TK Park ระดมแนวคิดพัฒนาห้องสมุด เท่าทันนวัตกรรมใหม่และกระแสโลก

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว  ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกในปัจจุบัน ถึงขั้นต้องปรับกระบวนทัศน์กันอย่างขนาดใหญ่เพื่อการดำรงอยู่และการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นแหล่งความรู้สำคัญและน่าเชื่อถือของทั่วโลกเอาไว้ให้ได้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปพฤติกรรม วิธีคิด และการแสวงหาข้อมูลความรู้และการเข้าถึงสารสนเทศที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในทุกวันนี้



   

อุทยานการเรียนรู้ TK park ต้นแบบการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งไม่อาจหยุดยั้งการพัฒนาเพื่อเดินต่อไปข้างหน้าได้ การจัดประชุมวิชาการประจำปี TK Forum 2018 ในปีนี้จึงมุ่งเน้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างสรรค์ เพื่อระดมแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาห้องสมุดสมัยใหม่  ให้เท่าทันนวัตกรรมใหม่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ภายใต้หัวข้อ “Creating Better Libraries: The Unfinished Knowledge” โดยมีวิทยากรที่มากด้วยความสามารถ ประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์ถึง 4 ท่านจาก 4 ประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ และแนวความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ในการพัฒนาห้องสมุดและพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้


    

 ศาสตราจารย์วุฒิคุณ สตีฟ โอคอนเนอร์ (Steve O’Connor) จากมหาวิทยาลัยชาร์ลสสจวร์ต ประเทศออสเตรเลีย และบรรณาธิการวารสารออนไลน์ Library Management ที่มียอดดาวน์โหลดบทความเฉลี่ยถึงเดือนละมากกว่า 12,000 ครั้ง และยังเชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือ scenario planning เพื่อฝึกคิดวิเคราะห์คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะมีผลกระทบต่อห้องสมุด รวมทั้งเขียนหนังสือ “Imagining Your Library’s Future” ที่มีการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาจีนขณะนี้ 

สตีฟ โอคอนเนอร์ กล่าวว่า การรับรู้ของห้องสมุดและทรัพยากรสารสนเทศเป็นงานด้านการตลาดแนวโน้มที่ชัดเจนคือเรื่องการบริการตนเองและความสมบูรณ์แบบด้านสารสนเทศ การเข้าถึงจิตใจผู้ใช้บริการห้องสมุด และการตอบสนองผู้ใช้บริการรายใหม่ในบริบทของทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นห้องสมุดยังคงมีความสำคัญในฐานะผู้ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ในภาพรวมแล้วผู้ใช้บริการยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อห้องสมุด แม้จะล้าสมัยไปบ้าง

ปัจจุบันมีการลงทุนและใช้งานทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์อย่างมหาศาล โดยแหล่งข้อมูลที่สำคัญเป็นอันดับสองสำหรับชาวอเมริกันที่ต้องการค้นคว้าคือสารสนเทศที่มีความน่าเชื่อถือ  บทบาทบรรณารักษ์วันนี้ไม่ใช่การค้นคว้า แต่โปรแกรมค้นหา (Search Engine) เป็นจุดเริ่มต้นซึ่งผู้คนเลือกให้ความสำคัญมากกว่า ดังนั้นการดำเนินงานของห้องสมุดปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงฐานรากสองประการ ประการแรกคือผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงเนื้อหาส่วนใหญ่ของห้องสมุดในรูปดิจิทัล ประการที่สองคือห้องสมุดไม่ได้เป็นเจ้าของเนื้อหา โมเดลธุรกิจเดิมของห้องสมุดจึงเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะได้ถูกแทรกแซง ‘ดิจิทัล’ อย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้บริการของเราเองก็ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption ในทุกด้าน ทุกคนมีสมาร์ทโฟนซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการเข้าถึงสื่อสังคม การค้นคว้าบนอินเตอร์เน็ต


บทบาทของบรรณารักษ์และวิชาชีพห้องสมุดจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะและแนวทางการปฏิบัติงานใหม่ๆ โดยก้าวผ่านจากบทบาทผู้รักษาหนังสือและวารสาร สู่บทบาทการบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการสร้างเสริมการรู้หนังสือ ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ที่สอดรับกับพฤติกรรมคนในยุคปัจจุบัน


   

   

รอล์ฟ เฮเพล (Rolf Hapel) ผู้อำนวยการงานบริการประชาชนและห้องสมุดแห่งเมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก เป็นวิทยากรอีกท่านหนึ่งที่ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและความสำเร็จของห้องสมุด Dokk1 ห้องสมุดหลักแห่งใหม่ของเมืองอาร์ฮุส เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล จากยอดจำนวนผู้ใช้บริการ 1.3 ล้านคนต่อปี โดยเมืองอาร์ฮุสมีประชากรเพียง 3.3 แสนคน นอกจากนี้ยังมีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่ติดแฮชแท็ก #dokk1 อย่างล้นหลาม และผู้ใช้บริการโพสต์ภาพห้องสมุดบนอินสตาแกรมกว่า 20,000 ภาพ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมจากประชาชน นักท่องเที่ยว นักวิจารณ์จากนานาประเทศ และผู้คนในแวดวงห้องสมุด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการนำมาวิเคราะห์และอธิบายถึงสาเหตุหรือปัจจัยแห่งความสำเร็จในการประชุมวิชาการครั้งนี้


“องค์ประกอบสำคัญซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จมากที่สุดคือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการ” ห้องสมุด dokk1 ถือเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับห้องสมุดประชาชนที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่การตัดสินใจสร้างห้องสมุด โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการวิสัยทัศน์” เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ให้กับห้องสมุดแห่งใหม่ ประกอบด้วยบุคคลที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้านสถาปัตยกรรม ห้องสมุด เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลวัตด้านวัฒนธรรม โดยทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับผู้อำนวยการห้องสมุด และเป็นแกนนำในการพัฒนาเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ฉบับแรกสำหรับห้องสมุดแห่งใหม่ รวมทั้งใช้กลยุทธ์หลากหลายเพื่อดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ใช้บริการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแนวคิดและแผนการดำเนินงาน


นอกจากนี้ ประเทศเดนมาร์กยังดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ว่าด้วยเรื่องห้องสมุดประชาชน โดยกระทรวงวัฒนธรรม กำหนดให้เป็นองค์ประกอบในพื้นที่ส่วนหนึ่งของแบบจำลองจัตวากาศ (Four Spaces Model) ประกอบด้วยพื้นที่ 4 ประเภทได้แก่ พื้นที่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration space) พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ (learning space) พื้นที่เพื่อการพบปะสังสรรค์ (meeting space) และพื้นที่เพื่อการแสดงออก (performance space) ดึงประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น แฮกเกอร์สเปซและงานเมกเกอร์แฟร์ ส่วนห้องสมุดมีบทบาทในการพัฒนาโครงการ การแลกเปลี่ยนความคิด และการสร้างเครือข่ายในภาคประชาสังคม

“ห้องสมุด dokk1 ร่วมมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อให้เขามีโอกาสได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ พบปะ business angels ซึ่งช่วยเป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนพวกเขา ด้วยแนวทางดังกล่าวนี้ ผู้มีศักยภาพในการลงทุนจะได้เสวนากับบุคคลที่กำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจและอยู่ในระยะที่มีแนวโน้มเติบโต (growth layer) และได้พบปะกับบริษัท ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ” กิจกรรมนี้ส่งผลให้เกิดการขยายเครือข่าย และการสร้างจิตสำนึกด้านการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์กรให้กับหมู่พลเมืองแห่งอาร์ฮุส


นอกจากนี้ห้องสมุด Dokk1 ยังมีการจัดสรรพื้นที่อย่างเหมาะสมในฐานะผู้ให้บริการ โดยแต่งพื้นที่ภายในให้สอดคล้องกับทั้งความต้องการพื้นฐานและยุคดิจิทัลของโลกโดยอาคารห้องสมุดในเชิงกายภาพเป็นกลุ่มพื้นที่อเนกประสงค์เพื่อให้บริการกับชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประสบการณ์เชิงวัฒนธรรม การสร้างความร่วมมือและชุมชน แทนที่จะเป็นสถานที่สำหรับจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลซึ่งมีรูปแบบจำกัดแบบเดิมๆ เช่น หนังสือ บทความ นิตยสาร ซีดี


รศ.ดร.วนิดา แก่นอากาศ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดและกรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นทีมงานให้ร่วมกันพลิกโฉมห้องสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยการให้บริการเชิงรุก ปรับเปลี่ยนบรรยากาศ ตลอดจนริเริ่มพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้อำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการ ห้องสมุดต้องสร้างโอกาสให้ตัวเอง แปลงตัวเองให้เข้าไปเป็นหนึ่งในบริการที่คนทั่วไปได้เห็นห้องสมุดผ่านเทคโนโลยีที่พวกเขาใช้เป็นประจำ เช่น บริการยืมคืนหนังสือผ่านโมบายแอปพลิเคชัน การจ่ายค่าปรับผ่านคิวอาร์โค้ดของธนาคาร 

ซึ่งไม่เฉพาะบริการด้านห้องสมุดเท่านั้น ห้องสมุดต้องเข้าไปอยู่ในใจผู้ใช้บริการ ให้ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา เช่น บริการห้องสมุด (บางส่วน) ตลอด 24 ชั่วโมง บริการพื้นที่พักผ่อน บริการงานด้านเอกสารเพื่อเอื้อต่อการทำรายงานของนักศึกษา บริการนวดผ่อนคลาย ฯลฯ พวกเขารับรู้ว่าห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่แห่งการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นพื้นที่ของการสร้างสรรค์และแสดงออก เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่อยู่แต่ในหนังสือเท่านั้น


