รมว.พม. ย้ำเดินหน้า ไม่ชะลอโครงการ เพราะทุกชีวิตสำคัญเท่าเทียมกัน รอไม่ได้

วันนี้ (5 ส.ค. 62) เวลา 12.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ โดยมีนายภูมิรักษ์ ชมแสง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำหรับแนวทาง การจัดสรรงบประมาณปี 2563 ในการขับเคลื่อนงานของกระทรวง พม. อย่างมีประสิทธิภาพ ว่า กระทรวง พม. มุ่งเน้น การจัดลำดับความสำคัญของงาน และผลลัพธ์ ที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าของโครงการต่างๆ ภายใต้การพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21




นายจุติ กล่าวย้ำถึงการบูรณาการจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการประหยัดงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานสำหรับผู้รับบริการให้มากที่สุด โดยผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานจำเป็นต้องมีการประชุมทำแผนร่วมกันภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป


สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ฝ่ายค้านพยายามสกัดกั้นรัฐบาลนั้น เชื่อว่าฝ่ายค้านทุกคนมีความตั้งใจในการช่วยเหลือประชาชนเช่นเดียวกัน ซึ่งภารกิจของกระทรวง พม. ที่ดำเนินการตรงใจกับสภาผู้แทนราษฎร โดยฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบ ดังนั้น กระทรวง พม. ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และสามารถตรวจสอบได้



ในส่วนของงบประมาณที่ไม่ได้รับจัดสรร ทางกระทรวง พม. ได้ชี้แจงต่อสำนักงบประมาณว่าเนื่องจากภารกิจที่มีมาก แต่งบประมาณที่ได้รับมีจำนวนจำกัด และโครงการใดที่มีการชะลอไม่ได้เป็นโครงการก่อสร้าง แต่เป็นชีวิตมนุษย์ความเป็นความตาย ความเจ็บป่วย และความสุขความทุกข์ ซึ่งไม่สามารถรอได้เหมือนตึกอาคาร โดยขอให้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากกว่าวัตถุดิบหรือโครงสร้าง ในส่วนของกระทรวง พม. ยืนยันว่าทุกโครงการต้องมีความคุ้มค่าและมีความเร่งด่วนต่อสังคม เช่น การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน จำเป็นต้องเร่งดำเนินการยับยั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น 

ในขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขิ้นแล้ว จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงในชีวิต ด้วยการสร้างอาชีพให้สามารถดูแลตนเองได้ และเปิดโอกาสให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข “เรื่องของชีวิตมนุษย์ของทุกคนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน แต่ความเร่งด่วนของปัญหา ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ นับว่าเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการดำเนินงาน 

ดังนั้น กระทรวง พม. จะมีการใช้เงินกองทุนฯ ที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ถ้าไม่เพียงพอ ขอให้สำนักงบประมาณช่วยมาเติม และที่สำคัญ สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน คือ ใครที่มีมาก สบายแล้ว ก็ขอให้มาช่วยกันเฉลี่ยสุข เฉลี่ยทุกข์ ให้กับคนที่ยังไม่มีจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อีกเยอะเช่นกัน” นายจุติ กล่าวในตอนท้าย