วท.เร่งแก้จน ทุ่มงบ-ระดมอัดฉีดเทคโนโลยีพร้อมใช้แก้ปัญหาโอทอป 5 กลุ่ม ตั้งแต่ของกินยันของใช้

           เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการบิ๊กร็อก (Big Rock) เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ว่า ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการในส่วนของโครงการวิทย์แก้จนที่มีเป้าหมายจะเข้าไปแก้ปัญหาใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญและน่าน โดยการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาและจัดระเบียบองค์ความรู้แล้วไปถ่ายทอดเพื่อยกระดับโอทอป (OTOP) จำนวน 2,000 กลุ่ม จากเป้าหมายที่ วท. ได้สำรวจพบว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป ใน 10 จังหวัดจำนวน 4,010 ราย และผลิตภัณฑ์โอทอป จำนวน 7,286 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์โอทอปใน 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย และของใช้ ของประดับและของที่ระลึก ทั้งนี้ งบประมาณที่จะนำไปดำเนินการ จำนวนกว่า 439 ล้านบาท โดย วท.จะร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี เพื่อหาตลาดให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่ม
            รมว.วท. กล่าวต่อว่า ในกลุ่มผู้ประกอบการโอทอปและผลิตภัณฑ์โอทอปใน 10 จังหวัดยากจน วท. ได้จำแนกแยกแยะรายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีผู้ประกอบการโอทอปมากที่สุดคือ บุรีรัมย์ จำนวน 1,349 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ จำนวน 2,519 ผลิตภัณฑ์ รองลงมาคือ กาฬสินธุ์ มีผู้ประกอบการ จำนวน 1,116 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ 2,084 ผลิตภัณฑ์ อำนาจเจริญ มีผู้ประกอบการ จำนวน 652 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ จำนวน 1,063 ผลิตภัณฑ์ ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ประกอบการน้อยที่สุด คือ ตาก มีผู้ประกอบการเพียง 49 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ จำนวน 128 ผลิตภัณฑ์ ส่วนจังหวัดที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ตาก  ปัตตานีและนราธิวาส เนื่องจากผลิตภัณฑ์โอทอปส่วนใหญ่ยังไม่มีการยกระดับเท่าที่ควร นอกจากนี้ ในกลุ่ม 10 จังหวัดยังมีปัญหาที่ผลิตภัณฑ์มีลักษณะคล้ายหรือซ้ำกัน อาทิ อาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น ไม่มีความหลากหลาย รวมทั้งขาดเทคโนโลยี ดังนั้น วท. จะนำฐานข้อมูลเทคโนโลยีพร้อมใช้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
           ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ วท. ได้เตรียมฐานข้อมูลเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ มาตรฐาน การออกแบบกระบวนการผลิตและการออกแบบเครื่องจักรพร้อมใช้ไว้พร้อมแล้ว เพื่อนำไปยกระดับในกลุ่มสินค้าโอทอป อาทิ ในกลุ่มอาหาร จะมีการนำเทคโนโลยีปรับปรุงดิน การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นต้น ในกลุ่มเครื่องดื่ม มีการนำจุลินทรีย์ การสกัดที่เป็นประโยชน์มาใช้ไปจนถึงฉลากอัจฉริยะ ระบบบรรจุกระป๋อง ขวด เป็นต้น กลุ่มผ้า เครื่องแต่งกาย จะเริ่มตั้งแต่การผลิตเส้นใย การผลิตสีธรรมชาติ การนำผ้านาโนและผ้ากลิ่นธรรมชาติมาใช้  เป็นต้น กลุ่มของใช้ ของประดับ ตกแต่ง จะมีการใช้เทคโนโลยีหาแหล่งดินขาว แหล่งอัญมณีคุณภาพสูงไปจนถึงกระบวนการเผา เจียระไน การขึ้นรูป เป็นต้น และกลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เริ่มตั้งแต่การเพิ่มสารสำคัญ ธาตุอาหารพืช การยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว การฉายรังสี การนำนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง เวชสำอาง ยา เป็นต้น ที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์โอทอปทุกตัวจะต้องมีมาตรฐาน GMP,HACCP,CODEX, ฮาลาล เป็นต้น