ผู้พิทักษ์… สิ่งมหัศจรรย์จากชีวิตเล็ก ๆ “กุ้งเดินขบวน” ณ บ้านน้ำยืน

วาสนา ไหมพรหม 

นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า อุบลราชธานี

ระหว่างวันที่ 1- 30 กันยายน ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นช่วงเทศกาลการชม “กุ้งเดินขบวน” ณ ป่าต้นน้ำ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า แก่งลำดวน จังหวัดอุบลราชธานี โดยเป็นช่วงฤดูฝน กับปรากฎการณ์ธรรมชาติ จากความมหัศจรรย์ของชีวิตเล็ก ๆ จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนไกลปืนเที่ยงอย่าง บ้านน้ำยืน ก่อให้เกิดความรักษ์ ความหวงแหนต่อพื้นถิ่น จวบจนปัจจุบัน

หนึ่งในหัวเรือสำคัญที่พาชุมชนให้เห็นถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ คุณวาสนา ไหมพรหม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า จ.อุบลราชธานี เรามารู้จักกับพื้นที่แห่งความมหัศจรรย์นี้เลย 



ที่มาของการเปิดศูนย์ฯ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ 

หลังจากการร่วมกิจกรรมเปิดหมู่บ้าน  OTOP เพื่อการท่องเที่ยว  (OTOP Village) 8 เส้นทาง ครบ 10 หมู่บ้าน โดยคุณมงคล ปัตลา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี คุณสมชัย บูรณะ นายอำเภอน้ำยืน หน่วยงานราชการและ ชาวบ้าน บ้านโนนสูง บ้านหนองขอน บ้านหนองขอนพัฒนา ร่วมงาน โดยจัดขึ้น ณ บริเวณ แก่งลำดวน อันเป็นจุดเดียวกับการ จัดเทศกาลปรากฎการณ์ธรรมชาติ กุ้งเดินขบวน

วันนี้กองบก. สำนักข่าว บีทริปนิวส์ จึงได้รับโอกาสในการร่วมสนทนาถึงที่มา ที่ไปของ กุ้งเดินขบวน แห่งอำเภอน้ำยืน มาฝากกัน

คุณวาสนา หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า เล่าว่า หน่วยงานนี้อยู่ในพื้นที่ศูนย์รักษาพันธ์สัตว์ป่ายอดโดม อ.น้ำยืน ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เมือง จ. อุบลราชธานีไปทางทิศใต้สุด ประมาณ 110 กิโลเมตร โดยนโยบายของกรมป่าไม้ในสมัยนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2538 อยากให้มีหน่วยงานที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ปลูกจิตสำนึกคน ด้านอนุรักษ์ที่มีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่โดยให้เด็กนักเรียนมา

สมัยก่อนเรื่องปรากฎการณ์ธรรมชาติ กุ้งเดินขบวน เป็นวิถีของสัตว์ชนิดนี้มานานมาก ตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เมื่อเห็นกุ้งขึ้นมาเดินบนโขดหินกัน ก็จะพากันนำมาทำเป็นอาหาร  เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน  

จนกระทั่งปี 2540  อดีตหัวหน้าศูนย์ฯ ท่านได้มาเห็นกุ้งเดินขบวน รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา ควรมีการประชาสัมพันธ์และอนุรักษ์สิ่งที่เป็นธรรมชาตินี้ไว้ และส่งเสริมให้คนมาเที่ยวชม แบบมีจิตสำนึกด้านอนุรักษ์ เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าต้นน้ำ

เหตุใดจึงมีกุ้งเดินขบวน



หัวหน้าศูนย์ ฯ เล่าต่อว่า “กุ้งเดินขบวน เป็นปกติวิถีชีวิตเขา ด้วยในฤดูฝนแก่งลำดวนน้ำจะไหลเชี่ยวมาก ปกติจะว่ายทวนน้ำขึ้นมา แต่พอถึงช่วงแก่งลำดวนนี้ ด้วยกระแสน้ำที่เชี่ยวมากทำให้เขาว่ายไม่ไหว จึงขึ้นมาเดินริมโขดหิน เป็นความชาญฉลาดของกุ้งที่หลบเลี่ยงกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เลาะเดินโขดหินข้างๆ แก่งน้ำ

และเมื่อเลยช่วงกระแสน้ำเชี่ยวเขาก็ลงว่ายทวนน้ำขึ้นไปเรื่อย ๆ ไปยังป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งแหล่งอาหารและปลอดภัยจากศัตรู เพื่อวางไข่ และผสมพันธ์ แล้วก็วนเวียนลงมาด้านล่าง เป็นวัฏจักรชีวิต หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จึงกลายเป็นความมหัศจรรย์ที่ทำให้เราได้เห็น”

“วงจรชีวิตกุ้งสามารถผสมพันธ์หลายรอบ โดยถ้ากุ้งตัวโตเขาสามารถสู้กับกระแสน้ำได้ก็ไม่ขึ้นมาเดินตามโขดหิน แต่ว่าถ้าเป็นกุ้งวัยรุ่นที่พร้อมจะผสมพันธ์เขาก็ขึ้นมา เพราะอ่อนประสบการณ์ในการสู้กับธรรมชาติ เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติ ตัวไหนแข็งแรงที่สุดก็จะอยู่รอดได้ ตัวโตเขารู้แล้วว่าอยู่อย่างไรถึงจะปลอดภัย แต่กุ้งวัยรุ่นเขาจะอ่อนประสบการณ์ในการว่ายทวนน้ำเขาก็จะเดินเลาะๆตามโขดหิน ไม่ทวนกระแสน้ำในช่วงน้ำเชี่ยวกราก” หัวหน้ากล่าว

...ภัยที่สำคัญของกุ้ง ตายครั้งละเยอะๆ ก็จากฝีมือมนุษย์ กอบกันไปเลย ถือเป็นมือวางอันดับหนึ่ง ถ้าในธรรมชาติด้วยกันก็จะมีงูน้ำ แมงมุม แต่เขากินอิ่มก็พอแล้ว ไม่มีผลต่อกุ้งที่เดินขบวน

ในช่วงแรกมีปัญหาบ้างเพราะถือเป็นปกติวิถีของชาวบ้าน เมื่อเรามาอนุรักษ์มาเปลี่ยนแปลงบางคนก็รู้สึกไม่เห็นด้วยในช่วงแรก แต่เมื่อเราแสดงให้เห็นว่า เราอนุรักษ์เพื่ออะไร เชื่อมโยงสู่การกินดีอยู่ดีของเขาได้อย่างไร เราก็พยายามทำให้เห็น ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านรับรู้และหวงแหนพื้นถิ่นของเขาแล้ว



ประติมากรรมกุ้งเดินขบวน การรวมใจของชุมชน 

บริเวณแก่งลำดวน แห่งนี้ เป็นสถานที่ที่น้ำตกลำโดมใหญ่ ไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ถือเป็นป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญ โดยไหลลงสู่หมู่บ้าน หล่อเลี้ยงชุมชนในหลายหมู่บ้าน และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำมูล

....ที่นี่เป็นต้นน้ำ มีความสะอาดบริสุทธิ์ เพราะยังไม่ผ่านชุมชนใด ๆ ทำให้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่กุ้งจำนวนมากมาย ว่ายทวนน้ำขึ้นมาหาแหล่งบริสุทธิ์เพื่อที่จะวางไข่

เราก็ประชาสัมพันธ์ถึง ความสำคัญของต้นน้ำแห่งนี้ และประชาสัมพันธ์ ถึง กุ้งเดินขบวน จนกระทั่งเป็นที่รู้จักทั่วไป แต่มาบูมจริงๆ คือ มีช่องทางการสื่อสารในโลกโซเชียล ปี 2556 เมื่อก่อนแก่งลำดวนเป็นที่ท่องเที่ยวเหมือนกับยังไม่ปลอดภัย อยู่ลึก และไม่มีการพัฒนา คนที่มาเที่ยวก็จะดูเหมือนกับว่าไม่ปลอดภัย ซึ่ง ณ ตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกันมาก

ด้านประติมากรรมกุ้งเดินขบวน หัวหน้าศูนย์ ฯ เล่าให้ฟังว่า การก่อสร้างประติมากรรม ก็เนื่องด้วย กุ้งเดินขบวน ปรากฎการณ์จะมีอยู่เพียง 1 ปี ชมได้แค่ 2 เดือนในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่สิงหาคมถึงกันยายน แต่อาจจะเลยไปถึงตุลาคมบ้าง นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในช่วงเวลาอื่นเขาไม่เจอ อีกทั้งการชมกุ้งเดินขบวนนั้น กุ้งจะเดินในช่วงกลางคืน ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาในช่วงกลางวันจะไม่เห็น จึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างสัญลักษณ์เพื่อเป็นตัวแทน มาไม่เสียเที่ยว สามารถถ่ายรูปเป็นสัญลักษณ์ด้วย

การก่อสร้างประติมากรรมกุ้งเดินขบวน จึงเริ่มขึ้นในปี 2556 เป็นความร่วมมือของประชาชนในอำเภอน้ำยืน โดยใช้การบริจาคร่วมมือร่วมใจกันไม่ใช่งบประมาณของรัฐเลยสักบาทเดียว ถือเป็นแลนด์มาร์คของอำเภอน้ำยืน



การดูแลนักท่องเที่ยว 

หัวหน้าศูนย์ ฯ ย้ำถึงการดูแล ทั้งวิถีกุ้ง และ นักท่องเที่ยวว่า  “ในช่วงเทศกาลกุ้งเดินขบวนในตอนกลางคืน ความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น เพราะต้องลงไปดูข้างล่างและเป็นช่วงฤดูฝนด้วย ถ้าไม่ใช่ฤดูฝนกุ้งก็ไม่ออกมาเดินก็จะอยู่ในน้ำ เพราะฉะนั้นในช่วงเทศกาลกุ้งเดินขบวน ระหว่างวันที่ 1-30 กันยายน จะมีเจ้าหน้าที่ที่จะคอยดูแลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว บรรยายให้ความรู้และรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงสี่ทุ่ม หลังจากนั้นจะไม่ให้ไปรบกวนธรรมชาติ

