วช.จับมือกองทัพบก เดินหน้าพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มพลังชุมชน

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งหวังให้ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการ การดำเนินงานทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับภาคประชาชนและความเข้มแข็งของชุมชน 

โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างให้เกิดพลังชุมชน สู่การอยู่ดีกินดี มีอาชีพ มีรายได้และมีความพอเพียง เป็นฐานพลังที่จะสร้างความยั่งยืนโดยการใช้องค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมเป็นต้นทุนทางเทคโนโลยีที่จะสร้างมูลค่าพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการให้ประชาชนและชุมชนมีรายได้สูงขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างพอเพียงและพอดีกับความต้องการภาคประชาชนในแต่ละชุมชนอย่างเข้มแข็งได้ต่อไป

  

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยและการบริหารจัดการผลงานวิจัย ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการในภาพรวมของการขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในมิติการพัฒนาเชิงพื้นที่ 

วช. จึงได้พิจารณาองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนและมีความพร้อมต่อการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการส่งเสริม การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยการน้อมนำแนวทางพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาตามนโยบายรัฐ เป็นแนวทางในการบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับกองทัพบก ในฐานะหน่วยงานประสานงานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีศูนย์การเรียนรู้ฯครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อความสุข โดยการมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่โดยรอบศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่มีอยู่ใน 4 ภูมิภาค 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการขยายผลองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนโดยรอบ ในความดูแลของศูนย์ฯ เพื่อแก้ไขปัญหาพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมกองทัพบก จึงได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกับการใช้องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับชุมชนและพื้นที่

โดยกองทัพบกในฐานะหน่วยงานประสานศูนย์การเรียนรู้ฯ และวช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย และบริหารจัดการผลงานวิจัย ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกองทัพบก และ วช. : พอเพียงเพิ่มพลังชุมชน มั่นคงด้วยวิจัยและนวัตกรรม (ขยายผลองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม สู่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง) ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือโดยมี พลเอกธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก และศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมลงนาม ณ กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ได้มีการนำผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนมาจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ การจัดการองค์ความรู้งานวิจัยนมแพะครบวงจร เพื่อการใช้ประโยชน์ในชุมชน และสังคมตามแนวพระราชดำริของชุมชนอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของพริกแห้งของไทยและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพริก และการจัดการความรู้การผลิตแป้งกล้วยและผลิตภัณฑ์จากกล้วยและแป้งกล้วย และโครงการเส้นใยป่านศรนารายณ์ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น 

โดยแต่ละตัวอย่างผลงานวิจัย ทาง วช.ได้เข้ามาขับเคลื่อนและสนับสนุนทั้งในแง่ของงบประมาณ ความรู้ รวมทั้งการลงไปยังพื้นที่ประสบปัญหาเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่เข้าไปพัฒนาหรือนำมาคิดค้นใหม่ ซึ่งทั้งหมดจะเข้าไปเติมเต็มศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในทุกภูมิภาคด้วยความครอบคลุม อันจะนำมาสู่การพัฒนาที่ฐานราก เสริมสร้างคุณภาพชีวิต และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างพอเพียง



ผศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล หัวหน้าโครงการการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของพริกแห้งของไทย กล่าวว่า แต่เดิมพริกไทยมักประสบปัญหาเรื่องของเชื้อรา แต่เมื่อเรานำพริก อาทิ พริกชี้ฟ้าเข้าสู่กระบวนการล้าง อบแห้ง สามารถคงสภาพพริกให้มีอายุการใช้งานได้มากขึ้น ที่สำคัญนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะ น้ำพริก ปัจจุบันความรู้ดังกล่าวถูกนำมาต่อยอดในหลากหลายชุมชนทั้งจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี ตลอดจนเตรียมพร้อมสู่การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย พริกถือเป็นหนึ่งเครื่องปรุงที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างกว้างขวาง โดยงานวิจัยนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี

ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร เจ้าของโครงการเส้นใยป่านศรนารายณ์ในเชิงพาณิชย์ กล่าวว่า ชิ้นงานวิจัยชิ้นนี้เป็นกระบวนการปรับเส้นใยให้มีความนุ่มจากเยื้อจากธรรมชาติของป่านศรนารายณ์จนกลายเป็นสินค้า อาทิ เครื่องประดับ รองเท้า กระเป๋า หมวกและเข็มขัด โดยระยะแรกพบว่าชาวบ้านใช้สารเคมี แต่พอเราเข้าไปถ่ายทอดการย้อมสีจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น คราม ทำให้สินค้าดังกล่าวได้รับความสนใจมากขึ้น ปัจจุบันมีการพรีออเดอร์เข้ามาจากหลากหลายกลุ่มลูกค้า หนึ่งต้นแบบงานจักรสานที่ใช้ภูมิปัญญามาเพิ่มมูลค่าและก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยงานฝีมือ