ครบรอบ 50 ปี สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ การเติบโตที่แตกต่าง

                                                                                         “..... คนเห็นว่ามือถือสะดวกใกล้ตัว ถ่ายกันสนุก แต่หลังจากที่กล้องแชร์ภาพได้เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน ทำให้กล้องกลับมาได้รับความนิยมเหมือนเดิมและกลับกลายเป็นบวก โดยเฉพาะ กล้อง Mirrorless เปลี่ยนเลนส์ได้และราคาไม่สูง...” Bussaraporn Pornpaisansak 



เมื่อไม่นานมานี้ กองบก. Btripnews มีโอกาสเข้าร่วมงานแถลงข่าว ความร่วมมือระหว่างหน่วยแพทย์จักษุศัลยกรรมฯ สภากาชาดไทยและบิ๊ก คาเมร่า เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุผู้ยากไร้ โครงการ “เปิดตาดีสู่สังคมไทยปีที่ 5” ภายใต้แนวคิด Begin Again : ภาพแห่งชีวิต...ชัดเจนอีกครั้ง “ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพได้เข้าไปมีบทบาทด้วย ภายใต้การจัดการของนายกสมาคมที่ชื่อ บุษราภรณ์ พรไพศาลศักดิ์  



.... คุณบุษราภรณ์ พรไพศาลศักดิ์  Bussaraporn Pornpaisansak นายกสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ  President เล่าให้ฟังถึงความร่วมมือของงานจิตอาสาครั้งนี้ ว่า .... เราเป็นสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพเพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะร่วมมือได้ก็อยากจะช่วยประชาสัมพันธ์ในส่วนของช่องทางการถ่ายภาพ ของทางสมาคมฯ โดยเฉพาะในงาน PHOTO FAIR    ที่หลายปีผ่านมา สมาคมฯ ร่วมมือกับ Big Camera ในการสนันสนุนพื้นที่บริเวณด้านหน้างาน เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และรับบริจาคเข้าโครงการ นอกจากนั้นยังร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ในช่องทางอื่นๆด้วย เช่น ด้านวารสาร เวปไซต์และ Facebook ของสมาคมฯ เพื่อ ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องสายตาได้มีสายตาที่กลับมาเป็นปกติ อีกครั้งหนึ่ง เพราะตาก็เกี่ยวกับการมองเห็น เกี่ยวกับการใช้งานกล้อง เกี่ยวกับวงการถ่ายภาพด้วยเช่นกัน...”

....โครงการนี้ถือเป็นเพียงหนึ่งบทบาทของผู้บริหารหญิงคนแรกของสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ นายกฯ บุษราภรณ์ ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับแนวนโยบายสมาคมฯ แนวทางการบริหารจัดการ และการเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมที่ครบรอบขวบปีหมาดๆ

 หนึ่งปีผ่านกับงานในตำแหน่งนายกสมาคมฯ 

ก่อนอื่นคงต้องมารู้จักผู้บริหารท่านนี้คร่าวๆ กันก่อน คุณบุษราภรณ์ เล่าว่า “จุดเริ่มต้นคือทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์การถ่ายภาพ เป็นแบตเตอรี่แบรนด์ OSKA ราวๆ 23 ปีมาแล้ว เกี่ยวกับแบตเตอรี่มือถือ แบตเตอรี่กล้อง จนช่วงหนึ่งกล้องบูมขึ้นมา ทางแบรนด์ OSKA จึงเข้ามาเน้นในเรื่องของแบตเตอรี่กล้อง

 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาที่สมาคมฯ โดยเข้ามาเป็นกรรมการสมาคมฯ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นกรรมการอยู่ 2 สมัย โดยสมัยที่ 23 เป็นกรรมการ สมัยที่ 24 เป็นอุปนายกสมาคมฯ และมาเป็นนายกสมาคมฯ ในสมัยที่ 25 ซึ่งเพิ่งครบหนึ่งปีไปเมื่อไม่นานมานี้”

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ เป็นนายกฯ หญิงคนแรก จะมีแนวทางในการบริหารงานอย่างไร คุณบุษราภรณ์ กล่าวว่า การที่เราเป็นผู้หญิง ส่วนที่ดีคือเรื่องของการประสานงาน เพราะกรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเป็นช่างภาพ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่ที่ความนุ่มนวล ความสุภาพ ช่วยทำให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น

หลักการบริหารงาน คือ ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด มองเห็นอะไรที่เป็นประโยชน์ก็ทำ ตั้งเป้าเอาไว้ว่าพยายามทำให้ถึงที่สุดทุกๆ อย่าง  เราบริหารองค์กร เราก็ตั้งเป้าว่าทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร เหมือนกัน เมื่อทำงานให้สมาคมฯ ก็ต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาคมฯ ภายใต้เงื่อนไขและกรอบที่มีอยู่

นโยบายหลักของการบริหารสมาคมฯ


.....ตลอดระยะเวลาในห้วงหนึ่งปีที่ผ่านมา นอกจากการสานต่องานของสมาคมฯ แล้ว ยังเพิ่มเติมกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจการถ่ายภาพก้าวสู่ยุคดิจิตอลได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางกระแสนวัตกรรมทางการถ่ายภาพที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา 

คุณบุษราภรณ์ เล่าว่า สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ ประกอบไปด้วยร้านค้าผู้ประกอบธุรกิจด้านการถ่ายภาพ สิ่งที่สมาคมฯ ส่งเสริมมี 2 ด้าน คือ ส่งเสริมด้านการถ่ายภาพและส่งเสริมด้านธุรกิจ เพราะผู้ประกอบธุรกิจร้านค้ามีอาชีพถ่ายภาพเป็นหลัก จึงส่งเสริมทั้งสองด้านไปพร้อม ๆ กัน ถือเป็นนโยบายหลักที่ทำ

และโครงการที่ตอบสนองการส่งเสริมทั้งสองสิ่งนี้คือ ด้านอาชีพถ่ายภาพ เป็นส่วนส่งเสริมด้านคุณวุฒิวิชาชีพถ่ายภาพ สร้างมาตรฐานให้ก้าวเข้าสู่ระดับฝีมืออาชีพการถ่ายภาพ หลังจากที่จัดระดับไปแล้ว ก็สามารถโยงไปตามมาตรฐานทางด้านราคา

มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจถ่ายภาพเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนา และสร้างโอกาสแก่ผู้สนใจเข้าสู่อาชีพ  สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จึงจัดทำหลักสูตรในการประเมิน โดยให้สมาคมฯ เป็นองค์กรรับรอง

นายกสมาคมฯ กล่าวต่อว่า “อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของธุรกิจ จัดโครงการการพัฒนาธุรกิจการถ่ายภาพ เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมในเรื่องของความรู้ วิชาชีพ และต่อยอดไปในเรื่องของธุรกิจ ดำเนินการสอนเรื่องการจัดแสง จัดไฟ การถ่ายรูป เช่น ถ่ายรูปในร้านค้า การจัดแสงให้ร้านค้าสามารถไปถ่ายภาพในร้านได้

อีกส่วนหนึ่งคือ ส่วนของการทำโปรแกรมแต่งภาพ โดยร่วมมือกับเพาะช่าง เขียนหลักสูตรขึ้นมา สอนให้คนเใช้โปรแกรม และแต่งภาพได้ เพื่อใช้ในธุรกิจ โดยสมาคมฯ ใช้สถานที่และขอความร่วมมือโดยทำ MOU กับทางสถาบันเพาะช่าง ที่ช่วยเขียนหลักสูตร สอน และเป็นสถานที่สอบคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจถ่ายภาพ

สำหรับคนที่มีอาชีพเกี่ยวกับการถ่ายภาพโดยเฉพาะ มีสอนการแต่งภาพ โครงการนี้จัดต่อเนื่องกัน 6 ครั้ง ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา และจะมีการเปิดรับสมัครใหม่ต่อไป”

สำหรับผู้ที่สนใจโครงการนี้ นายกสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ กล่าวว่า “ สำหรับช่องทางสมัคร สามารถดูรายละเอียดได้ทาง Facebook ของสมาคมฯ ซึ่งจะประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกได้ทราบ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสมัครได้ทั้งสมาชิก และบุคคลทั่วไปที่สนใจเรียนถ่ายภาพ

ผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมฯ ประกอบไปด้วย ร้านค้า ร้านถ่ายภาพ บริษัทห้างร้านที่เป็นนิติบุคคลที่ทำทางด้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพ ทำธุรกิจเกี่ยวกับการถ่ายภาพ

เนื่องจากว่าสมาคมฯ เห็นว่า ผู้ที่ประกอบธุรกิจถ่ายภาพ จะประกอบไปด้วยผู้ที่ถ่ายภาพด้วย เพราะฉะนั้นเวลาให้ความรู้ จะให้ความรู้ภาพรวม”



ต่อยอดเพื่อพัฒนาธุรกิจ 

คุณบุษราภรณ์ เล่าถึงโครงการว่า “เราทำโครงการควบคู่กันไป คือสอนถ่ายภาพและสอนการแต่งภาพด้วย หลังจากปิดโครงการปีที่หนึ่ง ก็มีการต่อยอด โดยกำลังจะเปิดโครงการที่สอง ใช้ชื่อโครงการพัฒนาธุรกิจการถ่ายภาพเช่นเดียวกัน

แต่โครงการที่สอง ทางสมาคมฯ มุ่งเน้นการต่อยอดจากโครงการที่หนึ่ง เช่นเดิมถ่ายภาพบุคคล ถ่ายภาพคนที่มาติดบัตรในร้าน หรือสอนเบสิค ก็จะสอนเจาะลึกไปในเรื่องการถ่ายภาพสินค้า เช่นถ่ายภาพสินค้าออนไลน์ หรือเจ้าของร้านที่อยากถ่ายภาพหน้าร้าน เพื่อประชาสัมพันธ์ร้านตนเอง หรือสามารถทำนามบัตร หรืองานกราฟฟิคต่างๆ เพื่อนำภาพสินค้านั้นลงใน facebook ก้อได้เช่นกัน

หรืออาจจะสอนถ่ายภาพอาหารเพื่อจัดทำเมนู หรือ wedding การถ่ายภาพค่อนข้างกว้าง ถ้าถ่ายภาพสินค้า สามารถรับทำแคตตาล็อคได้ ถ่ายภาพอาหารทำเมนูได้ เมื่อสอนการถ่ายภาพแล้วก็ต้องสอนเรื่องของการแต่งภาพ

เพราะเดี๋ยวนี้เครื่องปริ้นท์ราคาถูกลง เราจึงมีการสอนด้านเทคนิคการจัดรูปเล่ม เทคนิคการออกแบบ สอนด้านตกแต่งรูปภาพ ลงลึกไปถึงเรื่องการออกแบบ ทั้งเรื่อง สี และตัวอักษรจะสื่อถึงอะไร อารมณ์แบบไหน เพื่อเป็นไอเดียสำหรับการครีเอทงาน และทำให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพมีสมาชิก 2,000 คน และยังคงเปิดรับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ด้วยเพราะเป็นช่วงการครบรอบ 50 ปีของสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ ซึ่งทางสมาคมฯ เตรียมการจัดงานฉลองภายในงาน โฟโต้แฟร์ ซึ่งจะมีขึ้นที่ไบเทค บางนา นอกจากนี้ยังเตรียมจัดโครงการรณรงค์ให้น้องๆ รักการถ่ายภาพ 50 ปี 5 แบรนด์ 5 โรงเรียน

โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการถ่ายภาพมาสอน เช่น เตรียมอุดม สวนกุหลาบ สอนการถ่ายภาพให้น้องๆ ว่า การถ่ายภาพต้องมีจินตนาการ ต้องมีเป้าหมาย น่าสนใจ ในอนาคตเขาอาจจะไปประกอบอาชีพก็ได้ เขาก็จะเป็นนักถ่ายภาพที่ดี ซึ่งตรงนี้ก็มีแบรนด์ให้การสนับสนุนอยู่ เช่น นิคอน แคนนอน ฟูจิ โอลิมปัส โซนี่ เอปสัน ปัจจุบัน

 

ผลกระทบจากสมาร์ทโฟน สู่ตลาดค้ากล้อง 

สมาร์ทโฟน ในอดีต ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่หลายฝ่ายต่างคาดว่าน่าจะมาเป็นส่วนแบ่งตลาดค้ากล้อง แต่ทางนายกสมาคม ฯ มองว่า ปัจจุบันไม่มีผลกระทบแล้ว เนื่องจากประสิทธิภาพของกล้อง ทำให้ตลาดย้อนกลับมาสู่การจับจ่ายซื้อกล้องเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นหรือความสนุกในมุมมองการถ่ายภาพที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากสมาร์ทโฟนมากขึ้น โดยเฉพาะกล้องสามารถแชร์ภาพผ่านไวไฟได้ ทำให้คนหันมาเล่นกล้องมากขึ้น กลายเป็นผลบวกต่อธุรกิจการถ่ายภาพ

“..... คนเห็นว่ามือถือใกล้ตัว ถ่ายกันสนุก แต่หลังจากที่กล้องแชร์ภาพได้เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน ทำให้กล้องกลับมาได้รับความนิยมเหมือนเดิมและกลับกลายเป็นบวก โดยเฉพาะ กล้อง Mirrorless เปลี่ยนเลนส์ได้และราคาไม่สูง สามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง เรียกว่า ประสิทธิภาพในความชัดเจนของการถ่ายภาพ คุณภาพที่ดีกว่า คุณสมบัติที่ดีกว่า ทำให้คนหันกลับมาเล่นกล้องกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ทางแบรนด์กล้องต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของเทคนิคการถ่ายภาพ การสอนการใช้กล้อง มีการจัดกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มที่ส่งผลให้คนนิยมและมีความรู้ด้านการถ่ายภาพที่มีจำนวนมากขึ้น และกว้างขึ้น 

   

การปรับตัวของกลุ่มธุรกิจสู่ยุคดิจิตอล


นายกสมาคมฯ กล่าวถึงกรณีการปรับธุรกิจให้เท่าทันตลาดดิจิตอลว่า “ถ้ามองในภาพของสมาชิกของสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นร้านค้าถ่ายรูป เมื่อดิจิตอลเข้ามาคนก็ไม่อัดไม่ล้าง เราก็ต้องมองว่าเป็นเทคโนโลยี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้

สิ่งที่สำคัญคือจะต้องปรับตัวอย่างไรให้ทันเทคโนโลยี ทางสมาคมฯ จึงได้พยายามเน้นย้ำและนำเทคโนโลยีใหม่ให้ หาทักษะการเรียนรู้ใหม่ หรือมีสินค้าใหม่ หรือการบริการใหม่ๆ ที่จะมาเสริมทดแทนการอัดรูปที่ค่อยๆ น้อยลง แต่การน้อยลงไม่ใช่น้อยแล้วหายไปเลย ยังคงอยู่แต่อาจจะจากเยอะก็ลงมาเป็นโหมดที่มีรายได้จากตรงนี้น้อยลง

นั่นนำไปสู่การหาช่องทางธุรกิจอื่นเสริม เช่น ขยายไปเรื่องของการจัดทำเมนู หรือทำนามบัตร พิมพ์การ์ดแต่งงาน เรื่องของการพิมพ์ เพราะว่าราคาของการพิมพ์ลดลงสามารถปริ๊นซ์ออนดีมานซ์ได้ พิมพ์ได้น้อยลงไม่จำเป็นต้องไปสั่งโรงพิมพ์ในปริมาณที่มาก ป้ายไวนิล ร้านถ่ายภาพก็พิมพ์ได้ เราจะมีสอนด้านการออกแบบ”



งานยิ่งใหญ่ประจำปี Bangkok International PhotoFair 

ในโอกาสที่ครบรอบ 50 ปี ของสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ ในปีนี้ทางสมาคมฯ จึงเตรียมการจัดงานที่พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา

นายกสมาคมฯ กล่าวถึงการจัดงานในปลายปีนี้ว่า “คอนเซ็ปต์งาน โฟโต้แฟร์ คือ Tell your story หมายถึงว่า นอกจากกล้องจะเล่าเรื่องราวอดีตที่ผ่านมา การเก็บความประทับใจ ทั้งเหตุการณ์ต่างๆ เช่นการแต่งงาน การรับปริญญา หรือภาพถ่ายในวัยเด็ก

แต่สำหรับปีนี้  จะเป็นการบอกเล่าถึง Life Style , Passion หรือสิ่งที่คุณหลงใหล ชื่นชอบ ผ่านทางเลนส์กล้อง มีเซเลบฯ  มีบล็อกเกอร์หรืออาจารย์ มาบอกเล่าเรื่องราวการถ่ายภาพหรือสิ่งที่เขาหลงใหลในการถ่ายภาพ

ช่วงนี้อยากฝาก facebook : สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ หรือ Photo Fair Thailand จะมีข่าวสารต่างๆ อาทิ ข่าวของคนที่อยู่ในวงการถ่ายภาพ ประชาสัมพันธ์ข่าวสารของคนที่อยู่ในวงการ เกี่ยวกับการถ่ายภาพอยู่เรื่อยๆ และกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ ติดตามกิจกรรมดีดีของทางสมาคมฯ เช่นการพัฒนาธุรกิจการถ่ายภาพ สอนถ่ายภาพ ซึ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปด้วย

คุณบุษราภรณ์ กล่าวต่อว่า “ สิ่งที่เน้นสำหรับงานโฟโต้แฟร์คือ พยายามเน้นให้แบรนด์ที่มาในงานให้แสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะงานโฟโต้แฟร์ เป็นงานแสดงนวัตกรรมการถ่ายภาพ และเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปีนี้จะมีเพิ่มการอบรมสัมมนาที่ส่งเสริมอาชีพถ่ายภาพมากขึ้นซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของสมาคมฯ

มีการอัพเกรดให้เป็นงานโฟโต้แฟร์ เป็น Bangkok International Photo Fair 2017 ให้ยิ่งใหญ่ขึ้น จะขยายพื้นที่ให้มากขึ้น 50 % เดิม 10,000 ตารางเมตร เป็น 15,000 ตารางเมตร

แน่นอนจะมีแบรนด์ สินค้าที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลเพิ่มมากขึ้น  กิจกรรมต่างๆ เป็นสากลมากขึ้น มีการเชิญนักถ่ายภาพต่างชาติเข้ามา ซึ่งโดยปกติเรามีสมาคมฯ พันธมิตรที่แลกเปลี่ยนกันอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และอีกหลายประเทศ

งานโฟโต้แฟร์เป็นงานที่เป็นแหล่งรวมของผู้ที่รักการถ่ายภาพ เป็นงานที่มีมานานหลายสิบปี ประเทศอื่นเรื่องของการถ่ายภาพอยู่ในขาลง แต่ประเทศไทย ตลาดบ้านเราไม่เหมือนกับบ้านอื่นเขา คือ Mirrorless โตกว่าที่อื่น จากเทรนด์ของคนถ่ายภาพ การตกแต่งภาพ เช่น กล้องฟูจิ มีฟุ้งฟิ๊งหรือออกแบบเป็นสไตล์วินเทจ ทำให้ตลาดกล้องโดยเฉพาะMirrorless โตมาก

นายกสมาคมฯ กล่าวท้ายสุดว่า “เชื่อว่าตลาดกล้องในเมืองไทยยังโตได้อีกมาก จึงเป็นที่มาว่าเราอยากจะส่งเสริมภาพรวมและกิจกรรมของอุตสาหกรรมที่โตขึ้น จึงจัดให้มีงาน Bangkok International Photo Fair ขึ้นมา พยายามที่ให้มีแบรนด์เข้ามารวมตัวกันเยอะที่สุดและเป็นจุดแสดงนวัตกรรมการถ่ายภาพของบ้านเราให้มากที่สุด สมาคมฯ เรามองว่างานโฟโต้แฟร์เป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อคนในวงการถ่ายภาพ และจัดเพื่อให้วงการถ่ายภาพขยายวงได้กว้างขึ้น”