ผอ. AIC Clinic เผย “การร้อยไหม ยุค 2019”

หนึ่งในนวัตกรรมและเทคนิคเสริมความงามที่ยังคงได้รับความนิยมกันมาอย่างต่อเนื่องนั่นคือ “การร้อยไหม” (Thread Lifting) ซึ่งเป็นการเสริมความงามที่เน้นบริเวณใบหน้า เพื่อให้หน้าเรียวสวย ยกกระชับ แก้การหย่อนคล้อยโดยไม่ต้องผ่านวิธีการผ่าตัดศัลยกรรม และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจจะทำการร้อยไหมจะต้องศึกษาถึงข้อดีและข้อควรพึงระวังไว้ว่ามีอะไรบ้างก่อนการตัดสินใจเข้าทำการรักษา


โดยเรื่องนี้ นายแพทย์ พุฒิพงศ์ ภูมิสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมความงามกรุงเทพ AIC หรือ AIC Clinic ในฐานะแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ความงามว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านการร้อยไหมเกาหลีคนแรกๆในเมืองไทย และเป็นผู้เริ่มต้นเทคนิคการฉีดสารเติมเต็ม Filler HA ยุคใหม่ด้วยเข็มปลายทู่ กล่าวว่า สาเหตุหลักบนใบหน้าที่ทำให้ผู้คนต้องหันไปพึ่งวิธีเสริมหรือศัลยกรรมความงามคือ ใบหน้าเกิดการหย่อนคล้อย มีริ้วรอย เกิดเหนียง รวมทั้งใบหน้าผิดสัดส่วน ทั้งนี้เนื่องมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยจากภายนอก รวมถึงการขาดเอาใจใส่ในการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้คือ การร้อยไหม ที่ทำให้ใบหน้ากระชับ เรียวสวย ซึ่งเห็นผลเร็ว ส่วนใหญ่จะร้อยบริเวณที่เป็นกรอบหน้า ร่องแก้ม และ มุมปาก




สำหรับการร้อยไหมในยุคปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมากมาย โดยเฉพาะ “การร้อยไหมละลาย” เป็นไหมชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการเย็บผนังเส้นเลือดหัวใจ มีปฏิกิริยาการอักเสบต่อผิวหนังน้อยมาก ที่นิยมทำกันมี 2 แบบ คือ “การร้อยไหมแบบกระตุ้นผิว” เป็นไหมเป็นเส้นเล็ก ๆ เท่าเส้นผมของคนเรา เวลาทำจะใช้ประมาณ 100 เส้นขึ้นไป ซึ่งสานเป็นร่างแหเพื่อทำให้เกิดการยกกระชับของผิวหน้า ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ “การร้อยไหมแบบเกี่ยวผิว” ที่เป็นเทคนิคของยุโรปตะวันออก มีมานานกว่า 20-30 ปี โดยมีลักษณะเป็นไหมก้านใหญ่คล้ายเส้นเอ็นใหญ่แล้วมีแง่งเพื่อเกี่ยวกับผิวหน้า ใช้ข้างละประมาณ 4-6 เส้น

 โดยมีการเข้าใจว่าทำวิธีนี้เห็นผลเร็วและสามารถคงทนอยู่ได้หลายปี แต่หารู้ไม่ว่าการใช้ไหมเส้นใหญ่ชนิดมีแง่งจะมีข้อเสียตามมาคือ รอยยิ้มอาจไม่เป็นธรรมชาติ แล้วพอทำไปได้ 4-5 เดือน แง่งที่เกี่ยวกับผิวหน้าจะค่อย ๆ ละลายและหลุดออก ทำให้ผิวหน้าคลายตัวลง กลับมาหย่อนคล้อยเหมือนเดิม แพทย์จึงต้องนัดให้มาทำใหม่อีกครั้ง โดยที่แกนก้านไหมเก่าที่มีขนาดใหญ่ยังคงอยู่ เมื่อนาน ๆ เข้าจะกลายเป็นพังผืดบนผิวชั้นบน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำศัลยกรรมความงามอื่น ๆ ที่หมอจะทำได้ยากขึ้นเพราะแนวเส้นประสาทหรือเส้นเลือดจะเปลี่ยนไปจากการดึงรั้งของพังผืด 






เกี่ยวกับเรื่อง “การร้อยไหมทองคำ” ที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ นายแพทย์ พุฒิพงศ์ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีก่อน การร้อยไหมทองคำเป็นที่นิยมกันมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีความต้องการลดริ้วรอย ย้อนวัยให้ผิวกระชับอีกครั้ง แม้จะมีราคาแพงมาก แต่คิดว่า ดูดีมีรสนิยม อยู่ได้นาน ไม่ต้องทำบ่อย ไม่ต้องผ่าตัดทำศัลยกรรม โดยอาจไม่ได้มองถึงผลลบในอนาคต เช่น หากไปทำ X-ray เพื่อดูกะโหลกศีรษะ ฟัน หรือขากรรไกร แพทย์ก็จะอ่านฟิลม์ไม่ได้เพราะเส้นทองจะไปบังทำให้ฟิลม์เสีย หรืออย่างกรณีที่เป็นข่าวว่า มีคนร้อยไหมทองคำแล้วไปเข้าเครื่องตรวจวินิจฉัยอย่าง MRI ซึ่งเป็นเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะต้องถอดโลหะในร่างกายออกทั้งหมด รวมทั้งทองคำก็เป็นโลหะด้วย ไหมทองที่อยู่ในผิวหน้าจึงเหนี่ยวนำทำให้หน้าไหม้ 


“ทั้งนี้จากการศึกษาเรื่องการร้อยไหมมาอย่างจริงจัง จึงไม่แนะนำให้ร้อยไหมชนิดโลหะทุกชนิด เพราะจะเป็นผลเสียดังที่เป็นข่าว อีกทั้งเส้นไหมทองเมื่ออยู่ในใบหน้านานเข้าก็จะหักแหลกเป็นเส้นเล็ก ๆ จะเอาออกก็ไม่ได้ แล้วถ้าหากอักเสบ การรักษาก็ยากมาก อาจทำให้หน้าเป็นรอยบุ๋ม ผิดรูปทรงหรือสัดส่วนตามมาได้ นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังให้มากคือ เส้นไหมปลอม และอีกประเภทหนึ่งคือการร้อยไหมที่ไม่ละลายซึ่งจะทำให้เกิดพังผืดบริเวณใบหน้า อีกทั้งเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมสะสมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต 10-20 ปีก็อาจมีอัตรายได้ แต่ถ้าหากร้อยไหมด้วยโลหะไปแล้ว เช่น ทองคำ เป็นต้น แล้วจำเป็นต้องทำ MRI Scan ก็ต้องบอกหมอหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพราะจะได้หาวิธีหลีกเลี่ยง” 


นายแพทย์ พุฒิพงศ์ ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการจะรักษาริ้วรอยและความหย่อนคล้อยด้วยวิธีการร้อยไหมว่า ก่อนการตัดสินทำต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ๆ ไม่แนะนำให้ดูจากรีวิวที่มีอยู่เกลื่อนโซเชี่ยลมิเดีย เพราะส่วนใหญ่จะปรับแต่งเนื้อหาและรูปภาพให้เกินจริง รวมทั้งราคาที่ถูกมากจนไม่สมเหตุสมผล เพื่อเป็นการดึงดูดความน่าสนใจ ซึ่งมีผู้หลงเชื่อประสบปัญหามาแล้วหลายราย แนะนำให้เข้าไปดูงานวิจัยและผลงานของแพทย์ผู้มีประสบการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศในอินเทอร์เน็ตที่มีมากมาย แต่ก็อาจมีข้อจำกัดเพราะส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ 

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านสุขภาพของผู้ที่จะทำการร้อยไหมด้วย เช่น ห้ามผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตนเอง (SLE) และ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รวมถึงการศึกษาผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นด้วย เช่น รอยเขียวช้ำหรืออาการบวมหลังจากการรักษา เป็นต้น เมื่อเกิดความมั่นใจแล้วจึงตัดสินใจทำได้อย่างปลอดภัยและเกิดประสิทธิผล 


ขณะเดียวกันอยากฝากถึงแพทย์ความงามและบุคลากรที่เกี่ยวข้องว่า เวลาจะทำอะไรให้นึกถึงความปลอดภัยและผลประโยชน์อย่างแท้จริงที่คนไข้จะได้รับ และต้องมองถึงผลระยะยาวด้วย รวมทั้งการแก้ไขและการรักษาหากมีปัญหาในอนาคต อย่างกรณีการร้อยไหม โดยเฉพาะเส้นไหมที่ไม่ละลาย หรือละลายได้ไม่หมด ว่าหากร้อยเข้าใต้ผิวแล้ว หากเกิดปัญหาสามารถเอาออกให้คนไข้ได้อย่างปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงหรือไม่ 


“ในอนาคตการร้อยไหมก็ยังคงได้รับความนิยม โดยมีนวัตกรรมทันสมัยมาตอบโจทย์ความต้องการมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการผสมผสานกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การฉีดฟิลเลอร์ แต่คงไม่ใช่เป็นการใช้หุ่นยนต์หรือเอไอ เพราะการร้อยไหมเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ฝีมือของมนุษย์เรา เนื่องจากคนไข้แต่ละคนการรักษาจะแตกต่างกันออกไป รวมทั้งตัวแพทย์เองนอกจากต้องมีความรู้ทางด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงแล้ว ยังต้องมีความรู้ด้านศิลปะ ตลอดจนจริยธรรม คุณธรรม เคียงคู่อีกด้วย