ก.แรงงาน เผยบอร์ดค่าจ้างใช้เกณฑ์พิจารณาจากปัจจัยรอบด้านอย่างรอบคอบ

“โฆษกแรงงาน” เปิดเผย หลักเกณฑ์การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 อาทิ ผลิตภาพแรงงาน สัดส่วนต้นทุนด้านแรงงานของ GDP แต่ละจังหวัด คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2561 เป็นต้น ชี้ ต้นทุนด้านแรงงานอยู่ที่ร้อยละ 7 - 10 ของค่าจ้าง ย้ำ แรงงานกว่า 4 ล้านคน รวมทั้งแรงงานภาคเกษตรอีก 14 ล้านคนรับอานิสงส์ค่าจ้างขั้นต่ำด้วย 
นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ณ ห้องรับรองสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงานว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ใช้สูตรคำนวณที่นำมาพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้


จากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ย 5 ปีของแต่ละจังหวัด สัดส่วนต้นทุนด้านแรงงานของผลิตภาพมวลรวมของแต่ละจังหวัด (GPP) อัตราเงินเฟ้อของแต่ละจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจะนำไปพิจารณารวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อจากการคาดการณ์ของปี 2561 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2561 

จากนั้นนำผลที่ได้มาจัดกลุ่มให้อัตราค่าจ้างของจังหวัดที่ใกล้เคียงกันไม่ให้มีความแตกต่างกันมากนัก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานและขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ ทั่วไปแล้วต้นทุนด้านแรงงานจะอยู่ที่ 7 - 10% ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทอุตสาหกรรมว่ามีการใช้แรงงานเข้มข้นหรือไม่ หากเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยจะใช้ทุนต้นด้านแรงงานสูงถึง 90 % ที่เหลือจะเป็นต้นทุนด้านการบริหารจัดการและไอที เป็นต้น 
 
นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า แนวทางที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 วางแผนไว้เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการชุดใหม่ คือ ขอให้มีการผลักดันให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง โดยต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้โครงสร้างค่าจ้างอยู่ในกฎหมาย และออกประกาศไว้ในสถานประกอบการเพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบการขึ้นค่าจ้างในแต่ละครั้ง 

ส่วนการขึ้นค่าจ้างในแต่ละปีจะขึ้นอยู่กับการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานลูกจ้าง โดยคณะกรรมการค่าจ้างเห็นว่ามีความสำคัญ ทั้งนี้ ในอนาคตการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจะมีวิวัฒนาการไปถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงตามลักษณะของการจ้างงานในแต่ละประเภทกิจการ โดยเฉพาะงานพาร์ทไทม์ในภาคบริการอีกด้วย
 

“การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้มีแรงงานที่ได้รับประโยชน์จากค่าจ้างขั้นต่ำกว่า 4 ล้านคน และครอบคลุมไปยังแรงงานนอกระบบที่เป็นแรงงานในภาคเกษตรอีกกว่า 14 ล้านคนด้วย”นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายสุด