เลขาธิการ คปภ. ชูบทบาทนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไทย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนานักคณิตศาสตร์ประกันภัยนานาชาติประจำปี 2561 (IFoA Asia Conference 2018) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ โฮเตล กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งสหราชอาณาจักร (Institute and Faculty of Actuaries : IFoA) และสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (The Society of Actuaries of Thailand : SOAT)

   

การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นเวทีให้ผู้บริหารประกันภัยและนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจากประเทศต่างๆทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการด้านการประกันภัย รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล การนำเทคโนโลยีมาช่วยทำงาน การรายงานทางการเงิน และการบริหารธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย โดยมีผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้กว่า 400 คน 

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวถึงพัฒนาการของธุรกิจประกันภัยไทยจากมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาวะทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลโดยยกตัวอย่าง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งเรียกว่า “RegTech” และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแล หรือที่เรียกว่า “SupTech” รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงจำนวนนักคณิตศาสตร์ในปัจจุบันของภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ว่ายังขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาคอุตสาหกรรมประกันภัยมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้วางแผนงานระยะยาวเพื่อเพิ่มจำนวนนักคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาและสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงแนะนำกลุ่มนิสิตนักศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ และความสำคัญของวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นบุคคลากรที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักในภารกิจที่สำคัญของบริษัทประกันภัยและระบบประกันภัย เช่น การคำนวณเบี้ยประกันภัย การประเมินมูลค่าสำรองประกันภัย และการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเองก็ต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การมีมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS17 รวมถึงการเข้าร่วมการประเมิน FSAP ของธุรกิจประกันภัยที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการยกระดับกฎระเบียบ และมาตรฐานการกำกับดูแลให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยคือกฎกติกาเกี่ยวกับ ORSA ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีบทบาทที่สำคัญในกระบวนการ ORSA ที่จะต้องประเมินความเพียงพอของการบริหารความเสี่ยงและจำลองสถานะความมั่นคงของบริษัทในอนาคต ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ

จากบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยดังที่กล่าวมาข้างต้น เลขาธิการ คปภ. จึงได้ฝากข้อคิดให้กับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยว่า จะเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันเทคโนโลยีและพัฒนาการต่างๆที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย