พม. จัดประชุมอาเซียนเรื่องวัฒนธรรมแห่งการป้องกันครั้งที่ 2

วันนี้ (13 พ.ค.62 ) เวลา 09.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดการประชุมคณะทำงานเรื่องวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน ครั้งที่ 2 (The 2nd Meeting of the Working Group on the Culture of Prevention) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 การประชุมอาเซียนที่จัดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13- 18 พฤษภาคม 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพ ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย 

โดยมีนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(ปลัด พม.) ในฐานะประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Chair of SOCA) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย คณะหัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ประธานองค์กรเฉพาะสาขาภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งสิ้นกว่า 70 คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องลานนาบอลรูม 2-3 โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่






นายปรเมธี กล่าวว่า การประชุมคณะทำงานเรื่องวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน ครั้งที่ 2 (The 2nd Meeting of the Working Group on the Culture of Prevention) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อมุ่งสู่สังคมที่มีสันติสุข ไม่แบ่งแยก มีภูมิคุ้มกัน สุขภาพดีและมีความกลมเกลียว (ASEAN Declaration on Culture of Prevention for a Peaceful, Inclusive, Resilient, Healthy and Harmonious Society) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์สำคัญที่ผู้นำอาเซียนให้การรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 เมื่อปี 2560 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการภูมิภาค


  

ด้านวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน ซึ่งประกอบด้วยแนวทาง 6 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างวัฒนธรรม การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเคารพความแตกต่างของคน การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งธรรมาภิบาลในทุกระดับ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการมีภูมิคุ้มกันและการใส่ใจต่อสภาพแวดล้อม การส่งเสริมวัฒนธรรมของการมีชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีและการส่งเสริมค่านิยมสายกลางโดยปราศจากความรุนแรง 


“การประชุมดังกล่าว เป็นความพยายามร่วมกันของอาเซียนในการมุ่งเน้นมิติในการป้องกัน (Prevention approach) ต่อสาเหตุของปัญหาทางสังคม ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมที่รุนแรง เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การใช้ความรุนแรง และแนวความคิดแบบสุดโต่ง ในภูมิภาค ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวง พม. ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายปรเมธี กล่าวในตอนท้าย