เมืองตาก เมืองเมี่ยง (ตอนจบ)

เมืองตาก เมืองเมี่ยง (ตอน 1)https://www.btripnews.net/?p=25475

พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก 



เช้าวันใหม่...การเดินทางเริ่มขึ้นอีกครั้ง ล้อหมุนหลังอาหารเช้า เพื่อไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก เอาเข้าจริงๆ ก็อยู่ใกล้ๆ กับตรอกบ้านจีนนั่นเอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมเป็นจวนผู้ว่าฯ ตาก (หลังเดิม) ทำให้เราแอบคิดว่าสงสัยย่านนี้น่าจะเป็น ย่านไฮโซในอดีตนะเนี่ย





....จากเอกสารบ่งบอกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 โดยปรับปรุงอาคารจวนผู้ว่าฯ เนื่องจากในอดีตเคยเป็น”เรือนประทับ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเมืองตาก เมื่อปี 2501





ภายในจัดแสดงและรวบรวมโบราณวัตถุศิลปวัตถุ และทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดที่มีอยู่จำนวนมากและกระจัดกระจายในสถานที่ต่างๆ












แบ่งเนื้อหา โดยจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนจัดแสดงพระราชกรณียกิจที่เป็นภาพถ่ายและโบราณศิลปวัตถุต่างๆ

ชั้นล่าง จัดแสดงสิ่งของมีค่าของจังหวัด เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00- 17.00 น.







เมี่ยงจอมพล ข้าวแคบ

ที่ร้านเมี่ยงคำเมืองตาก คุณป้าผ่องพรรณ โทนปั่น เจ้าของร้านและบุตรสาว จัดเตรียม เมี่ยงจอมพล หรือเมี่ยงเต้าเจี้ยว เป็นเมี่ยงคำที่หาทานได้เฉพาะถิ่นของเมืองตาก



คุณป้าผ่องพรรณ เล่าว่า เมี่ยงจอมพล เดิมเรียกว่า เมี่ยงเต้าเจี้ยว แต่ช่วงที่จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งมีพื้นเพเป็นคนตาก เมื่อกลับมาบ้านก็จะเรียกหามาทานเป็นประจำ ถือว่าเป็นเมนูโปรด ชาวตากจึงเรียกเมี่ยงเต้าเจี้ยวว่า เมี่ยงจอมพล





มาดูกันที่เครื่องเคียง วันนี้คุณป้า จัดเอาไว้สองแบบ คือให้เราจัดไว้บนใบชะพลู หรือไม่ก็ข้าวเกรียบงาดำเมืองตากหรือข้าวแคบตามคำเรียกขานของคนพื้นถิ่น

เครื่องเคียงประกอบด้วย สมุนไพรหลายอย่างๆ ทั้งมะนาว ขิงหั่นเต๋า ตะไคร้ซอย กระเทียม ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง ข้าวพองและพร้าวทึนทึกขูด ที่ขาดไม่ได้คือ เต้าเจี้ยวเมืองตาก ซึ่งมีให้ชิมทั้งแบบรสหวานและรสเปรี้ยวและเค็ม

วิธีทาน ทานได้สองแบบอย่างที่คุณป้าเตรียมเอาไว้ คือห่อด้วยใบชะพลู หรือข้าวเกรียบงาดำเมืองตากที่นำไปพรมน้ำให้อ่อนตัวแล้วมาห่อกับเครื่องต่างๆ ราดด้วยเต้าเจี้ยวเช่นเดียวกัน ส่วนของเต้าเจี้ยวจะผสมน้ำอ้อยเพื่อชูรสชาติเต้าเจี้ยวให้อร่อยกลมกล่อมขึ้น เพิ่มรสสัมผัสด้วยความหอมของสมุนไพร





 “คนตากนิยมทานเมี่ยงเป็นของว่าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมี่ยงมะพร้าว ทำให้มีการผลิตเมี่ยงกันทั้งปี จนทำให้มีกะลามะพร้าวเหลืออยู่มากมาย เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง ชาวตากแต่ละชุมชน จึงนิยมนำกะลามะพร้าวมาทำความสะอาด ขัดถูกประดิษฐ์ตกแต่งให้สวยงามเพื่อนำไปลอยในแม่น้ำปิง”



และความที่แม่น้ำปิง ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะมีสันดอนใต้น้ำทำให้เกิดเป็นร่องน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อนำกระทงมาลอยชุมชนละ 1000 ดวง ต่อเนื่องกัน เกิดแสงระยิบระยับตามความยาวของร่องน้ำ สวยงามจนเรียกว่า ประเพณีกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โด่งดังไปทั่วโลก

..... ก็อิ่มหนำสำราญ บานใจกันถ้วนหน้า ก่อนจบทริปคณะได้จัดให้เราได้สักการะพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนบ่ายหน้ากลับกทม.









ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช งดงามจริงๆ











.... สำหรับโครงการนำร่อง เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน จังหวัดตาก ยังมีเรื่องราว... เรื่องเล่าถึงที่มาของรสชาติและกรรมวิธีการทำของอาหารพื้นถิ่น ผ่านชุมชนวิถีและจากปากคำของผู้เฒ่าแม่แก่ที่น่าสนใจอีกมากมาย

.... ....บางสิ่งใกล้สูญหาย บางสิ่งสืบค้นพบเจอ...แต่อีกหลายสิ่งเลือนหายไปตามกาล ...

         แล้วจะปล่อยให้เลือนหายไปในรุ่นของเราเชียวหรือ ? ... เพียงแค่คุณเข้าไปเยี่ยมเยียน เข้าไปพบปะวิถี ทักทายเพื่อทายทัก เพื่อให้วัฒนธรรมของบ้านเรา ถูกส่งต่อตกทอดไปอย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการนำร่องเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน 

คุณนิธี สีแพร ผอ.ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว ททท.
 #gastronomytourism  #เส้นทางสายกินอาหารถิ่นในตำนาน #TAT #ตาก