“การปรับและเปลี่ยนบรรยากาศห้องสมุดในความคิดแบบเดิมๆ การนำนวัตกรรม แนวคิด การปรับกลยุทธ์การทำงาน การใช้เทคโนโลยี การรับฟังผู้มาใช้บริการ (Customer Focus) การเรียนรู้พฤติกรรมผู้มาใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (Management by fact) เราต้องศึกษาพฤติกรรมของเขาเหล่านั้น การพร้อมที่จะปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ยอมให้กระแสโลกเปลี่ยนเรา แต่เราต้องเปลี่ยนตนเองเผื่อให้ก้าวทันตามกระแสโลกได้อย่างชาญฉลาด”


แอนดรูว์ แฮร์ริสัน (Andrew Harrison) ศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ มหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ ทรินิตี้ เซนด์ เดวิด สหราชอาณาจักร กล่าวถึง แนวทางการเรียนรู้ในบริบทการศึกษากำลังแปรเปลี่ยนจาก “กระบวนทัศน์การสอน” (instruction paradigm) ไปสู่ “กระบวนทัศน์การเรียนรู้” (learning paradigm) ได้เปลี่ยนบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันการศึกษาต่อเนื่องจาก “สถานที่สำหรับการสอน” เป็น “สถานที่สำหรับการสร้างการเรียนรู้” การคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนกลับทวีความสำคัญขึ้นในโลกสมัยใหม่ ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ทางสังคมสูงสุดคือกระบวนการเรียนรู้


มีการวิจัยพบว่า ระหว่างปี 2009 และ 2015 การยืมคืนทรัพยากรห้องสมุดเพื่อการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาลดลงเกือบกึ่งหนึ่ง (จาก 36 ล้านครั้งเหลือเพียง 19 ล้านครั้ง) และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การยืมคืนเฉลี่ยของทรัพยากรต่อนักศึกษาหนึ่งคนลดลงจาก 25 ครั้งเหลือเพียง 7 ครั้ง หรือคิดเป็น 72% อย่างไรก็ตาม อัตราการยืมคืนทรัพยากรที่ลดลงมิได้บ่งชี้ว่า ภาพรวมของการใช้งานทรัพยากรห้องสมุดลดลง หรือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการห้องสมุดลดลง แต่เนื่องจากห้องสมุดมุ่งเน้นทรัพยากรรูปแบบดิจิทัลและออนไลน์มากขึ้น การลดลงของการยืมคืนหนังสือตีพิมพ์จึงเป็นปรากฏการณ์ปกติ


ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีความร่วมมือกันในรูปแบบเครือข่ายของสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้าง “ชุมชนที่มีการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง” (learning-centered communities) ปรากฏการณ์ดังกล่าวเอื้อต่อ “การสร้างพื้นที่สาธารณะ” จากเดิมที่กิจกรรมอยู่ในอาคารก็เริ่มขยายออกมาอยู่บริเวณระเบียง สวน และจตุรัส และในทางกลับกันสิ่งที่เคยอยู่นอกอาคารก็จะกลับปรากฏเป็นองค์ประกอบภายในอาคาร เช่น ลานขนาดใหญ่ สนาม หรือทางเดินกว้างๆ ที่มีร้านค้าตั้งอยู่ ดังนั้นเมื่ออาณาเขตระหว่างการเรียนรู้ การทำงาน การดำเนินชีวิต และกิจกรรมสันทนาการ กำลังพร่าเลือนจางลง ก็จะมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ใหม่และพื้นที่ประเภทใหม่เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แบบผสมผสาน เพื่อสร้างชุมชนที่มีการเรียนรู้เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง


ทั้งนี้ นายอธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กำกับดูแลอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้กล่าวในงาน TK Forum 2018 ว่า “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตทำให้พฤติกรรมการแสวงหาข้อมูลความรู้และการเข้าถึงสารสนเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลโดยตรงต่อบทบาทของห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกห้องสมุดที่ปรับตัวและมีแนวโน้มจะดำรงบทบาทสำคัญทางสังคมอยู่ได้นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นห้องสมุดซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่ (space utilization) 

ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมความต้องการของผู้ใช้บริการและสอดคล้องกับบริบทชุมชนได้อย่างถูกต้องห้องสมุดอนาคต นอกจากจะอำนวยความสะดวกในด้านการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศและให้บริการทรัพยากรความรู้อันเป็นภารกิจตามปกติแล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับรูปแบบหรือวิธีการเรียนรู้ของผู้ใช้งานในโลกยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ โดยส่งเสริมการรู้ดิจิทัล (digital literacy) และความคล่องแคล่วทางดิจิทัล (digital fluency) ทำให้ขอบเขตการให้บริการความรู้ขยายไปสู่การส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถใช้ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม ส่งผลให้ “นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์” กลายเป็นแก่นสาระใจกลางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไปในที่สุด”


ิิ