เราเน้นการพัฒนา 3 ด้านหลักของงานศิลปหัตถกรรมได้แก่

1.การพัฒนาคน หมายถึงการพัฒนาช่างฝีมือ ครูช่าง ทายาทช่าง นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้นแล้ว การสร้างมุมมองใหม่ให้กับช่างผู้ผลิตให้สามารถผลิตงานที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงใจ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยปรับทัศนคติ และมุมมองที่ช่างผู้ผลิตมีต่องานศิลปหัตถกรรมในมุมมองที่ทันสมัยมากขึ้น

2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักออกแบบและผู้ผลิต เช่นการผสมผสานวัตถุดิบหลากหลายประเภทเพื่อพัฒนางานหัตถกรรมในรูปแบบใหม่ และการพัฒนารูปลักษณ์ ดีไซน์ โดยการนำงานที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอดในด้านการออกแบบด้วยเทคนิคใหม่ๆ ให้ทันสมัย แปลกใหม่ สวยงาม

3.การพัฒนาตลาด ทั้งตลาดในประเทศ ตลาดต่างประเทศ ตลาดออนไลน์ และการสร้างพันธมิตรด้านการค้าใหม่ๆ ซึ่ง SACICT ให้ความสำคัญกับทุกช่องทางการตลาด ที่สามารถสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีมุมมองใหม่ๆต่องานศิลปหัตถกรรม จากงานหัตถกรรมทั่วไป ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย มีการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยและไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

สิ่งสำคัญในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต คือการสร้างการมีส่วนร่วมในงานศิลปหัตถกรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต  ให้ผู้บริโภคมองเห็นว่า งานศิลปหัตถกรรมเป็นเรื่องสนุก มีเสน่ห์ และเป็นชิ้นงานที่มีคุณค่าในตัวเอง การที่ผู้ซื้อและผู้ผลิตได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน จะทำให้งานศิลปหัตถกรรมเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นแค่สิ่งของ วัตถุ แต่เป็นชิ้นงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าทางใจทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ผลิต


นางอัมพวัน พิชาลัย กล่าวเสริมว่า SACICT มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อทำให้งานศิลปหัตถกรรม มีความร่วมสมัย สามารถต่อยอดมูลค่าและเกิดกระแสความนิยมใช้ ทั้งจากผู้ซื้อชาวไทยและชาวต่างชาติ  ทั้งนี้ผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวไปพร้อมๆกัน ทั้งการพัฒนารูปแบบ มาตรฐาน การสร้างแบรนด์ของตนเองให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งแสวงหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์

ผู้ที่ชื่นชอบงานหัตถศิลป์ไทย สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ของ SACICT ผ่านทางช่องทาง www.sacict.or.th , facebook.com/sacict หรือสอบถามข้อมูลผ่านทางสายด่วน 1289 ได้ทุกวัน