ชวนชม ช้อป ชิม ชิลล์ งานวิจัย กินได้ ขายได้ มหกรรมงานวิจัย 62

กลับมาอีกครั้งสำหรับงานมหกรรมอันยิ่งใหญ่ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 (Thailand Research Expo 2019)” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ร่วมกับระบบหน่วยงานวิจัยภายในประเทศจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 7 -10 เมษายน 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร 

งานเดียวที่รวบรวมสุดยอดผลงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และ ประเทศไว้มากที่สุด ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานฝีมือคนไทย ทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่น รวมถึง รุ่นใหม่ไฟแรงที่สามารถนำไปใช้ได้หรือเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ให้ผู้สนใจได้ชม ช้อป ชิม ชิลล์ กว่า 600 ผลงาน มาประชันกันมากที่สุดในงานเดียว โดยจะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 เมษายน นี้ โดยดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 เป็นเวทีระดับชาติ ที่รวบรวมผลงานวิจัยที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักวิจัยไทย ผู้เข้าชมงานทุกภาคส่วน ทุกเพศวัย ทุกสาขาอาชีพจะได้รับประโยชน์มากมาย เนื่องจากผลงานที่นำมาจัดแสดงเป็นสุดยอดผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ นำไปประยุกต์ต่อยอดได้เป็นอย่างดี และยังได้เรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการจากองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม 

ซึ่งทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของตนเองได้ อันจะเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน สังคม ประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคอีกด้วย




ไฮไลท์ส่วนหนึ่ง ที่จะนำมาแสดงในงานนี้มีแนวคิดที่น่าสนใจ ที่จะแนะนำให้สัมผัสก่อนเข้าชมงานจริง อาทิ งานวิจัย ลา คอสตูม บ้านปึก บาย มูพา (La Costume Banpuek by MUPA) รังสรรค์โดย อ.สัณห์ไชญ์ เอื้อศิลป์ คณบดีคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา เล่าถึงงานวิจัยโครงการนี้ว่า ผ้าทอบ้านปึก เป็นสินค้าประจำตำบลของบ้านปึก จ.ชลบุรี ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปี เพราะ การทอผ้านี้ชาวบ้าน บ้านปึก ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ที่มีพระราชประสงค์อยากให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมจึงส่งช่างทอผ้าหลวงมาสอนทอผ้าให้กับชาวบ้าน


“ผ้าทอบ้านปึก มีลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์มีอยู่ 2 ลาย คือ ลายไส้ปลาไหล กับ ลายนกกระทา และมักจะทอด้วยสีสันสดใส คณะทำงานจึงได้ทำการศึกษาพัฒนาใน 3 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาสีให้มีความคลาสสิค ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น จากสีสด ก็เลือกใช้สีพื้นคือ สีขาว สีดำ สีคราม ต่อมา คือ การพัฒนาลวดลาย ด้วยการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ในพื้นที่สู่การสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ ที่สามารถเล่าเรื่องให้กับผ้าทอบ้านปึกได้ และสุดท้ายคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเดิมที่ชาวบ้านเคยขายเป็นผ้าผืน ก็ได้ออกแบบดีไซน์ตัดเย็บชุดสำเร็จ ด้วยเทคนิคการตัดเย็บชั้นสูงในแบบ กูตูร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และยังเพิ่มเรื่องการพัฒนาธุรกิจให้เกิดการต่อยอดแบบยั่งยืน อีกด้วย



ในฐานะนักวิจัยต้องพยายามสร้างงานวิจัยให้ เพิ่มมูลค่า พร้อมๆกับการพัฒนาท้องถิ่นควบคู่กันไป การนำความแตกต่างในโลกแฟชั่น สู่การพัฒนาคุณค่าที่มาจากวัฒนธรรมดั้งเดิม ให้เติบโตไปด้วยกัน จะเป็นการพัฒนาที่พร้อมสู่ตลาดและเป็นการยกระดับสินค้าให้ก้าวสู่ความเป็นสากล อาชีพที่ชาวบ้านภาคภูมิใจจะก้าวสู่สากลเป็นการเปิดตลาดที่กว้างขาวเก็บเกี่ยวรายได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด สามารถเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องรอช่วงเทศกาลอีกต่อไป”






สัมผัสกับการนำเสนอผลงานวิจัย ลา คอสตูม บ้านปึก บาย มูพา ในแฟชั่นโชว์ “ลา คอสตูม บ้านปึก บาย มูพา (La Costume Banpuek by MUPA)” ซึ่งจะอวดศักยภาพบนรันเวย์ภายในงาน ด้วยเสื้อผ้า Ready to wear และ accessories ครบครัน พร้อมให้เหล่าแฟชั่นนิสต้า ได้ว๊าวรับซัมเมอร์แน่นอน

นอกจากนี้ การปรุงความงามให้กับผู้หญิง ยังเป็นอีกหนึ่งานวิจัยที่ได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุด และต้องบอกว่า ฉุดไม่อยู่เลยทีเดียว ด้วยเพราะวลีเด็ด “ผู้หญิงอย่าหยุดสวย”กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยสมุนไพร พร้อมเปิดโลกความงามให้โลกบิวตี้ได้ตะลึง และวงการสมุนไพรได้สะเทือน กับผลงานที่มีชื่อว่า “เขียงร้อยบาทสู่มะหาดร้อยล้าน: นวัตกรรมเครื่องสำอาง serum all in one ผสมสารสกัดมะหาด”









 จากรายงานการศึกษาวิจัยทั้งภายในและต่างประเทศพบว่า สารออกซีเรสเวอราทรอล (oxyresveratrol) ซึ่งเป็นสารสำคัญจากแก่นมะหาด มีสรรพคุณช่วยบำรุงผิว ต่อต้านการเกิดริ้วรอยและการเหี่ยวย่นของผิวได้ดี เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรสิเนส ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ฤทธิ์ต้านการเกิดไกลเคชั่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

โดยสถาบันวิจัยสมุนไพร จึงได้วิจัยและพัฒนาพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ต้นแบบจากสารสกัดมะหาดผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากลขึ้น โดยศึกษาวิธีการเตรียมสารสกัดมะหาดให้ได้สาร oxyresveratrol ที่มีความบริสุทธิ์สูง นำมาพัฒนาสูตรตำรับเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งพบว่าสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ serum all in one ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพทำให้ผิวขาวขึ้น ผิวเรียบเนียน ลดริ้วรอยหางตา กระชับผิว เพิ่มความยืดหยุ่น และผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ในอาสาสมัครโดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว มีคุณภาพและประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสารสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศได้กล่าวได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่สนใจในผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้เป็นอย่างดี 

รวมทั้งช่วยให้ประชาชนผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่ผ่านระบบการวิจัยสมัยใหม่ ตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญคือการได้ใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ราคาไม่แพง และสามารถสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ได้อีกด้วย ถือได้ว่า เป็นอีกงานวิจัยที่ลงจากหิ้งสู่โลกธุรกิจได้อย่างแท้จริง

อีกหนึ่งปัญหางานวิจัยที่ไม่เคยพลาด คือ การคิดค้นนวัตกรรมหรือวิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาปริมาณขยะ เป็นอีกหนึ่ง่ปัญหาที่รุนแรงของประเทศ ที่หลายฝ่ายช่วยกันหาทางแก้ไข หนึ่งในนั้นคือการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ หรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งนอกจากการลดปริมาณขยะแล้ว การร่วมมือการคัดแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บ การนำไปย่อยสลาย ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทาง 

งานวิจัยนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก “ขยะ” ทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ส่งงานวิจัย “เสวียน เทคโนโลยีชุมชนเพื่อการจัดการขยะอินทรีย์” มาอวดออร่า ในงาน โดย “เสวียน” ถูกนำมาใช้ในการส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มาตั้งแต่ปี2558 และสร้างกระแสให้การทำ “เสวียน” เป็นมหกรรมของจังหวัดเชียงราย เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 83 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2558 ภายใต้โครงการ 83 เสวียน 83 พรรษาเทิดไท้องค์ราชินี จากการลงพื้นที่สำรวจและถอดบทเรียนหมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะชุมชนของจังหวัดเชียงรายพบว่า “เสวียน” ได้มีส่วนช่วยในการจัดการขยะอินทรีย์อย่างมาก

 

 โดยชุมชนได้ออกข้อกำหนดชุมชนให้มีเสวียนอย่างน้อย 1 จุดในบริเวณบ้าน รวมถึงการติดตามการใช้ “เสวียน” เป็นเครื่องมือในการจัดการขยะอินทรีย์ จากการส่งเสริมให้มี “เสวียน” พบว่ายังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิผลการจัดการขยะอินทรีย์ และคุณภาพปุ๋ยหมักที่เป็นผลพลอยได้จากการใช้ “เสวียน” จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ เพื่อให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับการจัดการขยะอินทรีย์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดย “เสวียน” ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการส่งเสริมให้ชุมชนมีการคัดแยกขยะครัวเรือน และผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นนี้จะสนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมสังคมปลอดขยะให้กับชาวเชียงรายประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นแนวทางการจัดการขยะชุมชนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนที่สนใจนำไปปฏิบัติต่อไป

อีกหนึ่งผลงานวิจัยด้านสุขภาพ ที่วิจัยคิดค้นขึ้นเพื่อลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ ได้แก่ บียอนด์ก๊อซ (Beyond Gauze) : นวัตกรรมวัสดุตกแต่งบาดแผล ที่มีความสามารถดูดซับสูงและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียสำหรับประยุกต์ใช้ทางการแพทย์” เป็นผลงานของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี “บียอนด์ก๊อซ” เป็นนวัตกรรมวัสดุตกแต่งบาดแผลในรูปของผ้าก๊อซที่มีความสามารถในการดูดซับสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือน้ำหนอง ได้ดีกว่าผ้าก๊อซที่มีขายทั่วไปในท้องตลาดถึง 50 เท่า และยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียได้กว่า 3 ล้านเซลล์ สามารถนำ บียอนด์ก๊อซ ไปใช้กับบาดแผลได้ทุกลักษณะ เช่น แผลตัด แผลทะลุ แผลกดทับ และแผลเนื้อเน่า ด้วยเทคโนโลยีการผลิตสีเขียว (green technology) จึงทาให้ “Beyond Gauze” ปลอดภัยและมีราคาถูก เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 ไม่ได้มีแต่นิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคนไทย แต่ยังมีเวทีสัมมนาและเสวนาที่น่าสนใจอีกกว่า 100 หัวข้อ การประกวดผลงานนวัตกรรมระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา การมอบรางวัลนักวิจัย กิจกรรม Research Clinic เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องของการวิจัย และ8 การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากภาคเอกชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการในพระราชดำริ ผลงานวิจัย และภูมิปัญญาท้องถิ่น และอื่นๆ อีกมากมาย

ซัมเมอร์นี้ คนไทยต้องเคลียร์คิวให้ว่างแล้วไปชม ช้อป ชิม ชิลล์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมฝีมือคนไทยกว่า 500 ผลงาน ที่พร้อมอวด “ออร่า” อย่างยิ่งใหญ่ตลอด 4 วันเต็มแบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 7 - 10 เมษายน 2562 เวลา 09.00 – 18.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ดูรายละเอียดงานวิจัยและหัวข้อสัมมนา และลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ https://researchexpo.nrct.go.th