พม. เร่งเดินหน้า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” เครื่องมือพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2562 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 รวมทั้งส่งเสริมภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม 





โดยมี นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวรายงาน ทั้งนี้มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม สนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน กิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ “วิสาหกิจเพื่อสังคม รากฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” การเสวนาจากผู้มีประสบการณ์ด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม การจัดนิทรรศการและบูธแสดงผลการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมของประเทศไทย





นายจุรินทร์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาตามกระบวนทัศน์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” บูรณาการการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างมีส่วนร่วมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ถูกยกให้เป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ



ซึ่งเป็นเป้าหมายต่อเนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 193 ประเทศ ที่ร่วมลงนามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573 การส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยการสร้าง “คุณค่าร่วม” ระหว่างภาคธุรกิจ สังคม และผู้บริโภค ในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ที่เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชน สังคม









นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 โดยมีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมไปพลางก่อน พระราชบัญญัติฉบับนี้มีการกำหนดมาตรการในการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดทะเบียน จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร สิทธิประโยชน์ด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งบุคคลที่สนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรเช่นกัน











ทั้งนี้นายจุรินทร์ ได้มอบการบ้านที่สำคัญ 3 ประเด็น ให้ช่วยขับเคลื่อน Social Enterprise (SE) ดังนี้ 1) ทำอย่างไรให้ SE นำผลกำไรจากการทำธุรกิจแบ่งปันสู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าธุรกิจ CSR (Corporate Social Responsibility)
2) ทำอย่างไรที่ไม่ให้ธุรกิจทั่วไป ที่หวังแต่ผลกำไรมาแอบแฝงมาใช้ประโยชน์ จากการเป็น SE  3) ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ SE ที่ดี สามารถยืนหยัดอยู่ได้ เพื่อนำผลกำไรไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

 

นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ผลักดันและขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ ดังนี้ 1) เร่งรัดการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มกิจการเพื่อสังคมเกิดผลเป็นรูปธรรม 2) การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน เนื่องจากพบว่าภาคส่วนต่าง ๆ ยังไม่มีความเข้าใจในวิสาหกิจเพื่อสังคม 3) การส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจ



ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทาย ต้องมีการกำหนดเครื่องมือ และมาตรการการสนับสนุนให้เหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการของวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งในกฎหมายได้กำหนดให้มีการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนในระยะเริ่มแรก การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี การบริหารงานบุคคล การเงิน การตลาด เป็นต้น เพื่อทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเหล่านั้น สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ และสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้





4) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล และองค์ความรู้ด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงสถานการณ์ ทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมของประเทศไทยต่อไป ปัจจุบันมีวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการรับรองแล้วทั้งสิ้น จำนวน 103 กิจการ (กิจการเพื่อสังคมทั่วไป จำนวน 33 กิจการ และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จำนวน 70 กิจการ)







นอกจากนี้ ยังมีกิจการที่ใช้คำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ประกอบเป็นชื่อในการดำเนินกิจการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จำนวน 133 กิจการ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ครบถ้วนถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ ภายใน 180 วัน (18 พฤศจิกายน 2562)