เอสซีจี จัดกิจกรรมน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายฯ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” จ.ตรัง

เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เอสซีจีได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายราชสดุดี โดยจัดกิจกรรมเพื่อสังคม อำนวยประโยชน์สุขให้ชุมชนและประชาราษฎร์ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสดังกล่าว ภายใต้โครงการ “เฉลิมราชย์ราชา” ร่วมกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายจิตอาสาทั่วประเทศ 

โดยมีการดำเนินงาน 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง” เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วน 
 กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว กิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย” เพื่อดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการในโรงพยาบาล หรือจัดหาเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ดียิ่งขึ้น 






โครงการ “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” เอสซีจีน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ตลอดจนปลายน้ำ มาเป็นแนวทางดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องกว่า 10 ปี ช่วยให้ชุมชนแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี พร้อมชวนจิตอาสามาร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยให้ชุมชนจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองได้อย่างแท้จริง และสามารถแก้ปัญหา ภัยแล้งได้ในระยะยาว





โดยจะดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้  - สร้างฝายชะลอน้ำ 10,000 ฝาย ในปี 2562 ในพื้นที่ จ.ลำปาง ระยอง สระบุรี กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราช  - สร้างสระพวงเชิงเขา และระบบแก้มลิงในพื้นที่ราบ ในพื้นที่ จ.ลำปาง สระบุรี และกาญจนบุรี 
- ปลูกต้นไม้จากภูผาสู่มหานที จำนวน 10,000 ต้น ในพื้นที่ จ.ลำปาง สระบุรี นครศรีธรรมราช และตรัง  - ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก อาทิ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด 








รวมพลังจิตอาสาทุกภาคส่วน ทำกิจกรรมรักษ์น้ำเฉลิมพระเกียรติแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ที่ จ.ตรัง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มีสาเหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งในบรรยากาศและในน้ำทะเล ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนินโญ่ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น และส่งผลกระทบต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศทั่วโลก รวมถึงการก่อให้เกิดภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานกว่าปกติทั่วประเทศ 




เอสซีจีจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายจิตอาสา จ.ตรัง จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้จากภูผาสู่มหานที มาตั้งแต่ปี 2559 โดยปลูกหญ้าทะเลไปแล้วกว่า 14,000 ต้น ในพื้นที่ 15 ไร่ และปลูกป่าชายเลนไปแล้วกว่า 1,400 ต้น ในพื้นที่ 15 ไร่ ตลอดจนการวางบ้านปลาที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดยได้วางบ้านปลาในพื้นที่คลองลัดเจ้าไหมไปแล้วจำนวนรวม 320 หลัง สำหรับกิจกรรม “เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ” ที่ จ.ตรัง ครั้งนี้จะปลูกหญ้าทะเล 2,000 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ และปลูกป่าโกงกางอีก 300 ต้น ในพื้นที่ 2 ไร่ และวางบ้านปลาจำนวน 20 หลัง ที่ชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนอันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภัยแล้งทั่วประเทศ 









หญ้าทะเล องค์ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ของชุมชน หญ้าทะเล เป็นผู้ผลิตที่สำคัญในระบบนิเวศวิทยาทางทะเลในลำดับต้นๆ เช่นเดียวกับแพลงค์ตอนพืช สาหร่ายทะเล รวมทั้งป่าชายเลน เนื่องจากเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความหนาแน่น มีปริมาณมาก การกักเก็บคาร์บอนในระบบนิเวศหญ้าทะเลจะสูงกว่าระบบนิเวศป่าบกเขตร้อนถึง 50 เท่า



ดังนั้นหญ้าทะเลจึงมีความสำคัญอย่างมากในด้านการกักเก็บคาร์บอนจากธรรมชาติ โดยหญ้าทะเลสามารถช่วยตรึงคาร์บอนไดออกไซด์เก็บไว้ในรูปแบบของมวลชีวภาพผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช เช่น ราก ใบ ลำต้น และดักจับตะกอนดินที่ไหลมาจากระบบนิเวศอื่นๆ 


