กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ชี้แจงข้อวิจารณ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือคนจน

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2561 เวลา 20.10 น. นางนภา  เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวถึงกรณีข้อวิจารณ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือคนจน จากการเสวนาตีแผ่ต้นตอขบวนการทุจริตโครงการช่วยเหลือคนจน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นายโกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวถึงการจ่ายเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือคนจนว่า ไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือแก้ปัญหาความยากจน


นางนภาฯ กล่าวว่า จากประเด็นการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่คนยากไร้ เป็นการทำประชานิยมของรัฐบาลในรูปแบบการเยียวยาคนด้อยโอกาส ที่เยียวยาชั่วคราวทำให้เกิดการเสพติดสวัสดิการของรัฐนั้น เงินสงเคราะห์  ไม่ถือว่าเป็นการทำประชานิยม แต่เป็นการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสตามหลักการสังคมสงเคราะห์ เพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ให้ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนได้รับปัจจัยพื้นฐาน เป็นการสร้างกำลังใจ ไม่ทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง ก่อนใช้กระบวนการพัฒนาเพื่อให้คนสามารถพึ่งตนเองได้ เช่น การให้คำแนะนำปรึกษาตามสภาพปัญหาความเดือดร้อน และสอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมสนับสนุนทักษะด้านอาชีพ เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาช่วยเหลือตนเองได้ในระยะยาว ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดการเสพติดสวัสดิการของรัฐ

นางนภาฯ กล่าวต่อไปว่า ตามข้อวิจารณ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความผิดพลาด 3 ข้อ คือ 1) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ถือเป็นหน่วยงานแรกรับ คัดกรอง และ ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ตลอดจนดำเนินการเชิงรุก ในการให้บริการสวัสดิการสังคมแก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ ผู้ประสบความเดือดร้อนและอยู่ในสภาวะยากลำบาก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดที่ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ

ซึ่งศูนย์ฯ มีการจัดทำสถิติจำนวนผู้รับบริการในศูนย์และเผยแพร่ข้อมูลในหลายช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ของ กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและเว็บไซต์ของหน่วยงาน รายงานประจำปีของกรมฯ ตลอดจนเอกสารเผยแพร่ในที่ประชุมระดับชาติ (คณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง) ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด และในงานการจัดนิทรรศการ Homeless Day เป็นต้น ปัจจุบัน มีจำนวนผู้รับบริการในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ จำนวน 939 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2561)  2) การทำข้อมูลเสนอรัฐเพื่อของบประมาณ ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน  

ซึ่งในการจัดทำคำของบประมาณของกระทรวง พม. ใช้ฐานข้อมูลงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปีที่ผ่านมา รวมกับผลการดำเนินงานในการให้ความช่วยเหลือและสถานการณ์จริง นอกจากนี้ การขออนุมัติงบประมาณดังกล่าว อยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่สำนักงบประมาณกำหนด 

ดังนั้น การดำเนินการในส่วนนี้ จึงมีข้อมูลที่ชัดเจนในการของบประมาณ และ 3) ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสิทธิของประชาชนนั้น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้เน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านรูปแบบสื่อมวลชน เอกสาร และการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. (One Home) รวมทั้งผ่านกลไกภาคีเครือข่ายในการทำงานด้านพัฒนาสังคมต่างๆ อาทิ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 

ทั้งนี้การประชาสัมพันธ์ต่างๆ อาจจะไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น ขณะนี้ กรมฯ มีแนวทางในการเผยแพร่สิทธิขั้นพื้นฐาน และภารกิจของกรมผ่านทุกช่องทางในระดับส่วนกลาง จังหวัด และพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น