พาณิชย์นำผู้นำเข้ายารายใหญ่ศรีลังกาเยือนไทย ชี้ตลาดขยายตัว

นางมาลี  โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีกำหนดนำคณะผู้นำเข้าสินค้ายาแผนปัจจุบันและเครื่องมือแพทย์จากศรีลังกาเยือนไทย เพื่อเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทย ระหว่างวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2560 โดยจะนำคณะเข้าพบหารือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเยี่ยมชมโรงงานผลิตยา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานการผลิตของไทย


“ตลาดสินค้ายาของศรีลังกามีมูลค่า 460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2558 – 2559 ศรีลังกานำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้มูลค่า 164 และ 181 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ และในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) ของปี 2560 ศรีลังกานำเข้ายาและเครื่องมือแพทย์แล้วถึง 172 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ศรีลังกาสนใจนำเข้าจากไทย ได้แก่ ยารักษาโรค 

โดยเฉพาะยาที่ใช้รักษาโรคไข้เลือดออกซึ่งกำลังแพร่ระบาดในศรีลังกา โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ของศรีลังกา (State Pharmaceutical Corporation : SPC) ที่เดินทางมาครั้งนี้ พร้อมทำสัญญาซื้อขายทันทีกับผู้ผลิตของไทย นอกจากนี้สินค้าอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการเช่นกัน ได้แก่ วัคซีน ถุงมือยาง ของใช้ในโรงพยาบาล และเครื่องมือศัลยกรรมประเภทใช้แล้วทิ้ง” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว


คณะผู้นำเข้าที่เดินทางมาเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทยครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจจากหน่วยงานจัดหายาเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลของรัฐบาลศรีลังกา (SPC) ผู้บริหารจากบริษัท แอสตรอน จำกัด บริษัท นาเวสต้า ฟาร์มาซูติคัลส์ จำกัด และบริษัท ลีน่า แมนูแฟกเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และวิจัยยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชั้นนำของศรีลังกา


ศรีลังกายกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ายา ในขณะที่เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์มีอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 – 30  โดยสินค้ายาและเครื่องมือแพทย์ที่จะเข้าสู่ตลาดศรีลังกาต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของศรีลังกา (National Medical Regulatory Authority : NMRA) ก่อนจำหน่ายในศรีลังกา ซึ่งผู้นำเข้าท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตและสินค้าที่นำเข้าแทนผู้ผลิตผู้ส่งออกในต่างประเทศ


นางสาวจิตติมา นาคมโน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลศรีลังกาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด ประชาชนสามารถรับการรักษาฟรีได้ในสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งศรีลังกามีโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 601 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 221 แห่ง และศูนย์พยาบาลและร้านขายยารวมกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ


สินค้ายาและเครื่องมือแพทย์ในศรีลังกา ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยนำเข้าจากอินเดียและจีนเนื่องจากข้อได้เปรียบด้านราคา ส่วนยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงจะนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกยาและเครื่องมือแพทย์ไปยังศรีลังกาอันดับที่ 18 โดยส่งออกไปศรีลังกาในปี 2559 มูลค่า 1.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ส่งออกแล้วมูลค่าถึง 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