หญ้าทะเลนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูนแล้ว ยังมีประโยชน์สำหรับชาวประมงด้วย เพราะหญ้าทะเลจะเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นที่วางไข่ให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ถึงแม้บริเวณชายฝั่งทะเลโดยรอบบ้านมดตะนอยจะมีพื้นที่หญ้าทะเลอยู่หลายจุด แต่ก็ลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

ชุมชนจึงต้องการขยายพื้นที่การปลูกให้มากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนของหญ้าทะเล และการที่ต้องไปขอต้นหญ้าทะเลจากพื้นที่อื่นมาปลูก ชุมชน และเอสซีจีจึงร่วมกันไปศึกษาดูงานจากแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล เช่น มูลนิธิอันดามัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง แล้วนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับความรู้ที่ชุมชนมีอยู่ สร้างเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล โดยออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์เอง 

รวมถึงสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ตั้งแต่การเก็บพันธุ์หญ้าทะเล ทดลองปลูกในศูนย์เพาะพันธุ์ เพื่อเก็บเป็นองค์ความรู้ของชุมชนเอง ปัจจุบันได้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลไว้ 1,000 ต้น และมีอัตราการรอดตายระหว่างเพาะพันธุ์ 80% โดยในปี 2562 นี้มีเป้าหมายการปลูกหญ้าทะเลให้ครบ 10 ไร่ 



ป่าโกงกาง ฟื้นคืนระบบนิเวศทางทะเล กำแพงกันลมร้อนของชุมชน ป่าชายเลนหรือป่าโกงกาง เป็นอีกแหล่งที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าระบบนิเวศป่าบก เนื่องจากไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูง โดยการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบของเนื้อไม้ และมีการกักเก็บตะกอนดินที่พัดพา จึงช่วยดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้นเช่นกัน รวมถึงเพิ่มปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ 


เมื่อก่อนพื้นที่โดยรอบนี้ได้รับสัมปทานให้สามารถนำไม้โกงกางมาเผาเป็นถ่านส่งออกไปขายต่างประเทศผ่านทางเรือจากท่าเรือกันตัง จนกระทั่งปี 2537 ชุมชนบ้านมดตะนอยเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่นอกจากจะไม่เหลือไม้โกงกางแล้ว แต่ สัตว์ทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาก็เริ่มหายไปด้วยเช่นกัน 

ในขณะเดียวกัน อากาศก็ร้อนทวีความร้อนมากขึ้น ชุมชนทำความตกลงยกเลิกการประกอบอาชีพทำถ่าน แล้วเปลี่ยนมาเป็นการปลูกไม้โกงกางด้วยวิธีง่ายๆ คือ เห็นลูกไม้ตรงไหน ก็เอาไปปลูกในที่ใกล้กันเพื่อขยายพื้นที่ให้มีมากขึ้น จนปัจจุบัน มีป่าโกงกางรอบบ้านมดตะนอยประมาณ 3,000 ไร่ โดยมีป่าโกงกางที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์แบบไม่อนุญาตให้นำไปใช้สอยประมาณ 200 ไร่ และตั้งเป็นกติกาชุมชนว่า สามารถนำไม้โกางกางไปใช้สอยในครัวเรือนได้ แต่ไม่สามารถนำไปขายได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการชุมชน 


ผลจากการปลูกป่าโกงกางทำให้มีกุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มขึ้น เพราะป่าโกงกางเป็นต้นกำเนิดของสัตว์ทะเล โดยชุมชนพบเห็นกุ้งเคย (กุ้งตัวเล็กๆ ที่เอาไปทำกะปิ) และยังพบปลิงทะเลที่ไม่สามารถพบได้มาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้ง ป่าโกงกางยังช่วยดูดซับลมร้อน ซึ่งเป็นผลเชิงประจักษ์ที่ทำให้เห็นว่า ป่าโกงกางช่วยลดภาวะโลกร้อนได้จริง จนนำไปสู่การร่วมกันเพาะพันธุ์ไม้โกงกางขึ้นในชุมชน เพื่อให้มีต้นกล้าไม้โกงกางไปปลูกในพื้นที่รอบๆ ได้มากยิ่งขึ้น โดยในปี 2562 นี้มีเป้าหมายการปลูกป่าโกงกางให้ครบ 5 ไร่ 

อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างครบวงจร ส่งต่อสู่ลูกหลานอย่างยั่งยืน บ้านปลา แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืน 
เมื่อสัตว์ทะเลมีเพิ่มมากขึ้นจากการมีแหล่งเพาะพันธุ์และวางไข่ที่บริเวณหญ้าทะเลและป่าโกงกางรอบหมู่บ้าน ชุมชนบ้านมดตะนอยจึงคิดต่อยอดไปถึงการสร้างแหล่งหลบภัยและอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กเพิ่มเติมที่อยู่ในเส้นทางน้ำที่จะออกสู่ทะเล

 

นั่นคือ คลองบ้านมดตะนอย และคลองลัดเจ้าไหม จึงมีการจัดทำซั้งกอหรือบ้านปลาที่ทำมาจากก้านมะพร้าว เป็นแหล่งให้สัตว์น้ำขนาดเล็กหลบพักอาศัย แต่ด้วยวัสดุที่ทำเป็นก้านมะพร้าวที่สามารถเคลื่อนไหวไปตามกระแสน้ำได้ ทำให้ไม่คงทน ชุมชนได้หาวัสดุอื่นๆ มาทำบ้านปลาอีกหลายชนิด 

แต่ก็ไม่ตรงตามความต้องการของชุมชน จนกระทั่งปี 2559 เอสซีจีได้เข้ามาพูดคุยกับชุมชนถึงการดูแลอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล ด้วยการฟื้นฟูดูแลระบบนิเวศชายฝั่งทะเลแบบครบวงจร ที่มีทั้งการปลูกป่าโกงกาง ปลูกหญ้าทะเล และจัดทำบ้านปลา เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล จึงเกิดความร่วมมือกับชุมชนในการดำเนินการแต่ละเรื่องมาตามลำดับ โดยมีการจัดหารูปแบบบ้านปลาที่ตรงตามความต้องการของชุมชน 

รวมถึงวัสดุที่ใช้ทำบ้านปลาที่ชุมชนสามารถดำเนินการเองได้ และลงมือทดลองทำในช่วงปลายปี 2560 เกิดเป็นบ้านปลาหลังแรกที่เอสซีจีทำร่วมกับชุมชนและนำไปวางไว้ในคลองบ้านมดตะนอยและคลองลัดเจ้าไหม และทำกันอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้จัดทำบ้านปลาไปวางในคลองมดตะนอยและคลองลัดเจ้าไหมแล้ว 320 หลัง โดยในปี 2562 นี้มีเป้าหมายการวางปลาให้ครบ 400 หลัง 


บ้านปลาโดยใช้นวัตกรรมปูนคนใต้ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานและทนซัลเฟตและคลอไรด์จากน้ำทะเล ทำให้คอนกรีตมีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมแม้อยู่ใต้ท้องทะเล เมื่อวางบ้านปลาได้ประมาณ 3 เดือนจะมีเพรียงและสัตว์น้ำขนาดเล็กมาเกาะยึดบริเวณผิวของบ้านปลา ทำให้มีปลาหลายชนิดเข้ามาหลบพักอาศัย ช่วยเพิ่มพื้นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งส่งผลดีต่ออาชีพประมง ทำให้ชาวประมงสามารถทำประมงได้แม้อยู่ในช่วงหน้ามรสุม โดยไม่ต้องนำเรือออกไปในทะเลใหญ่ และยังส่งผลถึงความปลอดภัยที่มากขึ้นของชาวประมง และทำให้เกิดการประกอบอาชีพประมงอย่างยั่งยืนอีกด้วย