กรมฝนหลวงฯ เยือนอินโดฯ เดินหน้าพัฒนาเทคโนฯ เพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนของไทย

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะศูนย์กลางด้านการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน เดินทางไปติดตามการนำเทคโนโลยีฝนหลวงไปใช้ในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำฝน ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2561 เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำฝนของไทย




วันที่ 1 กันยายน 2561 เวลา 09.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2561 (ASEAN Workshop on Weather Modification 2018) ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO)


ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน และตกลงในการทำโครงการวิจัยร่วมกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการดัดแปรสภาพอากาศและเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำฝนด้วยนั้น สาธารณรัฐอินโดนีเซียซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกภูมิภาคอาเซียน จึงได้เชิญกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในนามตัวแทนของประเทศไทยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีการทำฝนกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย









โดยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับเกียรติจาก Dr. Hammam Riza Deputy of Natural Resources and Development Technology, BPPT. อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาเทคโนโลยี ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ และ Dr. Tri Handoko Seto ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศ (National Laboratory for Weather Modification Technology : BPPT) กรุงจาการ์ตา 

โดยได้นำเสนอเทคโนโลยีการทำฝนของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้แก่ เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่อากาศ (Ground Based Generator) การทำฝนโดยใช้พลุสารดูดความชื้น (แคลเซียมคลอไรด์) และเทคนิคการโปรยสาร จากที่เคยได้มาศึกษาที่ประเทศไทย ซึ่งทางอินโดนีเซียได้นำไปปรับใช้ประโยชน์ในการเพิ่มปริมาณฝนเพื่อการชลประทานการสร้างไฟฟ้าพลังน้ำ การแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน และการลดปริมาณฝนในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย 




โอกาสนี้ คณะเจ้าหน้าที่จากกรมฝนหลวงและการบินเกษตรและสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ตา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนการดัดแปรสภาพอากาศ และลงพื้นที่ศึกษาเทคโนโลยีเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่อากาศ Ground Based Generator และการทำฝนโดยใช้พลุสาร ดูดความชื้น 

ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีความเห็นว่า เทคโนโลยี Ground Based Generator สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่ค่อนข้างสูงและอับฝนของประเทศไทย โดยจะทำการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อนำไปทดลองใช้กับพื้นที่ลักษณะข้างต้น 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ทำให้ได้ทราบว่า การทำฝนของทางอินโดนีเซียเป็นการดำเนินงานโดยหน่วยงานที่ทำฝนโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการว่าจ้างจากหน่วยงานที่มีความต้องการฝนเพื่อใช้ประโยชน์ ในด้านต่าง ๆ และคิดอัตราการดำเนินงานด้วยงบประมาณ 400,000 – 500,000 บาทต่อวัน 

ทั้งนี้ ประเทศไทยและอินโดนีเซีย จะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องความร่วมมือทั้งของสองประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย และกระทรวงเกษตรของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันยังเป็นการปฏิบัติตามกรอบการประชุม ASEAN Workshop on Weather Modification ที่จะมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีงานวิจัย มีโครงการวิจัยร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย