พม.เปิดโครงการ “นครลำปาง สู่ความเป็นเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล”

รมว.พม. เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และกิจกรรม Kick off เปิดตัวโครงการ “นครลำปาง สู่ความเป็นเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ชูเป็นโครงการนำร่องขยายพื้นที่ชุมชนตัวอย่างในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ

   

   

วันนี้ (1 มิ.ย. 60) เวลา 12.00 น. ที่ห้องประชุมไอยราศุภสร สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และกิจกรรม Kick off เปิดตัวโครงการ “นครลำปาง สู่ความเป็นเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” เป็นโครงการนำร่องเพื่อขยายพื้นที่ชุมชนตัวอย่างในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชน และการขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนพิการฯ 

โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรธุรกิจ องค์กรคนพิการ องค์กรเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้แทนหน่วยงานพื้นที่นำร่องและขยายผล 7 จังหวัดภาคเหนือ และสื่อมวลชน จำนวน 300 คน

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้ง ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ อันเป็นสิทธิพื้นฐานและเครื่องหมายแสดงความเท่าเทียมของสังคม ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนที่มีความสำคัญประการหนึ่ง คือ การเข้าถึงบริการสังคมของคนพิการ 

โดยการส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วม ของคนพิการ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนพิการดำรงชีวิตอิสระร่วมกับทุกคนในสังคมอย่างมีความสุข สามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน” โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 

อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษา และเครือข่ายองค์กรคนพิการ ที่ขับเคลื่อนภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อม และระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ เพื่อวางแผนการดำเนินงานในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะที่เอื้อต่อคนพิการ ให้ครอบคลุมตั้งแต่ 1) ต้นทาง คือ บ้านและที่พักอาศัย 2) กลางทาง คือ ระบบขนส่งมวลชน ถนน ทางเดินเท้า และ 3) ปลายทาง คือ อาคารและพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สวนสาธารณะศาสนสถาน และห้างร้านต่างๆ และที่สาธารณะ ได้อย่างไม่มีอุปสรรคและเปิดกว้างให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้

   

   

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ร่วมกับจังหวัดลำปาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ขับเคลื่อนโครงการ “นครลำปาง สู่ความเป็นเมืองอารยสถาปัตย์เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องเพื่อขยายพื้นที่ชุมชนตัวอย่างในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบขนส่งมวลชน และการขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ในอาคาร สถานที่ และบริการต่างๆ รวมทั้งมีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคมอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป สอดคล้องกับกฎหมายและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ 

ทั้งนี้ เริ่มด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดลำปาง โดยมีการปรับปรุงทางลาด ที่จอดรถคนพิการ พื้นผิวต่างสัมผัส และป้ายสัญลักษณ์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำหรับจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในที่สาธารณะอื่นๆ รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน องค์กรคนพิการ ประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ ในปี 2560 ได้ส่งเสริมชุมชนปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตและการท่องเที่ยวของคนพิการ ผู้สูงอายุ และคนทุกวัย โดยนำร่องในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลเกาะคา ได้แก่ ห้องน้ำ และที่จอดรถ คนพิการ รวมทั้งมีแผนขยายการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการและผู้สูงอายุ ในเส้นทางท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัดลำปาง ภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ สถานที่บริการน้ำมัน (ปตท.) ท่าอากาศยาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร วัด ธนาคาร โรงแรม ห้างร้าน และร้านอาหาร เป็นต้น

“ขอแสดงความยินดีและชื่นชมทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันสร้างจังหวัดลำปาง เพื่อให้เป็นจังหวัดที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของทุกคน หรือชุมชนอารยสถาปัตย์ จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นับว่าเป็นโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการและดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ จากสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่างๆ โดยหวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้ชุมชนต่างๆ ได้นำไปเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงและพัฒนาในระยะยาวต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย