พส. เตรียมถอนสภาพนิคมสร้างตนเอง

วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2562เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการนายอนันต์ ดนตรีรองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการร่วมแถลงข่าวการขับเคลื่อนภารกิจกรมพัฒนาสังคมและและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในประเด็น “การเตรียมการถอนสภาพนิคมสร้างตนเอง”


นายอนันต์ กล่าวว่า นิคมสร้างตนเองเป็นสวัสดิการสังคม ซึ่งดำเนินการมาพร้อมการก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์ ปัจจุบันคือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ เป็นกุศโลบายเพื่อการพัฒนาชนบท เนื่องจากงานนิคมสร้างตนเองเป็นการพัฒนาชทบทสมบูรณ์แบบทั้งด้านการจัดรูปที่ดิน การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยอาชีพภาคการเกษตร การพัฒนาสังคม การเมือง การปกครอง สามารถรองรับนโยบายของรัฐทั้งด้านการสังคมสงเคราะห์แก่ราษฎรที่ยากไร้ ขาดแคลนที่ดินทำมาหากิน เปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นได้สร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคง นำภาคการเกษตรมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อีกต่อหนึ่ง




นายอนันต์ กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการโดยกองพัฒนาสังคมกลุ่มเป้าหมายพิเศษ รับผิดชอบงานนิคมสร้างตนเอง ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ในเขตพื้นที่ที่ได้รับการประกาศพระราชกฤษฎีกา และประกาศคณะปฏิวัติ ทั้งนี้เมื่อการจัดนิคมได้บรรลุผลตามความมุ่งหมายแล้ว ให้ประกาศสิ้นสภาพนิคมสร้างตนเอง (มาตรา 19) และคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2531 

ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประกาศสิ้นสภาพนิคมสร้างตนเองไว้ 4 ข้อ ได้แก่ (1) วางผังแปลงที่ดินและจัดคนเข้าครอบครองครบถ้วน (2) จัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (3) ประชาชนได้ตั้งเคหะสถานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานและมีรายได้เฉลี่ย ไม่น้อยกว่าเกษตรกรในท้องที่ใกล้เคียง และ (4) ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ครบถ้วน 

ซึ่งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการเพื่อเตรียมการถอนสภาพนิคมสร้างทั้ง 44 แห่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด มีการบรรจุสมาชิกเข้าอยู่อาศัยและเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน รวมทั้งพัฒนาด้านอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตของสมาชิกนิคมมาโดยตลอด รวมถึงการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ใกล้ครบถ้วนแล้ว


ปัจจุบันกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จึงได้จัดทำแผนเตรียมการถอนสภาพนิคมตนเอง 4 ระยะ ดังนี้ ระยะ ที่ 1 (7 ปี 8 แห่ง)ระยะที่ 2 (10 ปี, 9 แห่ง) ระยะที่ 3 (12 ปี, 18 แห่ง) ระยะที่ 4 (18 ปี, 8 แห่ง) เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ซึ่งจะทำให้สมาชิกนิคมสร้างตนเองสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดิน เมื่อได้รับเอกสารสิทธิ์อย่างเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้เข้าดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง นายอนันต์ กล่าวในตอนท้าย