คุยกับผู้บริหาร อพท. กับภารกิจ…. นำพาความสุขสู่ชุมชนและนักท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

กองบก. BtripNews ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมการ เดินสายอบรม “หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน” โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  ซึ่งครั้งนี้ได้จัดลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนเชิงบูรณาการ ( Certificate in CBT Integrated ) นำโดย ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผอ.องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)  อพท. และนางสาววัชรี ชูรักษา ผู้อำนวยการ สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท.ที่ผ่านมา วันนี้เราจะมารู้จักกับภารกิจของ อพท.เพิ่มเติมกัน    



CBT Thailand

ดร. ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  เล่าถึงที่มาว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand) ที่ อพท. ได้จัดทำขึ้น และมอบให้ อพท. นำไปใช้เผยแพร่  อพท.จึงได้กำหนดจัด กิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจการท่องเที่ยวโดยชุมชนตาม “หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน  เพื่อชุมชนเชิงบูรณาการ”  (Certificate  in  CBT  Integrated) ในรูปแบบการอบรมให้ความรู้กับชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 9 ครั้ง แบ่งเป็น  8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) และอีก 1 พื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยวคุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ”

ด้านการจัดการพื้นที่พิเศษ “....เดิมเรารู้จัก อพท. ใน 6 พื้นที่พิเศษ แต่ตอนนี้ทางอพท.กำลังนำเสนอการแก้ไขกฎหมายให้ก้าวเท้าออกไปจาก 6 พื้นที่พิเศษนั้นได้ ไปทำงานตามเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่เรียกกันว่า คลัสเตอร์ ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นฝ่ายเลขานุการอยู่

โดยคำจำกัดความคำว่าพื้นที่พิเศษ ตามความหมายเดิมของ อพท.หมายความว่า มีพื้นที่พิเศษ 6 พื้นที่ แต่พื้นที่พิเศษใหม่นี้ เขียนชัดเจนแล้วว่าเป็นพื้นที่ที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติประกาศ เพราะฉะนั้นประกาศที่ไหนก็หมายความที่นั้นเป็นพื้นที่ดำเนินงานของอพท. โดยอัตโนมัติ

จึงต้องมีกลไกที่เรียกว่าประชารัฐขึ้นมา จะได้มีภาคเอกชน ซึ่งเขามีพลังในด้านของการทำ CSR เราก็ได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดไปว่า น่าจะนำเสนอ บริษัทเอกชน เป็นเทรนด์ของ gift economy เศรษฐกิจของขวัญหรือเศรษฐกิจแห่งการให้ ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนรายใหญ่ ๆ เช่น บ้านปู มิตรผล เอสซีจี ปตท. ที่ทำ CSR เดิมๆ เช่นปลูกป่าชายเลน หรือบริจาคสิ่งของ ก็บอกว่า น่าจะแบ่งส่วนหนึ่งมาพัฒนาชุมชนผ่านรูปแบบของการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะถูกกำหนดเอาไว้ว่า บริษัทนั้นๆ ไปทำประโยชน์  1 section ต้องอยู่ในรายงานประจำปีของบริษัทด้วย จึงคิดว่าจะเป็นโอกาสอันดีในการปลดล็อคเรื่องข้อจำกัดในงบประมาณแผ่นดิน”



“....และทางสภานิติบัญญํติแห่งชาติกำลังทบทวนพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายร่มอันใหญ่ที่ดูแลกิจการเรื่องของการท่องเที่ยวทั้งหมด มีหมวดหนึ่งว่าด้วยเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ท.ท.ช. ที่ผ่านมาขาดตัวละครสำคัญอย่างอพท.ที่จะเข้านั่งเป็นกรรมการที่มีสิทธิมีเสียงเต็มรูปแบบ

มีการประชุม ท.ท.ช.จะเชิญอพท.เข้าไปเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์ แต่เมื่ออพท.เข้าไปในฐานะผู้สังเกตุการณ์กลับมีผลงานต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านชุมชนเข้าไปนำเสนอบ่อยครั้ง จนกระทั่งคนแยกไม่ถูกว่าเราเป็นกรรมการหรือเปล่า และด้วยความที่ตกผลึกผลงานในเรื่องของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ถึงขนาดท.ท.ช. ก็ตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ ท.ท.ช.ขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นมา มีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน และอพท. ไปเป็นฝ่ายเลขานุการ หากปรับปรุง พรบ.นี้แล้ว น่าจะถึงเวลาที่จะนำอพท.เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการด้วย”

แผนงบบูรณาการ

ประเด็นเรื่องของแผนงบประมาณในการดำเนินการต่าง ๆ ดร.ชูวิทย์ เล่าว่า “.. คงได้ยินกันมาแล้วว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยประมาณ 35 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20 % ของ GDP ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะขึ้นมาเป็นพระเอกในเศรษฐกิจ 3 ขา อันได้แก่ เกษตร อุตสาหกรรม บริการ ท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการบริการด้วยซ้ำไป แต่เมื่อถามต่อไปว่า 2.7 ล้านล้านบาท ลงไปถึงฐานรากชุมชนเท่าไหร่ ไม่มีใครตอบได้ นี่คือมิติในเรื่องของ Non Economy ละ 

การทำงานท่องเที่ยวโดยชุมชน 6-7 ปีที่ผ่านมา เราเข้าไปปลดล็อคเรื่องนี้ว่า 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจตกไปที่โรงแรม ร้านอาหารแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เอกชนบริหารจัดการ แต่ชุมชนเท่าไหร่ อพท.จะพยายามตอบให้

ที่ผ่านมาตอบได้เฉพาะพื้นที่พิเศษ แต่จากนี้ไปภาพจะใหญ่ขึ้นเพราะครึ่งหนึ่งของประเทศคือ 38 จังหวัดของคลัสเตอร์ จะถูกตอบโดยการทำงาน โดยบริบทของอพท. คือ แกะรายได้ เราเรียกว่าการกระจายรายได้ ไม่ใช่เรื่องของการสร้างรายได้ ที่

ผ่านมาเราใช้ตัวชี้วัดที่เรียกว่า จีนี่ หน่วยงานทางเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ แบงค์ชาติ สสค. จะเข้าไปวัดความเหลื่อมล้ำ หมายความว่าเงินลงไป 100 บาทมีการกระจายตัวออกไปเสมอภาคกันแค่ไหน ถ้ามีตัวเลข 0-1 ถ้าตัวเลขไปถึง 1 ตัวเลขเหลื่อมล้ำกันมากเลย ถ้ามาทาง 0 ความเหลื่อมล้ำน้อย

ปัจจุบันนี้ ภาครวมของพื้นที่พิเศษของอพท.อยู่ที่ 0.4 การจะเป็น 0.39 0.38 ยากมาก แต่ในแผนยุทธศาสตร์ของอพท.วางไว้ 20 ปีข้างหน้า จะพยายามลดจาก 0.41 ให้เป็น 0.31 ให้ได้” ดร.ชูวิทย์ กล่าว

บูรณาการการท่องเที่ยวเพื่อการอยู่ดีมีสุขของชุมชน 

ดร.ชูวิทย์ กล่าวว่า....ในแผนบูรณาการที่บอกว่าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬาและวัฒนธรรมไปเน้นเรื่องนั้นเกินไป ทำให้ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับน้อย จึงคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่จะสถาปนาแผนบูรณาการงบประมาณ จึงได้มีการเสนอไปยังสำนักงานอีกแผนหนึ่ง เรียกว่า แผนบูรณาการการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะได้มีตะกร้าสำหรับงบประมาณเรื่อง CBT นี้อย่างชัดเจน

และเปรียบเหมือนแผนการท่องเที่ยวที่ไม่ได้มุ่งเรื่องเศรษฐกิจ แต่มุ่งพัฒนาเรื่องของการอยู่ดีมีสุข ของชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชน ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เกิดความเสมอภาค พูดง่ายๆ คือ มิติทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม จะมาลงที่ตะกร้านี้ ถ้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ไปอยู่ในเรื่องของแผนบูรณาการสร้างรายได้ อันนั้นเป็น mass tourism

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณากันอยู่ซึ่งการคิดแผนบูรณาการขึ้นมานี้เป็นเรื่องใหญ่ และต้องผ่านกลไกหลายขั้นตอน เริ่มจากคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ขึ้นไปหา ท.ท.ช.และเข้าสู่ครม.ไป อันนี้ก็เป็นหนทางที่จะต้องเดินทางไป ก็จะเกิดความชัดเจน

ในปีงบประมาณ 62 คงทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่เข้าใจว่า กลางปี 62 จะมีงบประมาณส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาทำได้ ถ้าแผนบูรณาการ CBT เกิดขึ้น แต่เราหวังระยะปี 63 ที่จะเป็นผลได้

.....ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะหลายภาคส่วนสนับสนุนแนวคิดว่าน่าจะมีตะกร้าหนึ่งขึ้นมาสำหรับดำเนินการเรื่องนี้”

“เขมราฐ” ชุมชนนำร่อง

และสำหรับอำเภอเขมราฐ ดร.ชูวิทย์ กล่าวถึงชุมชนนำร่องนี้ว่า “ เขมราฐ จะเป็นตัวอย่างในการทำงานว่า 5 ด้าน 100 ข้อ ใน 5 จังหวัดจะเสริมการทำงานกันอย่างไร แน่นอนว่าชุมชนใดชุมชนหนึ่งไม่สามารถครองแชมป์ได้ทั้งหมดทั้ง 5 ด้าน อาจจะเป็นแชมด้านหนึ่ง เช่นเรื่องของวัฒนธรรม ชุมชนนี้แชมป์เรื่องนี้ก็จะไปบอกกล่าวกับชุมชนอื่นๆ ว่า ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นแชมเปี้ยน แต่แน่นอน ชุมชน ก.ไก่ ที่เป็นแชมป์ด้านวัฒนธรรมก็อาจจะอ่อนกับในอีกสี่ด้าน เป็นต้น ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ประการที่สองคือ เกณฑ์นี้จะไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด ผ่านหรือไม่เป็นตัวเลขสมมติเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้รับประโยชน์คือเรื่องของแนวทางในการที่จะกลับไปปรับปรุงชุมชนของเขา โดยหาภาคีเครือข่ายมาช่วย ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่อพท.ไปทำ destination”





 เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมี 3 มิติด้วยกัน เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติชุมชน (ที่อพท.ทำกันอยู่)  เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเชิงของ Destination หรือแหล่งท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนของเอกชนดูแลเป็นโรงแรม และผู้ประกอบการท่องเที่ยว

จะแบ่งเป็นสีในแต่ละหมวด สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว  สีเขียวเป็นแนวปฏิบัติที่ดีนำไปประกวดในระดับนานาชาติได้เลย

สีเหลืองค่อนข้างจะดีแต่มีประเด็นปรับปรุงบางส่วน สีส้มต้องปรับปรุงพอสมควร  สีแดงต้องปรับปรุงมากที่สุด

.... เมื่อชุมชนนั้นตกอยู่ในหมวดไหน เขาจะได้ตั้งงบประมาณหรือหาคนมาช่วยเหลือจะได้รู้ว่า ตอนนี้เป็นสีแดงอยู่แต่ต้องการจะเป็นสีส้ม สีเหลืองเป็นลำดับต่อไป เราจึงขอรับการสนับสนุนในประเด็นนี้ เพราะฉะนั้นจะไม่ขอสเปะสะปะ แต่จะมีหลักคิดทางวิชาการเป็นระบบ ของบเฉพาะในสิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อนอยู่”



นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้อำนวยการ สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. เล่าเสริมว่า อำเภอ เขมราฐ มีความเข้มแข็งได้ที่หนึ่งของจ.อุบล มีความโดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอีสาน มีถนนคนเดินให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ชมวิถี และมีหาดทรายสูงที่เขมราฐ ริมน้ำโขง จะเห็นภาพวิวทิวทัศน์ที่งดงาม และถนนคนเดินก็ติดตลาดพอสมควร





การได้รับการรับเลือกมาเป็นชุมชนนำร่อง มาจาก 1.การบริหารจัดการ มีการรวมกลุ่มกันให้การบริการด้านการท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งมีเขมราฐ เจียด นาแวง รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายในชุมชนท่องเที่ยว

2.ด้านการจัดการทางด้านสังคม เศรษฐกิจ มีการพัฒนาของฝาก ของที่ระลึก การทำรายได้ มีระบบบัญชี รายได้จากการที่นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียน ด้านสังคมคือเขามีส่วนร่วมและมีรายได้อย่างโปร่งใสเป็นธรรม และมีกฎกติการ่วมกันในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

3.ด้านอนุรักษ์ วิถีวัฒนธรรมความเป็นอีสานของเขา เรื่องของการแต่งกาย การสืบค้นข้อมูล การถ่ายทอดเรื่องราว

4.ด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีการจัดการให้หน้าบ้านหน้ามอง มีการจัดการความสวยงาม การดูแลขย

5.การบริการด้านความปลอดภัย ชุมชนเมื่อรวมกลุ่มกัน เขาพูดคุยกันจะบอกเลยว่า เป็นเจ้าบ้านที่ดีนั่นเอง ควรดูแลและการบริการ การเป็นหูเป็นตาให้ความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

การทำงานกับชุมชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นมุมใดมุมหนึ่ง การที่จะให้ชุมชนยอมรับแนวทางความคิดของหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้าไปในชุมชนหลากหลายหน่วยงาน จึงเป็นเรื่องยาก เนื่องเพราะที่ผ่านมาหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้าไปจะไม่ได้เข้าไปทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากชุมชน



ดร.ชูวิทย์ กล่าวถึงเสียงสะท้อนจากชุมชนว่า “การที่จะเข้าไปทำงานในชุมชนที่ต้องพบกับผู้นำทางความคิด หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้น การทำงานของอพท. คือ เราทำงานเป็น Time Serie ให้เขามุ่งหวังในระยะยาว และมั่นใจถึงการกลับมาทำงานร่วมกับเขาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งระหว่างการทำงาน ก็จะต้องประสบกับปัญหาจากความคิดของผู้นำ แน่นอนทุกครั้งจะมีแรงต่อต้านเป็นอัตโนมัติของมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา แต่จะเป็นในระยะแรก แต่เราอาศัยภาคี เพื่อนร่วมทางที่เดินไปด้วยกัน จนก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

การทำงานของ อพท.ต้องอดทนมาก ช่วงแรก ๆ แน่นอน โดนศอก เข่า ตียับเลย ที่ไหนเข้าไปแล้วคลื่นลมสงบอันนั้นต้องระวังให้ดี เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับผมคิดว่าดีมาก อยากให้เขาแสดงออกมา จะได้ปรับจูนกัน เราก็น้อมรับ

ไม่ใช่ถือตำราหรือความมั่นใจเข้าไปอย่างเดียว เพราะรู้ว่า ตำราของเราไม่ใช่ยาพาราเซตตามอลที่จะไปรักษาในทุกพื้นถิ่น ต้องปรับให้เข้ากับชุมชนนั้น ๆ

คำนิยาม ว่า ความเป็นเลิศของเขาและความเป็นเลิศของเราต่างกัน ดังนั้นกว่าจะหาจุดร่วมกันต้องใช้เวลา ต้องแนะนำตัว เอาเกณฑ์ไปใช้

เรื่องของความพร้อมกับความเต็มใจ  มีหลายชุมชนที่ไม่เต็มใจ อพท. ก็ไม่เข้าไปก้าวล่วง ไม่ใช่ชุมชนในประเทศไทยจะต้องลุกขึ้นมาทำท่องเที่ยวทั้งหมด เขาอาจจะต้องการทำด้านเกษตร บางพื้นมีความเต็มใจมากที่จะให้ทำเป็นชุมชนท่องเที่ยว แต่เขาไม่พร้อม เราก็เข้าไปเสริม ก็ใช้เวลาแตกต่างกันไปกว่าจะได้รับการยอมรับ

การทำงานต้องอาศัยภาคีเครือข่าย เช่น พ่อหลวง พี่ น้อง ที่เข้าไปทำงาน ทุกวันนี้กลายเป็นเพื่อนร่วมงานกัน บางคนยังไม่ตกผลึก เราก็ต้องใช้เวลาต่อไป”  

นำเสนอชุมชนสองรูปแบบ

และเมื่อถามถึงชุมชนที่นำเสนอกับนักท่องเที่ยว ซึ่งมี 2 รูปแบบ ได้แก่ Hard กับ Soft ดร.ชูวิทย์ เล่าถึงตรงนี้ว่า “ Hard คือ ชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ชุมชนยังมองไม่ออกว่าจะทำอย่างไรกับแหล่งท่องเที่ยวนั้น เราก็จะเข้าไปเสริมความรู้ให้ เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการจัดการแหล่งท่องเที่ยวนั้น ไม่ใช่ให้ทัวร์จีนเข้าไปจัดการ เข้ามายึดแล้ว จ่ายค่าบริการให้กับองค์การบริหารจัดการไป แล้วก็มานั่งเก็บค่าตั๋ว ดังที่เห็นกันอยู่

Soft คือ ชุมชนที่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว แต่มีอัตลักษณ์ มีวิถีชีวิต มีเรื่องอาหารการกิน มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ มีปรากฎการณ์ทางชุมชน การแสดง จะเห็นว่าจริตของแต่ละพื้นถิ่นจะแตกต่างกันไป

เราต้องออกแบบกิจกรรมให้กับชุมชนนั้นๆ ที่พบมาบางชุมชนทำโฮมสเตย์ก่อน ซึ่งนั่นเราจะบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก

สร้างขึ้นมาแต่ไม่มีกิจกรรมรองรับ เรื่องท่องเที่ยววิถีไทยเก๋ไก๋อย่างยั่งยืน อพท.ก็ส่งเสริม แต่ก็ต้องตามมาด้วยกิจกรรมด้วย เพราะบางชุมชนสามารถท่องเที่ยวได้เพียง One Day Trip เท่านั้น ชุมชนไม่ต้องทำอะไรให้เกินตัว แต่ถ้าออกแบบมีกิจกรรมในตอนกลางคืน ก็จะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวค้างคืน ณ ชุมชนนั้นๆ ได้ หรือแม้แต่เรื่องของ ไฟล์ทบิน ในการเดินทาง ซึ่งจะต้องคิดในหลายมิติ”

“.....เป็นการกระตุกสติและความระมัดระวังของชุมชนให้รอบคอบมากขึ้น หลายชุมชนแข่งกันเปิดโฮมสเตย์ไว้ก่อน โดยยังไม่มีโปรดักส์อะไรที่จะมานำเสนอให้กับนักท่องเที่ยว แล้วก็ล่มสลายกัน เกิดการแย่งชิงกัน ตัดราคากัน แล้วก็บาดหมางกัน แทนที่การท่องเที่ยวจะเข้าให้เกิดความสามัคคีในชุมชน กลับกลายเป็นดาบสองคมไป

นี่คือสิ่งที่ อพท. มองเห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราก็เข้าไปเตือนสติเขาและบอกว่า ให้เรื่องการท่องเที่ยวนี้เป็นรายได้เสริม เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเปราะบางมาก เจอเรื่องภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจตกต่ำ หรืออะไรเหล่านี้ ถ้าทุกคนทิ้งนาทิ้งไร่มาทำท่องเที่ยว 100 % จบเลย

หลายชุมชนเจอสภาพแบบนี้แล้ว เมื่อจะกลับไปทำนาทำไร่ก็ขายไปหมดแล้ว ไม่สามารถกลับไปดำรงชีวิตแบบเดิมได้ เพราะมาทำโฮมสเตย์ ซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มาให้นักท่องเที่ยว ซึ่งมันจะเสียดุลเรื่องการทำตลาดด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน

การท่องเที่ยวโดยชุมชน แตกต่างจากการทำการตลาดในแบบ Mass ต้องเป็นไปเพื่อความพอดีของชุมชนตนเอง ไม่ใช่ปรนเปรอนักท่องเที่ยวหมด คุณค่าของชุมชนก็จะหายไป เสน่ห์ของการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็จะขาดไป

ที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานพอเพียง ต้องยืนได้ด้วยตัวเองเป็นหลัก



ด้านตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ดร.ชูวิทย์ บอกว่า “ตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะเป็นเทรนด์ที่นักท่องเที่ยวต้องการหาประสบการณ์ที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร นั่นคือเสน่ห์ของชุมชน

ซึ่งการท่องเที่ยวในชุมชน ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งกลุ่มครอบครัว กลุ่ม Gen Y กลุ่มผู้หญิงทำงานที่เที่ยวกันเป็นก๊วน  และสิ่งที่เราค้นพบคือตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดยุโรปจะชื่นชอบมาก เดินทางเข้ามาสัมผัสกับวิถีที่แท้จริง เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับท้องถิ่น ได้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกาย อาหาร ได้เรียนรู้

จากที่เราทำงานกับททท.และจับคู่ธุรกิจกับบริษัทนำเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะตลาดยุโรปเป็นหลัก เอเชียคือ ญี่ปุ่น

“เทรนด์เกิดขึ้นแล้ว .... พี่น้องชุมชนต้องเรียนรู้ในการบริหารจัดการ เรียนรู้ที่จะทำการท่องเที่ยวชุมชนแบบพอเพียง 

เป้าหมายสูงสุดของอพท. คือเรื่องความสุขเป็นหลัก ครอบครัวอบอุ่น เศรษฐกิจเข้มแข็ง สิ่งแวดล้อม ความภาคภูมิใจต่อชุมชน  ....ความสุขต้องเกิดขึ้นโดยทั้งชุมชนและทั้งนักท่องเที่ยว จะก่อให้เกิดความยั่งยืน” ดร.ชูวิทย์ กล่าวท้ายสุด