จังหวัดนครราชสีมา นำเสนอผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับจังหวัด ปี 2560

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.60 ที่ศูนย์การค้า Terminal21 ชั้นHall2-3 จ.นครราชสีมา นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการนำเสนอผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับจังหวัด มอบเกียรติบัตรผู้จัดเก็บ ผู้บันทึก จปฐ.ดีเด่น มอบโล่รางวัล อปท.ที่บริหารการจัดเก็บและนำข้อมูล จปฐ.ไปใช้ประโยชน์ ดีเด่น พร้อมบรรยายพิเศษนโยบายการพัฒนาจังหวัดและความสำคัญของการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาจังหวัด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร อปท. เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับ อาสาสมัครผู้จัดเก็บ ผู้บันทึกข้อมูล และสื่อมวลชน จำนวน 472 คน


นางสุนีย์ บุตรเนียร พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า ปี 2560 ทุกจังหวัดจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ทุกครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจากครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริงติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน 634,162 ครัวเรือน. รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนใน จ.นครราชสีมา 86,932 บาท/คน/ปี อ.เมืองนครราชสีมา รายได้เฉลี่ยสูงสุด 155,667 บาท/คน/ปี และ อ.เมืองยาง มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด 61,859 บาท/คน/ปี 


คุณภาพชีวิตดีของคนโคราช 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.เด็กแรกเกิดถึง 12 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฯ 2. ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปีอย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวัน 3.ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปีอย่างน้อยคนละ 45 ลิตรต่อวัน 4. ผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากคนในครัวเรือน/ชุมชน/ราชการ/เอกชน และ 5. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับการดูแลจากครัวเรือน/ชุมชน/ภาครัฐ/เอกชน 


คุณภาพชีวิตต้องได้รับการแก้ไขปัญหา 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ครัวเรือนไม่มีการเก็บออมเงิน 2. คนในครัวเรือนที่จบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ที่ไม่ได้เรียนต่อ และยังไม่มีงานทำ ไม่ได้รับการฝึกอบรมด้านอาชีพ 3. คนในครัวเรือนดื่มสุรา 4. คนในครัวเรือนสูบบุหรี่ และ 5. คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่มีอาชีพและไม่มีรายได้


นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ข้อมูลมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการทำงาน ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน ล้วนต้องการใช้ข้อมูลทั้งสิ้นเพื่อใช้ในการวางแผน แก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ข้อมูล จปฐ. ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่ต่ำกว่า 38,000 บาท/คน/ปี ให้นำมาเป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกัน ลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น