SACICT นำภูมิปัญญาพัฒนาสู่สินค้าแฟชั่น

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวถึง โครงการเส้นทางสายผ้าทอ (Weaving Streets) ว่าโครงการนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าผ้าทอมือ ด้วยการนำผ้าทอมือของชาวบ้านและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผ้าพื้นเมือง ผ้าจากชนเผ่าชาติพันธุ์ และผ้าในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมาจากภูมิปัญญาที่มีคุณค่าและความงดงามของงานหัตถศิลป์ มาแปรรูปด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตปัจจุบัน โดยผลงานที่ผ่านการพัฒนาจะนำมาเปิดตัวและทดสอบตลาดในงาน “ฝ้ายทอใจ ครั้งที่ 12” ซึ่ง SACICT จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้

ด้าน ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและการออกแบบ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า นับว่าเป็นความท้าทายของผู้ร่วมโครงการ ซึ่งเดิมเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าทอมือ มาสู่การเป็นผู้ประกอบการที่จะต้องสร้างแบรนด์แฟชั่น ปัจจัยความสำเร็จที่มองเห็นคือโอกาสทางการตลาดของงานแฟชั่นที่มาจากงานคราฟต์ เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและกำลังอยู่ในกระแสความนิยมและสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน และจุดแข็งที่ถือเป็นจุดขายสำคัญของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้คือ ทุกคนมีตัวตนในผ้าที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของแบรนด์อยู่แล้ว มีความพร้อมในด้านแหล่งผลิตผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถพัฒนาต่อได้ด้วยมุมมองและกระบวนการคิด มองกลุ่มเป้าหมายให้ชัด รู้จัก Unique Selling Point ของตนเอง มองเทรนด์ให้ออกและนำมาออกแบบลดทอนให้เหมาะสมโดนใจตลาด รวมทั้งการตัดเย็บที่ประณีตสวยงามและสวมใส่ได้จริง

ตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการที่ร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบและตัดเย็บ ครูพิระ ประเสริฐก้านตง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 งานผ้าย้อมคราม กล่าวว่า จากที่ได้รับการอบรมเพิ่มพูนทักษะจาก SACICT อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเทคนิคการย้อม วัตถุดิบ และการสร้างเอกลักษณ์ทำให้สามารถยกระดับคุณค่าผ้าย้อมครามได้เป็นอย่างดี และในวันนี้มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการให้ SACICT ต่อยอดจากผ้าผืนนำมาสู่การแปรรูป ได้เข้ามาฝึกฝนอย่างเข้มข้น ทำให้มองเห็นภาพของแบรนด์ที่ตั้งใจทำได้ชัดขึ้น เข้ามาเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการคิด การออกแบบ เทคนิคการตัดเย็บ การตลาดและการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์เสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบัน

ปิดท้ายที่ ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 งานผ้าปะลางิง เล่าว่า เป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้ตลาดและเทรนด์แฟชั่นโลก แล้วนำมาประยุกต์เข้ากับสิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ทิ้งอัตลักษณ์ความดั้งเดิมที่เป็นจุดเด่นของเรา แต่เสริมสิ่งที่ร่วมสมัยมากขึ้น ถูกจริตผู้บริโภคมากขึ้น เช่นการใช้บล็อกปรินต์หลายขนาด ทั้งเล็กใหญ่ผสมกัน หรือการใช้ลวดลายหลากหลายแบบในผืนเดียว สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้นอกจากจะได้รับความรู้ในเรื่องการออกแบบตัดเย็บ สิ่งสำคัญคือทำให้มองเห็นภาพของตัวเองชัดขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาไปสู่การสร้างแบรนด์ได้ชัดเจนมากขึ้น