พส. เตรียมจัดพิธีประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี 2561 เนื่องในงานวันปกรณ์ 62

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562) เวลา 13.30 น. ณ บริเวณโถง ชั้น 1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์การจัดจัดพิธีประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี 2561 เนื่องในงานวันปกรณ์ 62 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักสังคมสงเคราะห์ ผู้สร้างผลงานดีเด่นให้เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชน โดยกำหนดจัดงานในวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ระหว่างเวลา 09.00 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ


นางนภา กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ตระหนักถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้ความสำคัญกับการลงทุนทางสังคมมากกว่าการคุ้มครองทางสังคมแบบให้การบริการ สนับสนุนให้ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเข้ามาเป็นกลไกในการส่งเสริมสวัสดิการให้กับประชาชนจึงเกิดแนวคิด “การขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการเชิงรุกที่เน้นผลิตภาพสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Productive Welfare)” เพื่อปรับกระบวนทัศน์นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัคร ให้มีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดด้านสวัสดิการสังคมเชิงรุกและนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป




นางนภา กล่าวต่อไปว่า พส. ร่วมกับมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เห็นความสำคัญในการยกย่องเชิดชูบุคคลที่ได้สร้างผลงานดีเด่นในวงการสังคมสงเคราะห์ จึงได้ดำเนินการจัดพิธีประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นขึ้น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสดุดีและเผยแพร่เกียรติคุณของศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ ประกาศเกียรติคุณ ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ และแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ ปัจจุบันมีนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นที่ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์อาสาสมัคร และผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งสิ้น 
385 ราย 

ซึ่งในปีนี้มีนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นได้รับการคัดเลือก จำนวนทั้งสิ้น 23 ราย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1) ประเภทนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ เช่น นางบุษบา ศักรางกูร จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ลดการประทับตราและลดการตำหนิตนเอง อันนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับนับถือตนเอง 2) ประเภทผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ เช่น นายสุนทรา 
ชูสุวรรณ์ ประเมินความพร้อมของผู้ใช้บริการในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ประสานส่งกลับครอบครัว แสวงหาพื้นที่งานที่ยอมรับและให้โอกาสแก่ผู้ใช้บริการฯ 3) ประเภทนักสังคมสงเคราะห์อาสาสมัคร เช่น นางนภัสกร ธูปแก้ว ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน สตรี และผู้ด้อยโอกาส ในจังหวัดชัยนาท ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้ 


สำหรับกิจกรรมในวันดังกล่าว ประกอบด้วย การบรรยาย เรื่อง “การจัดสวัสดิการเชิงรุกที่เน้นผลิตภาพสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Productive Welfare)” โดยนางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ การอภิปรายเรื่อง “ระบบสวัสดิการสังคมไทย 4.0 กับการขับเคลื่อนงานสวัสดิการเชิงรุกที่เน้นผลิตภาพ (Productive Welfare)” โดยมุมมองจากนักวิชาการทุกภาคส่วน พร้อมชมนิทรรศการการขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการเชิงรุกที่เน้นผลิตภาพสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Productive Welfare) และนิทรรศการผลงาน
นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี 2561


ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นเกียรติในงานพิธี และงานสัมนาวิชาการ ตลอดจนร่วมแสดงความชื่นชมและยินดีกับนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นทุกท่าน ที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณ เพราะทุกท่านเปรียบเสมือน “ผู้ปิดทองหลังพระ” ที่เสียสละ อุทิตตน ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบปัญหามาโดยตลอด จนทำให้งานสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับของทุกภาคส่วนว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาคนและสังคม ซึ่งต้องขอขอบพระคุณในความร่วมมือในการทำงานของทุกท่านและทุกองค์กร นางนภา กล่าวในตอนท้าย