เพราะเวลาส่องไฟนั้นจะไปรบกวนเขา เขาก็จะค่อยๆ ลงน้ำ ต้องทิ้งช่วงในการชม เราไม่จัดการพื้นที่โดยการต่อหลอดไฟไปถึงข้างล่าง ถ้าสะดวกแบบนั้นไฟจะสว่าง เสียงดังก็ไม่ได้ การชมจึงเป็นการแอบซุ่มดูกัน เป็นช่วงเวลา นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามกฎของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด จุดไหนที่ให้ชมได้ ต้องมีเจ้าหน้าที่นำไปในทุกครั้ง ถ้าไปเองนักท่องเที่ยวจะไม่ปลอดภัย

เที่ยวชมอย่างปลอดภัย

หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวว่า ระหว่างช่วงเทศกาล กุ้งเดินขบวน จะมีเจ้าหน้าที่รองรับนักท่องเที่ยวที่ศูนย์ฯ จำนวน  10 กว่าคน พอเพียงกับการรองรับนักท่องเที่ยว  แต่ยกเว้นในบางวันที่นักท่องเที่ยวมาเยอะมาก ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

ในการจัดการนักท่องเที่ยวสามารถลงไปเยี่ยมชมได้คราวละ  20- 30 คน แต่เวลานักท่องเที่ยวมาเยอะๆ อยากลงไปดูมาก เขาลงไปดูเลยโดยที่เจ้าหน้าที่เราก็ตั้งรับไม่ทัน ก็ต้องให้เขาลงไป เดินทางมาไกล มีเวลาจำกัด ยืดหยุ่น

ถ้ามาไม่ต้องติดต่อล่วงหน้า แต่ต้องมา 1-30 กันยายน สามารถสอบถามได้ว่าช่วงวันนี้หรือพรุ่งนี้มาเดินเยอะหรือยัง ทางเจ้าหน้าที่สามารถตอบได้ แต่ถ้าถามว่าจำนวนมาก น้อยเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งผู้ที่มาเข้าชม ต้องทำความเข้าใจกับปรากฎการณ์ธรรมชาติ นี้ สามารถสอบถามได้ในเวลาราชการ โทร

045 410040”

 

การเปลี่ยนแปลงในชุมชน

ปัจจุบัน ชาวบ้านในชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญแล้วว่า เมื่ออนุรักษ์แล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง เช่น คนเริ่มเข้ามา จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ตัวอำเภอก็จะเห็นว่า โรงแรม รีสอร์ทเยอะขึ้น และช่วงที่ไม่มีกุ้งเดินขบวน เวลาอื่นที่แก่งลำดวนก็มาพักผ่อนหย่อนใจได้

ด้านผลิตภัณฑ์ หน่วยงานของศูนย์ฯ เน้นเป็นด้านสื่อ โมเดล กุ้ง ชนิดกุ้งต่าง ๆ วงจร ชีวิต ของกุ้งที่เดินขบวน เพราะบทบาทภาระหน้าที่ของเราคือปลูกจิตสำนึก เราจึงต้องร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เช่นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นี้ ก็มีทางพัฒนาชุมชน เข้ามาให้การเสริม ช่วยเหลือกัน

สำหรับนักท่องเที่ยว เมื่อมาถึงอำเภอน้ำยืนแล้ว นอกเหนือจากแก่งลำดวน ยังมี บ้านหนองครก หนองแวง ก็จะมีกล้วยไม้ป่าจำหน่าย ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อตามกฎหมาย ห่างจากศูนย์ฯ นี้ไม่ถึง 10 กิโลเมตร โดยกล้วยไม้มีหลากหลาย เพชรหึงส์ ช้างกระ

“ฝากนักท่องเที่ยว เมื่อมาชมปรากฏการณ์กุ้งเดินขบวน กุ้งจะเซนซิทีฟต่อการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นการมาชมถือว่าเรามารบกวนเขา ก็อยากฝากให้เข้ามาชมในแบบของนักอนุรักษ์ มืออย่าสัมผัส อย่าทำความเสียหายเพราะเขาบอบบางมาก อีกเรื่องคือขยะในพื้นที่ เรารณรงค์เรื่องการลดปริมาณขยะและโฟม อยากให้นักท่องเที่ยวช่วยกัน”

“ขอเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมปรากฎการณ์ที่หนึ่งปี ชมได้ช่วงเดียวเท่านั้น เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ แต่ถ้าเรารู้ภารกิจของเขาแล้ว ยิ่งใหญ่มากและเป็นความลับทางธรรมชาติที่อยากให้ทุกท่านได้เข้ามาค้นหาด้วยตัวเอง แล้วคุณจะหลงรักน้ำยืน รักป่าต้นน้ำแห่งเขายอดโดมแห่งนี้”