สค. รับหนังสือจากคู่รักที่แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด กรณีถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องรับรอง ชั้น 3 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รับมอบหนังสือคำร้องจาก นายไอลวิน ประหา และนายยิ่งรัก อาดิธนากรณ์ ซึ่งเป็นคู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาเป็นระยะเวลา 5 ปีเศษ และมีความประสงค์จะจดทะเบียนสมรส แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่กระบวนการยื่นคำร้อง ทำให้ทั้งสองคนรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ


นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ตามที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 เพื่อให้เป็นกฎหมายในการคุ้มครองและป้องกันสิทธิ ให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ทำให้เห็นว่าระยะหลังนี้ มีผู้มาติดต่อขอยื่นหนังสือกรณีถูกเลือกปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกีดกันไม่รับสมัครงาน การถูกกีดกันไม่ให้เข้าใช้สถานบริการ การถูกห้ามไม่ให้แต่งกายตามเพศสภาพในการเข้าเรียน รวมทั้ง การเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เป็นต้น
 

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกรณีนี้ ทั้งสองคนต้องการให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 และกฎกระทรวง/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สิทธิแก่บุคคลที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันเช่นเดียวกับบุคคลที่เป็นคู่รักต่างเพศ ทั้งยังต้องการให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บรรพ 5 ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติเรื่องเพศในการจดทะเบียนสมรส และต้องการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตโดยประสงค์ให้ทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดัน เนื่องจาก ทั้งคู่รู้สึกว่าได้รับความเสียหายในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กรณีที่บุคคลข้ามเพศต้องการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่ไม่สามารถขอจดทะเบียนสมรสได้ 
 

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อความบางส่วนในหนังสือที่ยื่น ได้มีแผ่นเอกสารที่ระบุถึง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ผู้ร้องได้รับหรือจะได้รับความเสียหายในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการยื่นคำร้องจดทะเบียนสมรส ซึ่งทั้งคู่ได้เขียนคำร้องขอจดทะเบียนสมรส (แบบคร.1) และยื่นต่อเจ้าหน้าที่พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของทั้งสองคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สอบถามข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น บรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ มีบุตรแล้วหรือไม่ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมากี่ปี เป็นต้น และจดบันทึกลงในแบบสอบถาม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบบัตรประชาชนเพื่อพิมพ์ข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์



ปรากฏว่าเมื่อเจ้าหน้าที่เห็นคำนำหน้านามในบัตรประชาชนของทั้งสองคน เจ้าหน้าที่ได้ฉีกแบบสอบถามดังกล่าวทิ้งต่อหน้าทั้งสองคน ทั้งยังสอบถามว่าต้องการให้กรอกข้อมูลของคนใดเป็นเพศชายและคนใดเป็นเพศหญิง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าไม่สามารถบันทึกข้อมูลตามแบบ คร. 1 ที่ในระบบคอมพิวเตอร์ได้ เนื่องจากระบบจะรับคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อผู้ยื่นคำร้องฝ่ายหญิงมีค่ารหัสเพศเป็นหญิงเท่านั้น แต่ทั้งสองคนมีค่ารหัสเป็นเพศชาย ผู้ร้องได้เห็นว่าระบบขึ้นข้อมูลความเห็นว่า “ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 มาตรา 1448 คู่สมรสไม่มีคุณสมบัติ จึงดำเนินการให้มิได้” จึงทำให้ทั้งสองคนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ เนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้เพราะถูกปฏิเสธจากระบบคำร้องขอจดทะเบียน (แบบ คร. 1) อันเนื่องมาจากหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 มาตรา 1448 พระราชบัญญัติครอบครัว พ.ศ. 2478 ข้อ 3 อันเป็นการตัดโอกาสในการได้รับการพิจารณาอนุญาตให้จดทะเบียนสมรสเหมือนคู่สมรสคู่อื่น ๆ ที่เป็นเพศหญิงและเพศชายโดยกำเนิด ซึ่งควรเป็นสิทธิที่บุคคลทุกคนควรจะได้รับ 
 

“หนังสือฉบับนี้ทาง สค. จะมอบให้แก่คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) พิจารณาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย