ทริปส่งท้ายปี แบบ B Tripnews by ko kok

ทริปนี้ เป็นการเดินทางแบบ plan no plan ประมาณว่าเหมือนๆ จะไม่มีแพลน แต่ก็มี เหมือนๆจะมีแพลนแต่ก็ไม่มี เป็นการท่องเที่ยวแบบไม่เร่งรีบ ไม่ถูกเร่งเร้าด้วยเวลา เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่หากท่านใดอยากเดินทางในรูปแบบนี้ก็สามารถทำได้ไม่ยากเย็น  ค่าที่พักถูก ๆ ก็สามารถสร้างความอิ่มเอมใจได้ โดยรวมงบไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท ตลอด 6 วัน

เริ่มกันเลยดีกว่า เรากับเพื่อนร่วมทาง เริ่มล้อหมุนจากกรุงเทพฯ ในช่วงเย็นของปลายปีที่ผ่านมา เพื่อมุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ แต่เนื่องเพราะอากาศที่แปรปรวนเหลือเกิน หนาวอยู่ดีๆ ฝนฟ้าก็กระหน่ำ ทำเอาการเดินทางเป็นไปได้อย่างล่าช้ามากๆ จนต้องมาจอดนอนเอาที่ ลำพูน นอกจากจะไม่ไหวจะเคลียร์แล้ว ยังถือโอกาสไปเยี่ยมเยียนรุ่นพี่ ที่พำนักอยู่ลำพูนได้อีกด้วย

 วัดจามเทวี



ในช่วงสายๆ ของวันรุ่งขึ้น สถานที่แรกคือการได้มีโอกาสเข้าไปสักการะ เจ้าแม่จามเทวี ณ วัดจามเทวี หรือที่ ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกู่กุด ตั้งอยู่บนถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ตามประวัติบอกว่า เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญตั้งแต่สมัยล้านนาไทย ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีตามหลักฐานที่ได้พบศิลาจารึกเชื่อว่า พระราชโอรส ของพระนางจามเทวีคือ พระเจดีย์มหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อถวายพระเพลิง แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทองทองเรียกชื่อว่า สุวรรณจังโกฏิ 

พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ หรือพระเจดีย์จามเทวี เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่ในซุ้มทั้งสี่ด้าน ด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์  ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ แห่งนครหริภุญชัย ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบแน่ชัดยอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชาวบ้านจึงเรียกว่ากู่กุดพระเจดีย์ มีชื่อเป็น ทางการว่า พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ

นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์แปดเหลี่ยม ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีแผนผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป สามารถแบ่งได้เป็นสามส่วน คือ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานแปดเหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลารองรับองค์เรือนธาตุ ส่วนเรือนธาตุมีผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมทรงสูง  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ซุ้มมีลักษณะเป็นวงโค้งสามวง โบราณปูชนียสถานภายในวัดจามเทวีเป็นที่เคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย 



ด้านหน้าโบสถ์ มีเรือนไทยขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานขององค์เจ้าแม่จามเทวีจำลอง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสักการะอีกด้วย

 

วัดจามเทวีตั้งอยู่บนถนนสายลำพูน-สันป่าตอง (ถนนจามเทวี) ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตก 1.5 กิโลเมตร

“มาลำพูนต้องแวะสักการะเจ้าแม่จามเทวีค่ะ” พี่สุ - จารุวรินทร์ ธนาชนะสิทธิ์ ผอ.ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ จังหวัดลำพูน เอ่ยขึ้น

หลังจากสักการะเจ้าแม่จามเทวี ก็ได้เวลาทานอาหารกลางวัน ที่นี่มีครัว วันดี เหมือนกับที่กรุงเทพฯ แฮะ เปิดมานานแล้วเหมือนกัน 196/2 หมู่ที่ 6 ถนน ลำพูน-สันป่าตอง Phone: 053 534322 หรือโทรตรงที่เบอร์มือถือเจ้ไพ 081 8836215 ได้เลย ตั้งอยู่ห่างจากวัดมหาวันเพียง 3 กม. ถ้ามาจาก วัดเจ้าแม่จามเทวีก็ไม่ถึง 3 กม. ไปตามถนนสายต้นยาง เชียงใหม่ – ลำพูน

 

ผู้บริหารคือ คุณศรีจันทร์ ญาณรังษี (เจ้ไพ) ร้านอาหารพื้นเมืองในจังหวัด ที่ว่าชื่อวันดี ไม่ใช่ชื่อเจ้าของร้าน แต่มาจากความเชื่อของทางเหนือที่ว่า วันไหนๆ ก็เป็นวันดี ไม่มีวันเสีย เริ่มเปิดบริการมาตั้งแต่ 2537 โดยเจ้ไพ เป็นชาวลำพูนโดยกำเนิด อาหารจึงเป็นพื้นเมืองแท้ๆ เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 9.00-21.00 น.

มุ่งหน้าขึ้น แม่ฮ่องสอน



การขึ้นสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนของเรา เลือกเส้นทางแม่สะเรียง แม้ระยะทางจะไกลกว่า ทางปาย แต่ก็ไม่คดเคี้ยวเท่ากับเส้นปาย อำเภอไชยปราการ และที่สำคัญคือ ช่วงเวลาที่เราเดินทางใกล้วันสิ้นปีเข้าไปทุกขณะ หลายคนแพลนขึ้นเหนือ เรียกว่าติดกันเป็นตังเม เราจึงขอเลี่ยงมาใช้เส้นทางนี้

ขับโค้งไปโค้งมาช่วงราวสองทุ่ม ก็ผ่านซุ้มประตู ยินดีต้อนรับสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสัญญาณว่า ถึงละนะ...

“แม่ฮ่องสอน”

แม่ฮ่องสอน ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสามหมอก” เนื่องจากเป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศเย็นและมีหมอกปกคลุมตลอดทั้ง 3 ฤดูของปีด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ความงามของป่า ภูเขา ดอกไม้ เมฆหมอก ต่างๆ ส่งผลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

เราจองห้องพัก เชียงดอยเฮ้าส์ ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ ผ่าน Traveloka.com ตุ้มๆต่อมๆ เหมือนกันว่า จะเป็นสภาพไหน เพราะเห็นแต่รูปภาพที่พอโอเค รวมถึงสถานที่อื่นๆก็เต็มเกือบทุกแห่ง และถ้าไม่เต็มก็สู้กับราคาที่สูงขึ้นในช่วงเทศกาลไม่ไหว มีเหลือเพียงห้องนี้ห้องเดียว ราคา 580 บาท ถูกมากกก คงไม่มีห้องพักที่ไหนในคืนวันที่ 30 ธค. ถึง 1 มค. จะราคานี้แล้วล่ะ หลังจากจองพร้อมโอนเงิน ทาง Traveloka.com จะส่งข้อความยืนยันมายังเบอร์มือถือที่เราจอง แค่นี้ก็เรียบร้อย เริ่ด

  

 

เชียงดอยเฮ้าส์ ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนคนเดินที่เต็มไปด้วยเกสท์เฮ้าส์อีกหลายเจ้าล้อมรอบบึงขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าวัดจองคำและวัดจองกลาง ห้องพักแม้จะเก่าตามสภาพ แต่มีขนาดกว้าง 1 เตียงใหญ่ 1 เตียงเล็ก ห้องน้ำแยก มีระเบียง ให้เปิดรับอากาศภายนอกเล็กๆ ก็โอเค แอร์เย็น มีเครื่องทำน้ำอุ่น มีกระติกน้ำร้อน ทีวี ตู้เย็น ครบ

ถนนคนเดินเส้นเล็กๆ กลางเมืองกลายเป็นไฮไลท์ ที่นักท่องเที่ยวจากแดนไกลจะต้องแวะเวียนกันเดินเข้ามาเยี่ยมชม สินค้าที่ระลึก สินค้าจากชนเผ่า ร้านอาหารที่ตั้งโต๊ะแบบญี่ปุ่นนั่งทานกันกับพื้น ก็มีให้เห็นตลอดริมบึง


 

โดยเฉพาะ หมาล่า อาหารปิ้งย่าง ที่ทาด้วยพริกสไตล์ยูนนาน มีตั้งแต่เผ็ดน้อย เผ็ดมาก ไปจนโค – ตะ - ระ เผ็ด เรียกว่าเดินลงมาจากที่พักก็เจอ หมาล่า เป็นอันดับแรก เพิ่งเคยได้ลิ้มลองกันที่นี่ รสชาติอร่อยมาก ที่สำคัญ ราคาไม้ละ 5 บาท หยิบใส่ตะกร้า เขียนชื่อที่ถุงพลาสติกสำหรับใส่ แล้ววางไว้ หลังจากนั้นจะไปเดินเล่นก่อนแล้วค่อยกลับมารับไปก็ได้ หรือจะยืนชิมไปรอไปก็ไม่ว่ากัน  แต่ขอบอกว่า เผ็ดมากกกกก


เจ้าของร้าน สองคนผัวเมีย เดิมเป็นชาวเชียงใหม่ ทำงานประจำ แต่เมื่อมีลูกจึงตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดและเริ่มต้นทำอาชีพ ขายปิ้งย่าง หมาล่า เพราะนอกจากจะทำให้เขาสองคนได้กลับมาอยู่ใกล้กับพ่อแม่แล้ว ยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เรียกว่า ตั้งกะยืนรอไม่เห็นมีใครซื้อต่ำกว่าสิบไม้

หลังจากเดินสำรวจ ร้านค้าต่างๆ ละเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวัดจองคำ และวัดจองกลาง แว่วมาว่า ค่ำคืนส่งท้ายปีจะมีการสวดมนต์ข้ามปีกันด้วย รวมถึงวัดพระธาตุดอยกองมู ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขา มองเห็นไกลๆ จากที่พัก

วัดพระธาตุดอยกองมู

รุ่งเช้าวันที่ 31 ธันวาคม วัดพระธาตุดอยกองมู คลาคล่ำไปด้วยพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศที่เข้ามากราบไหว้สักการะ เพื่อขอพร เราขับรถจากที่พักไม่ถึงสิบนาที ก็ถึงวัดพระธาตุดอยกองมู เป็นทางขึ้นสู่ยอดดอย ที่นี่มีลานจอดรถมากพอสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว บริเวณลานจอดรถมีสินค้า ประเภทเสื้อผ้า หมวก ของที่ระลึก ไว้รอท่าอยู่แล้ว

 

หลังจอดรถ เราก็เดินเข้าสู่บริเวณ วัดพระธาตุดอยกองมู



วัดพระธาตุดอยกองมู เดิมชื่อ วัดปลายดอน ตั้งอยู่ที่ดอยกองมู ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือเป็นวัดและพระธาตุประจำจังหวัด พระธาตุดอยกองมู เป็นปูชนียสถาน ประกอบด้วย พระธาตุเจดีย์ ศิลปะไทใหญ่-พม่า จำนวน 2 องค์

ตามประวัติบอกไว้ว่า พ.ศ. 2403 คหบดีชื่อ จองต่องสู่ ได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งบรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ซึ่งนำมาจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า พ.ศ. 2417 พญาสิงหนาทราชา เจ้าผู้ครองแม่ฮ่องสอนคนแรก ได้สร้างพระธาตุเจดีย์องค์เล็ก บรรจุพระธาตุของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ซึ่งนำจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า คำว่า "กองมู" เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่า "พระเจดีย์"

แวะซื้อ ดอกไม้ธูปเทียนกันก่อนที่จะเข้าไปสักการะ ที่นี่ดอกไม้จะแปลกจากเมืองอื่น จำหน่ายเป็นชุด ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน วางบนไม้ซี่ขนาดเล็ก ๆ พร้อม ไม้กลมๆ สั้นๆอีก  1 ท่อน สอบถามได้ความว่า ไม้เล็กๆ ที่วางรองอยู่เปรียบได้ดั่งสะพานให้ทอดสู่องค์พระ ส่วนไม้กลมๆ เปรียบได้ดั่งไม้ค้ำ เพื่อค้ำจุนชีวิตผู้ที่มาบูชา  รอบองค์พระธาตุประดิษฐานด้วยพระประจำวันเกิด ใครเกิดวันใดก็ไปเริ่มเดินวนขวา 3 รอบเสร็จแล้วจึงนำมาจุดธูป เทียนบูชาที่พระประจำวันของตนเอง

 

 

ว่ากันว่า ถ้ามาแล้วต้องเคาะระฆังให้ดังสนั่นลั่นเมือง จะได้โชคดีมีชื่อเสียงเลื่องลือ ระฆังอยู่ใกล้ๆ กับจุดชมวิว ที่มีสิงห์สองตัวสีขาวขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านเชิงบันได หันหน้าสู่ตัวเมืองด้านล่าง


 

ส่วนถัดขึ้นไป บริเวณจุดชมวิว เป็นที่ตั้งของโบสถ์หลังเก่า ที่ยังความขลังให้เห็น

 





หมู่บ้านรักไทย

ในตอนแรกที่จะพาเพื่อนร่วมทางขับรถไปยังหมู่บ้านรักไทย ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน ความเข้าใจกลายเป็นว่า จะให้มาเที่ยวหมู่บ้านทรงไทยทำไม 555 ปล่อยให้งงไปก่อน เมื่อผ่านโค้ง คดเคี้ยว เล็กและลาดชันขึ้นมาเกือบสี่สิบกิโล บรรยากาศหมู่บ้านแห่งนี้ก็ถูกเปิดเผย

   

สำหรับเราเคยมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน ยอมรับว่าเปลี่ยนไปมาก เจริญเติบโต มีร้านรวง ที่พัก เกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะโดยรอบ บ้านลี ไวน์ รักไทยรีสอร์ท จนจำแทบไม่ได้ สมัยก่อน ลีไวน์ รักไทยรีสอร์ท ยังเป็นเพียงทางผ่านเพื่อไปต่อยังแหล่งค้าขายสุดปลายทางหมู่บ้านรักไทย ซึ่งขับตรงขึ้นไปอีกสักห้านาที มีอาหารขึ้นชื่ออย่างก๋วยเตี๋ยวยูนนานอันเลื่องชื่อ และเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาชนิดต่างๆ

ณ วันนี้ เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลายคนคงจะเข้าใจว่าได้มาถึงหมู่บ้านรักไทยแล้ว ต่างหยุดรถเดินเล่นถ่ายภาพและพักกันอยู่บริเวณริมทะเลสาปนี้ ก่อนจะจากไป

  



ตามประวัติเล่าว่า  หมู่บ้านรักไทยเป็นหมู่บ้านชาวจีนยูนนานที่อพยพมาจากจีนตอนใต้ มารวมกันอยู่ที่ตำบลหมอกจำแป๋   ติดชายแดนไทย - พม่า อยู่บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลเกือบสองพันเมตร ด้วยสภาพความห่างไกลและสภาพอากาศ จึงยังคงวัฒนธรรมแบบจีน ทั้งสิ่งปลูกสร้างบ้านพักอาศัย และสินค้าที่นำมาจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเป็นชา เช่นชาอู่หลง

แว่วมาว่า... ใครที่จะมาเที่ยวหมู่บ้านรักไทย ควรจะมาในช่วงเช้า จะได้เห็นกระไอหมอกเหนือทะเลสาบที่สวยงาม แต่เพราะเรามีนัดทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ที่สะพานซูตองเป้ เลยไม่ได้ขึ้นมาเก็บภาพช่วงนั้น



 

 

 

สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงที่นี่คือ ทานอาหารจีนยูนนาน ขาหมู หมั่นโถว ขาหมูท่อนโตๆ กับ หมั่นโถว 5 ลูก เคียงข้างกัน ราคา 300 กว่าบาท ที่ร้านอาหาร ต้าเหล่าซือรักไทย มีทั้งร้านอาหารและที่พักไว้บริการ

มื้อเช้ามื้อนี้ จึงไม่พลาดสำหรับเรา ขาหมู หมั่นโถว พร้อมเสริฟชาร้อนๆฟรีอีกหนึ่งเหยือก ตามมาด้วยยำชา และ....

 

 

ปัจจุบันบริเวณ ลีไวน์รักไทยรีสอร์ท มีรีสอร์ทเกิดใหม่ ชื่อ ชาสารักไทย ปลูกลดหลั่นบนเชิงเขา ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการเพิ่มเติมขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี เป็นรีสอร์ทแบบบ้านดินยูนนานเช่นเดียวกับบ้านลีไวน์รักไทย แตกต่างที่ลี ไวน์รักไทยก่อสร้างอยู่กลางไร่ชา ที่หลายคนต่างไม่พลาดที่จะมาชื่นชม

 

เมื่อเดินดูโดยรอบ จะเห็น รีสอร์ทขนาดเล็กเรียงรายล้อมทะเลสาบจำนวนมากพอสมควร ในวันปีใหม่อย่างนี้ เต็มแน่นอน แทบไม่ต้องไปถามกันเลย แต่อย่างไรก็ตาม หากจะเลือกพักที่กลางเมืองแม่ฮ่องสอน แล้วขับรถมาเที่ยวก็ระยะทางเพียงแค่ ราว 44 กิโลเมตรเท่านั้น พักด้านล่างก็โอเค  

 

ชาสารักไทยรีสอร์ท 

  



อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา น้ำตกผาเสื่อ

เริ่มบ่ายคล้อยเต็มที.... เราเริ่มขับรถกลับลงมายัง อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา น้ำตกผาเสื่อ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ สามแสนกว่าไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวเทือกเขาสลับเป็นลูกคลื่นต่อเนื่องไปจนจรดชายแดนไทย-พม่าทางด้านทิศเหนือ ด้วยภูมิประเทศติดกับแนวป่าในพม่า ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้พืชพันธ์หลากชนิด ถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ

ถ้ำปลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมานาน เป็นถ้ำใต้เชิงเขาซึ่งมีลำธารไหลลอดผ่านใต้ถ้ำตลอดปี และเป็นที่อยู่อาศัยของปลาพลวงหรือปลามุงจำนวนมาก

 

วันนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมปลาในถ้ำปลาได้โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่เก็บค่าบริการ เรากับเพื่อนจึงเดินสบายตัวกันเข้าไปเยี่ยมชม แต่ถ้าพักกางเต็นท์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจะแนะนำให้สามารถกางเต๊นท์ได้ในบริเวณที่กำหนดโซนเอาไว้ หากต้องการบ้านพักต้องจองผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่ www.dnp.go.th หรือโทรสอบถาม: อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ โทรศัพท์ 053-692-055, 053-619-036 

เรียกว่าตั้งแต่แรกเข้า ข้ามสะพานแขวนสู่บริเวณถ้ำปลาที่มีลำธารทอดยาวแลเห็นปลาที่บ่งบอกได้ถึงจำนวนปลาที่มีอยู่มากมาย และเมื่อถึงบริเวณหน้าถ้ำ ยิ่งพบปลาพลวงจำนวนมาก บริเวณถ้ำ มีรูปปั้นฤาษีประดิษฐานอยู่ ฐานรูปปั้นฤาษี จะพบโพลงขนาดเล็กที่เผยให้เห็นปลาพลวงจำนวนมากเบียดเสียดยัดเยียดกัน

“ซื้ออาหารปลามั๊ยคะ ถุงละยี่สิบบาท” เราได้ยินเสียงแม่ค้าตะโกนเรียก

“ถ้าเป็นอาหารเม็ดเขาจะไม่ค่อยกิน แต่จะกินพวกแมลงค่ะ” แม่ค้าสาธยายให้ฟังเมื่อเห็นเราทำหน้าประหลาดใจกับอาหารปลาในมือ

อืมมม ...และก็จริงๆ เพราะเราแอบเห็นอาหารเม็ดลอยฟ่องอยู่เต็มผิวน้ำ เอ... หรือว่า วันนี้จะอิ่มเพราะนักท่องเที่ยวเข้ามามาก แต่เมื่อเราหย่อนแมลงที่ซื้อมา ดูเหมือนจะถูกปากจริงๆ เวียนว่ายกันมาตะครุบแบบน้ำกระจายกันเลยทีเดียว

  



 







 

สะพานซูตองเป้ สะพานแห่งศรัทธา

กลับออกมาจากถ้ำปลา ไปไหนกันต่อดีล่ะ ห้าโมงเย็นเข้าไปแล้ว

“ไปสะพานซูตองเป้กันมั๊ย” เราหันไปถามเพื่อนร่วมทาง

....และเพราะวันนี้ เป็นวันสิ้นปีน่าจะมีการจัดงาน “เราแอบคิด”

ไม่นานนัก เราก็ตัดสินใจเลี้ยวขวับ เข้าสู่สะพานซูตองเป้ บ้านกุงไม้สัก อ.เมือง เมื่อเข้าไปก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง  



“ซูตองเป้ สะพานแห่งการอธิษฐานสำเร็จ” ป้ายไม้เล็กๆ เขียนด้วยอักษรสีทอง

  



จากข้อมูลที่เขียนไว้บนไม้อีกแผ่นหนึ่ง บอกว่า สะพานซูตองเป้ บ้านกุงไม้สัก เป็นสะพานไม้ปูด้วยไม้ไผ่ ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 500 เมตร เชื่อมระหว่างสวนธรรมภูสมะข้ามแม่น้ำแม่สะงาข้ามทุ่งนาถึงหมู่บ้านกุงไม้สัก โดยจุดประสงค์เพื่อให้พระภิกษุสามเณรเดินบิณฑบาต และเพื่อประชาชนที่มีพื้นที่การเกษตรริมฝั่งน้ำแม่สะงาได้สะดวกในการสัญจรไปมา

สร้างโดยการนำของพระจิตตพัฒน์ อคฺคปัญโญ ประธานสงฆ์สวนธรรมภูสมะ พร้อมด้วยคณะศรัทธาสวนธรรมภูสมะและคณะศรัทธาชาวบ้านกุงไม้สัก โดยมีพ่อเฒ่าแม่แก่ และชาวบ้าน ....เจ้าของที่นาถวายที่นาเพื่อการสร้างสะพาน ใช้เวลาสร้าง 2 เดือน 12 วัน ใช้งบ 808 463 บาท เปิดใช้เป็นทางการในวันที่ 5 สิงหาคม 2554

แต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในช่วงการจัดงานออกพรรษา ทางสวนธรรมภูสมะได้จัดตักบาตรเทโว โดยมีหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก แต่ขณะเดินข้ามสะพานซูตองเป้ไม้ไผ่ได้พังถล่มลงแม่น้ำสะงาบริเวณหัวสะพาน มีผู้ได้รับบาดเจ็บนับสิบคน ซึ่งสาเหตุภายหลังพบว่า เนื่องจากก่อนหน้านั้นสะพานบริเวณดังกล่าวได้ถูกน้ำซัดจนพังถล่มและถูกซ่อมแซมมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อมีผู้มาร่วมงานจำนวนมากจึงรับน้ำหนักไม่ไหว 

ปัจจุบัน สะพานไม้ไผ่เดิมยังคงได้รับการปรับปรุงให้คงสภาพเดิมแต่ไม่ได้เปิดให้ใช้งาน เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆร่วมกับประชาชนได้ร่วมกันสร้างสะพานใหม่ทดแทนตั้งอยู่เคียงข้างกับของเดิม โดยใช้โครงสร้างเป็นฐานเหล็กก่อนจะปูทับด้วยพื้นไม้ขัดแตะและพื้นไม้ไผ่สานเพื่อให้กลมกลืนกับของเดิม สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย



แต่ก่อนจะถึงสะพานไม้ไผ่ที่ทอดยาวงดงามจนกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ห้ามพลาดนั้น จะพบพุทธศาสนสถาน สวนธรรมภูสมะ ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา งดงามด้วยศิลปะร่วมสมัย ไทยใหญ่และพม่า ทั้งลายฉลุสังกะสี และทรงของหลังคา บ่งบอกถึงสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่เราพบเห็นได้ทางตอนเหนือ  ซึ่งได้รับบริจาคที่ดิน 6 ไร่จากคุณนิรชา บุญขันธ์ เจ้าของร้านจองคำพาณิชย์ เมื่อปี 2551

 

ส่วนองค์พระประธาน คือ “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” พระประธานขนาดใหญ่ ที่งดงามด้วยศิลปะพม่าสีทองอร่าม ตั้งอยู่ในวิหารไม้ ด้านข้างประดิษฐานพระพุทธรูปให้สักการะบูชา รวมไปถึงให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้สักการะ พร้อมกับเขียนชื่อใส่ป้ายแขวนไว้ นอกจากนี้ยังมีถ้อยคำธรรมะ คติสอนใจ คอยเตือนสติพุทธศาสนิกชนกระจายอยู่ทั่วไป






การแสดงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชนเผ่า 


 

 

วันนี้เรากับเพื่อนร่วมตัดสินใจทำบุญแต่ไม่ได้อยู่สวดมนต์ข้ามปีเนื่องจากที่พักอยู่ในตัวเมือง ไม่สะดวกต่อการเดินทางกลับ แต่ตั้งใจไว้แล้วว่า วันพรุ่งนี้เช้ามืด วันที่ 1 มกราคม วันปีใหม่จะกลับมาบิณฑบาตร ณ บริเวณสะพานซูตองเป้

.................................................................................................

....... แสงแรกของวันขึ้นปีใหม่ยังไม่ส่องสว่าง เรากับเพื่อนก็มาถึงสะพานซูตองเป้ เลือกมุมเหมาะๆ นั่งรอบิณฑบาตในยามเช้า ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น



.....ไม่นานนักภาพที่งดงามก็ปรากฏ พระสงฆ์สามสิบกว่ารูป ทยอยเดินลงมาจากสวนธรรมภูสมะด้วยเท้าเปล่าสู่สะพานไม้ไผ่อันเลื่องชื่อข้ามแม่น้ำแม่สะงา เรากับเพื่อนมีโอกาสได้ทำบุญตักบาตรอย่างที่ตั้งใจแล้ว เย้......

 



 

ปาย แบบผ่านๆ 

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น เราเดินทางจากเชียงใหม่ด้วยเส้นทางแม่สะเรียง ขากลับจึงตัดสินใจกลับทางปาย เพื่อจะอัพเดท ซะหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้ว หลังจากเคยมาเยือนอยู่หลายครั้ง

แต่ดูเหมือนว่า การที่ได้ไปหมู่บ้านรักไทย ที่แม่ฮ่องสอนเมื่อกลับมายังหมู่บ้านสันติชล เลยรู้สึกว่ เล็กไปถนัดตา ถึงแม้ว่าจะได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมส่วนสำหรับการถ่ายภาพ รวมถึงมีเสื้อผ้าชุดราวกับหนังจีนให้เช่า พร้อมทั้งร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกขึ้นมาแล้วก็ตาม

ไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน สันติชล ได้สักพักก็แวะไปที่วัดน้ำฮู วัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของที่นี่  

 



 

 



เอาเป็นว่า.... ปายทริปนี้ขอแค่ผ่านๆ ละกัน ค่ำนี้จะไปนอนพักกันที่เชียงใหม่ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพ ฯ

 
 
โรงแรม The Y Residence เชียงใหม่ ราคา 800 บาทห้องสูท 

 
ระเบียงหลังห้องพัก ใกล้กับตลาดมีโชค ของกิน ของใช้เพียบ

ตลาดม้ง ตรอกเล่าโจ๊ว

ผ่านปีใหม่มาได้หนึ่งวันแล้ว ...และก็ถึงวันสุดท้ายของการเดินทางกลับมาเข้าโหมดชีวิตจริง  ก่อนกลับตัดสินใจแวะซื้อของฝากกันที่ตลาดวโรรส และตลาดเล่าโจ๊ว ทั้งสองตลาดนี้คงคุ้นเคยกันดีสำหรับคนที่ไปเที่ยวเชียงใหม่

เมื่อเข้าไปสังเกตการณ์ ร้านไส้อั่วร้านหนึ่ง ก็ยังคงเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ที่มะรุมมะตุ้มกันอยู่แต่ร้านนั้น ขณะที่เรากลับมองว่า ทำไม... ต้องไปรุมกันด้วยหนอ สงสารแต่แม่ค้าเจ้าอื่นๆ นั่งมองกันตาปริบๆ

เราจึงแยกมาซื้อของฝากกันอีกร้านหนึ่ง เรียกว่าขนกันมาจนเต็มรถ

ส่วนตลาดเล่าโจ๊ว แหล่งค้าส่งสินค้าประเภทผ้าปักลาย ประเภททำมือของเหล่าชาวเขาก็เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร ราคาสินค้าเรียกว่าจับกันไม่ลงทีเดียว ผ้าลายปักชาวเขา ตัวละไม่ต่ำกว่าพันบาท บางตัวขึ้นไปที่สองพันกว่าบาท แม่เจ้า ...


จริงๆ กระทรวงพาณิชย์น่าจะลงไปตรวจเยี่ยมบ้างก็ดีนะคะเนี่ย อิอิ

 

 

 



....................................................

การเดินทางกับทริปเกือบหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจากจะให้ประสบการณ์การทรงตัวเมื่อรถทิ้งโค้ง การเอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมทาง การแสดงความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เผยให้เห็น ธรรมชาติที่สรรสร้างสิ่งต่างไว้ให้กับมนุษย์ตัวเล็กๆ บนโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่มีความงามแซมแทรกอยู่ ขึ้นอยู่กับว่า มนุษย์จะเลือกเสพสิ่งใดไว้เป็นความทรงจำ แล้วพบกันใหม่ทริปหน้ากับ โก ก๊อก นะคะ