กรมควบคุมโรค เผยปัจจัยเสี่ยงวัยรุ่นและผู้ใหญ่เสี่ยงป่วยตายด้วยโรคไข้เลือดออกสูง

กรมควบคุมโรค เผยวัยรุ่นและผู้ใหญ่เสี่ยงป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นจากปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โรคประจำตัว น้ำหนักเกินมาตรฐาน เน้นขอให้สังเกตอาการหากมีไข้สูงเฉียบพลันแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยทันที อย่ารีรอเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง แนะคน กทม. และปริมณฑล ที่อาศัยหอพักหรือคอนโดสำรวจแจกัน ถาดรองต้นไม้พร้อมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ทันที และยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ป้องกันโรคไข้เลือดออก


วันนี้ (21 พฤษภาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เสี่ยงเกิดน้ำขังและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย สถานการณ์โรคไข้เลือดออกล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 พบว่ามีผู้ป่วยแล้ว 10,446 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 8 กลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่นยังคงเป็นกลุ่มที่มีการป่วยมากที่สุด และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 15 ราย เป็นกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ในจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง 14 ราย ได้แก่ ภาวะอ้วน 6 ราย เบาหวานความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ 3 ราย โรคเลือด 2 ราย โรคทางระบบประสาท 2 ราย และติดสุรา 1 ราย


  ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้น ซึ่งมักจะมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพอื่นๆร่วมด้วย เช่น น้ำหนักเกินมาตรฐาน มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น ส่งผลให้กลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ทุกภาคของประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ประชาชนสามารถตรวจสอบพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยจากเวปไซด์ http://www.thaivbd.org หรือสแกน QR code ตรวจสอบพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยได้


กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้จะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค ในคราวเดียวกัน คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 

3. ไข้ปวดข้อยุงลาย รวมถึงควรสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการ ไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ดังนั้น ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเข้ามารับการวินิจฉัยช้า อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้


นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยได้ง่าย เพราะการกระจุกตัวของประชากร ดังนั้น ประชาชนที่อาศัยและทำงานอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร หรืออาศัยในหอพักหรือคอนโดมิเนียม ขอให้สำรวจลูกน้ำยุงลายตามแจกันต้นไม้ ถาดรองน้ำตามต้นไม้ หรือแหล่งน้ำขังที่ใสสะอาด หากพบลูกน้ำ ยุงลายให้คว่ำหรือทำลายแหล่งนั้นทันที และหมั่นเปลี่ยนน้ำเป็นประจำ หรือใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลากัด เป็นต้น เพื่อเป็นการทำลายต้นตอของโรคไข้เลือดออก หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422