ฉลอง 10 ปี อุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น สานต่อนโยบายส่งเสริมและสนับสนุน SME 2 ประเทศ

กรุงเทพฯ 28 สิงหาคม 2562 – กระทรวงอุตสาหกรรม ฉลองโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ครบ 10 ปี สานความสัมพันธ์ ความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น สร้างความร่วมมือด้านการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ 4.0 พัฒนาบุคลากร เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ และการสร้างโอกาสทางการตลาด ดึงผู้ประกอบการญี่ปุ่นลงทุนอีก 500 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท พร้อมสร้างความเชื่อมั่น ผุดมาตรการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่ ดึงนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าประเทศเพิ่ม



นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยาวนานมากว่า 130 ปี ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2562 ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับ 1 ของจำนวนโครงการ สำหรับการลงทุนต่างชาติทั้งหมด และประเทศญี่ปุ่นยังเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย ซึ่งมีมูลค่าการค้ากว่า 1.94 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย จำนวนกว่า 6,000 กิจการ



กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศเป็นอย่างมาก โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ริเริ่มพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization : JETRO) จัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น

(Japan Desk) ขึ้น และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 จากนั้นก็ได้พัฒนาและขยายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และหน่วยงานเอกชน รวมจำนวน 29 แห่ง รวมลงนาม 32 ฉบับ ซึ่งได้ดำเนินงานมาครบ 10 ปีแล้ว

โต๊ะญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการสร้างสัมพันธ์ ประสานงานการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น เกิดเป็นโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสามารถสรุปได้ดังนี้ 1) ด้านการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ 4.0 ภายใต้โครงการ Connected Industries โครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation System Integrators: LASI Project) การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ - ประเทศไทย หรือ MIE-Thailand innovation Center เป็นต้น 2) ด้านการพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานในองค์กรของประเทศญี่ปุ่น การจัดทำโครงการ Re-Skill เพิ่มพูนทักษะการทำงานในด้านการพัฒนา SMEs ทุกมิติ 3) ด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ

โดยการการจัดงาน Business Networking การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การประชุมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในลักษณะ “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” หรือ OTAGAI Forum ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นที่มีความร่วมมือจำนวน 21 แห่ง และ 4) การสร้างโอกาสทางการตลาด การจัดงาน Business Matching การพาผู้ประกอบการไปออกงานแสดงสินค้าที่ได้รับการสนับสนุนพื้นที่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

อาทิ งานแสดงสินค้านวัตกรรมขององค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) รวมถึงงานแสดงสินค้าของรัฐบาลจังหวัดต่าง ๆ อาทิ จังหวัดไซตามะ จังหวัดนากาโนะ และกรุงโตเกียว เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กสอ. ได้รวบรวมตัวเลขการลงทุนจากจังหวัดที่ได้มีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 21 จังหวัด จากทั้งหมด 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีจำนวนบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนแบบ FDI แบบ Joint Venture และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสร้างความเข้มแข็ง

ให้แก่อุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาลงทุน 2,100 บริษัท เพิ่มขึ้นอีก 500 บริษัท รวมเป็น 2,600 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท

 “กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งหวังยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 และพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย s-curve อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นที่จะต่อยอดศักยภาพและความสามารถการแข่งขันของประเทศให้มีความพร้อมตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุน รวมถึงการคิดค้นรูปแบบมาตรการการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อนักลงทุน โดยเฉพาะ นักลงทุนชาวญี่ปุ่น ทั้งนี้เชื่อว่า โต๊ะญี่ปุ่น จะเป็นกลไกที่สำคัญในการเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ในลักษณะ Win-Win ระหว่างทั้งสองประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายอัตซึชิ โตโยนากะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (SMRJ) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสที่ได้มารับตำแหน่งประธาน SMRJ คนล่าสุด ขอยืนยันและให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าสานต่อความร่วมมือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถในการส่งเสริมให้เกิดการสร้างฐานผลิตในประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศต่อไป

ด้าน นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางญี่ปุ่นเองนั้น พร้อมที่จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านวัสดุ สิ่งทอ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในโครงการ Eastern Economic Corridor หรือ โครงการ EEC ที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก