“นม ไทย – เดนมาร์ค” น้ำนมหยดแรกของไทย จากน้ำพระราชหฤทัย …ขยายปีกก้าวไกลไปต่างแดน



                                     “ ....ด้วยคุณภาพมาตรฐานของนมไทย – เดนมาร์คที่ผลิตจากนมโคแท้ 100% และได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล (Halal) แล้ว จะเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น สามารถเจาะตลาดอาหารฮาลาลและมีศักยภาพการแข่งขันได้ในระยะยาวแน่นอน” 

 

 เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทีมงาน www.Btripnews.net  ได้เข้าร่วมชมกิจกรรมภายในโรงงานผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คภาคใต้(ปราณบุรี) ซึ่งตั้งอยู่ ณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นำโดย ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ( อ.ส.ค.) คุณอรนุช จิราวัฒนานุรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ คุณชัยณรงค์ เปาอินทร์ หัวหน้าสำนักงาน อ.ส.ค ภาคใต้(ปราณบุรี) พร้อมคณะผู้บริหารที่นำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอย่างครบวงจร ซึ่งนอกเหนือจากการได้เข้าชมโรงงานแล้ว ยังได้รับรู้ถึงศักยภาพและความพร้อมอันสำคัญที่จะพานมไทย – เดนมาร์ค การก้าวสู่ตลาด AEC ภายใต้การคุมบังเหียนของผู้บริหารคนปัจจุบัน 

 

ย้อนอดีตประวัติศาสตร์หน้าแรก

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นจากเดือนกันยายน ปีพุทธศักราช 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสทวีปยุโรป ในการเสด็จทรงประทับแรมอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ค ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์คเป็นอย่างมาก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ว่าด้วยการร่วมมือด้านวิชาการการเลี้ยงโคนมระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์ค

ต่อมารัฐบาลไทยได้มีการลงนามความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการกับรัฐบาลเดนมาร์ค โดยเดนมาร์คให้การช่วยเหลือเป็นเงินประมาณ 23.5 ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าเฟรเดริคที่ 9 ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย – เดนมาร์ค อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2505 ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และรัฐบาลไทยได้กำหนดให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปี เป็นวันโคนมแห่งชาติ

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผอ.อ.ส.ค. เล่าว่า “.... ปัจจุบัน ประเทศไทยผลิตน้ำนมได้ 3,100 ตันต่อวัน 45 % เข้าไปสู่โครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนของรัฐบาลที่ใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ 1,300 ล้านบาทต่อปี อ.ส.ค.ผลิต 600 ตันต่อวันคิดเป็น 20% ต้องแข่งกับบริษัทคู่แข่งที่ใช้นมผงนำเข้าจากประเทศปีละ 55,000 ตันต่อปี เมื่อมีการนำนมผงเข้ามาราคาถูกกว่าน้ำนมดิบภายในประเทศ ทางอ.ส.ค. ต้องแข่งขันผลิตภัณฑ์นมทั่วไป ซึ่งการแข่งขันรุนแรงมาก ทำให้ต้องหาช่องทางในการจำหน่ายเพื่อให้น้ำนมดิบที่รับภาระจากเกษตรกร”  

 

แนวทางการขยายสู่ตลาดเออีซี

 ผอ. อ.ส.ค. เล่าถึงแนวทางการตลาดที่เริ่มกระจายเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านในแถบเออีซี โดยมียอดสูงสุดคือ กัมพูชาและตามมาด้วยเมียนมาร์  “ ...ปีที่ผ่านมาเป้าหมายการส่งออก 1,100 ล้านบาท ปีนี้ก็เพิ่มยอดการจำหน่ายโดยประมาณการเติบโตส่งออกปีละ 10 % สืบเนื่องจากนโยบายที่เรานำส่งออกใช้นมโคสดแท้ 100 %

อ.ส.ค. รับน้ำนมจากเกษตรกร เป้าหมายทางการตลาดของ อ.ส.ค. ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบของเกษตรกร คือน้ำนมดิบจากเกษตรกร เมื่อน้ำนมจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยตัวเลข 6-7 % ในแต่ละปีเราต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า เป้าหมายการเติบโตของอ.ส.ค. เติบโตไปตามน้ำนมดิบของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในความรับผิดชอบของอ.ส.ค.เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

.... ตัวอย่างเช่น เกษตรกรเลี้ยงวัวนม สมมติวันนี้มีวัวห้าตัว ปีหน้าก็ต้องคลอดลูกอีก ฝูงก็ใหญ่ขึ้นรวมถึงเมื่อเลี้ยงวัวอายุมากขึ้นน้ำนมก็จะมากขึ้นด้วยธรรมชาติของแม่วัวเอง การเพิ่มของจำนวนวัวรีดนมในฝูงทำให้น้ำนมดิบโตขึ้น โดยนโยบายต้องรับผิดชอบทั้งหมดทุกกระบวนการตลอดไป อ.ส.ค. ที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้

 ...ด้านการเจาะตลาดต่างประเทศที่เราเชื่อว่าสามารถเจาะได้คือ นมไทย - เดนมาร์ค เป็นของภาครัฐแน่นอนและน้ำนมมาจากเกษตรกรที่เป็นนมโคแท้ๆ ซึ่งแตกต่างจากการนำเข้านมของตลาดประเทศรอบบ้านเรา ที่นมเขานำเข้าส่วนใหญ่เป็นนมผงที่จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ทั้งนั้น

ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีโรงงานอื่นๆ ทำได้เท่ากันไม่แตกต่าง แต่ความแตกต่างตรงวัตถุดิบ คือความเป็นธรรมชาติ เราไม่มีการดึงอะไรออกมาจากตรงนี้เลย ยกเว้นเรื่องไขมัน ตามข้อกำหนด แต่คุณภาพน้ำนมเหมือนเดิม นมไทย- เดนมาร์คขายความเป็นธรรมชาติ ขายคุณค่าทางอาหารที่เป็นอยู่ นี่คือจุดขายของนมไทย – เดนมาร์ค

ที่ผ่านตลาดกัมพูชายอดการส่งออกอยู่ที่ 70-80 % รองลงมาคือ สปป.ลาว ซึ่งสปป.ลาวตลาดยังเล็กอยู่มากเพราะมีประชากรน้อย แต่เรามีผู้แทนการจำหน่ายที่ชัดเจน ทั้งที่ กัมพูชาและสปป.ลาว

   

ทิศทางในการเพิ่มยอดการจำหน่าย

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เล่าว่า “.... ขณะนี้ผู้แทนจัดจำหน่ายทางภาคใต้ของอ.ส.ค.ค่อนข้างแข็งแรง ยอดการจำหน่ายทางภาคใต้เพิ่มขึ้นถึง 70 % ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นผู้ดำเนินการเปิดช่องทางจำหน่ายในมาเลเซียด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งเตรียมความพร้อมโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมไทย – เดนมาร์ค เพื่อรับการตรวจประเมินจากตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียที่จะเดินทางมาตรวจโรงงานในเร็วๆนี้ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย

โดยวันนี้เราจะใช้ฐานการผลิตที่สุโขทัย ที่มีความพร้อมด้านเครื่องจักรที่ปรับปรุงได้มาตรฐานสากลและมีเครื่องจักรแบบไฮสปีด ซึ่งมีความทันสมัย ซึ่งมาเลเซียมีข้อจำกัดที่สำคัญคือ การตรวจ ฮาลาล ซึ่งมีความเข้มงวดมาก จริงๆ โรงงานของ อ.ส.ค. ได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาลอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลมาเลเซียด้วย

เบื้องต้นคาดว่า การตรวจประเมินโรงงานนมของ อ.ส.ค. จะเสร็จเรียบร้อยภายในเดือน กันยายน 2560 หากผ่านการตรวจสอบตามเงื่อนไขที่กำหนดและรัฐบาลมาเลเซียอนุญาตให้นำเข้าได้ อ.ส.ค.ก็สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์นม ยู.เอช.ที ไทย- เดนมาร์คไปยังมาเลเซียได้ทันทีตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายหรือเอเย่นต์มีศักยภาพและความพร้อมที่จะส่งออก โดยขนส่งสินค้าทางรถยนต์ส่งออกผ่านด่านปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา แล้วกระจายสินค้าสู่ตลาดในมาเลเซียต่อไป

 

ความพร้อมของตลาดฮาลาล

ผอ.อ.ส.ค. กล่าวต่อว่า “ทางอ.ส.ค. เตรียมความพร้อมโรงงานนมสุโขทัยเป็นฐานการผลิตหลัก ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 100 ตัน/วัน ขณะเดียวกันยังเตรียมพร้อมโรงงานนมอื่นๆ ไว้เสริมด้วย เช่น โรงงานนมมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี กำลังการผลิต 200-250 ตัน/ วัน และโรงงานนมปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีกำลังการผลิตวันละ 150 ต้น / วัน หากออเดอร์เพิ่มสูงขึ้น และ อ.ส.ค. ไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความต้องการ อ.ส.ค. มีแผนประสานสหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรเพื่อเป็นฐานการผลิตเสริมด้วย

..... ช่วงปีแรก อ.ส.ค. ตั้งเป้ายอดส่งออกไปยังตลาดมาเลเซียไว้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของเป้าหมายการส่งออกตลาดอาเซียนทั้งหมด 1,100 ล้านบาท อนาคตคาดว่า มาเลเซียจะเป็นประตูการค้าที่สำคัญและเป็นช่องทางกระจายสินค้าแบรนด์ไทย- เดนมาร์ค ไปสู่ประเทศใกล้เคียงได้ ทั้งสิงคโปร์ บรูไนและอินเดีย

และยังมีโอกาสขายการส่งออกไปสู่ตลาดประเทศมุสลิมอื่นๆ ด้วย เช่นกลุ่มประเทศความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับหรือจีซีซี ( GCC) ซึ่งเชื่อมั่นว่า ด้วยคุณภาพมาตรฐานของนมไทย – เดนมาร์คที่ผลิตจากนมโคแท้ 100% ไม่ผสมนมผงและได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล (Halal) แล้ว จะเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น สามารถเจาะตลาดอาหารฮาลาลและมีศักยภาพการแข่งขันได้ในระยะยาวแน่นอน”

ผอ. อ.ส.ค. กล่าวต่อว่า “มาเลเซียเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพสูง โดยรัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางหรือฮับ อาหารฮาลาลโลก หากสามารถสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับของมาเลเซียได้ โอกาสที่จะส่งสินค้าเข้าตีตลาดก็จะมีสูง

ต่อจากมาเลเซีย ทาง อ.ส.ค. เตรียมเน้นสู่ตลาดพม่าให้มากขึ้น โดยปัจจบันมีเอเย่นต์ชาวไทยที่นำเข้าไปตามตะเข็บชายแดนทางแม่สอด เพื่อเข้าไปจำหน่ายในย่างกุ้ง เนปิดอร์ มะณฑะเลห์ ต่อไป”

 ไม่ทิ้งฐานการผลิตสำหรับคนไทย 

อย่างไรก็ตาม แม้อ.ส.ค.จะตั้งเป้ากระจายสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งความต้องการของตลาดในประเทศด้วย ผอ. กล่าวต่อว่า “..... มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเติบโตขึ้น 6-10 % ต่อปี  ขยายตามสัดส่วนของน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้น มูลค่าปีละ 400 - 500 ล้านบาท

ทางอ.ส.ค. มีความมุ่งมั่นว่า ภายในห้าปีคนไทยจะต้องบริโภคนมเพิ่มขึ้นจาก 18 ลิตรเป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งแน่นอนในส่วนของเราเอง นโยบายหลักอ.ส.ค.ผลิตผลิตภัณฑ์นมขึ้นมาเพราะต้องการให้คนไทยบริโภคเพิ่มขึ้น ต้องการให้คนไทยบริโภคก่อนแต่อย่างไรก็ตามเราต้องรับผิดชอบน้ำนมดิบ 600 ตันต่อวัน เราต้องเติบโตทุกปีๆละ 6 % นั่นหมายความว่าต้องหาช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 

ผมในฐานะผู้นำองค์กรต้องการขายผลิตภัณฑ์นมให้คนไทยก่อน และเป็นนมของคนไทยของเกษตรกรไทย เวลาเราบอกไปเราจะบอกว่านมไทย - เดนมาร์คเป็นนมของเกษตรกรไทย

ตอนนี้มีการเพิ่มการเข้าถึงของนักเรียนให้ง่ายขึ้น โดยไปเปิดเป็นมิลค์ช็อปในโรงเรียน มงฟอร์ต เชียงใหม่ เป็นต้นแบบ นอกจากนั้นหากมีร้านไหนที่เหมาะสมก็จะเข้าไปเพิ่มเมนูนมเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์กับคนรุ่นใหม่ๆ เช่นแมคโดนัลด์ พยายามให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงการบริโภคนม”

   



สืบสานอาชีพพระราชทาน  

แม้อ.ส.ค. จะเร่งหาช่องทางการตลาดออกสู่ต่างประเทศ เพื่อกระจายสินค้าจากเกษตรสู่ตลาดสากล แต่สิ่งที่ยังคงทำอย่างต่อเนื่องคือ การเปิดบ้านเปิดโอกาสให้นักเรียนและบุคคลทั่วไป ได้เข้าเรียนรู้ประวัติศาสตร์ สถานที่อันถือเป็นอาชีพพระราชทานแห่งนี้ของไทย แหล่งผลิตน้ำนมหยดแรกจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล

อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นั่นคือการจัดโครงการท่องเที่ยวภายในองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สืบเนื่องติดต่อกันมาเป็นปีที่ห้า

ผอ.อ.ส.ค. เล่าถึงโครงการท่องเที่ยวเกิดขึ้นมาว่า “เนื่องจากอ.ส.ค เมื่อมีผลิตภัณฑ์แล้ว เราไม่มีกำไรในสมัยก่อน ไม่มีงบโฆษณาในการประชาสัมพันธ์ บอร์ดชุดก่อนเมื่อห้าปีที่แล้ว จึงมีแนวคิดเปิดบ้านขึ้นมาให้มีการท่องเที่ยวเพื่อให้คนทั่วไปโดยเฉพาะเด็กนักเรียนได้เข้ามาท่องเที่ยวเชิงเกษตร

โดยเปิดให้ได้เข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของนมไทย- เดนมาร์ค ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมและอ.ส.ค. คือจุดกำเนิดในอาชีพพระราชทาน อาชีพพระราชทานของพ่อ สู่อาชีพที่ยั่งยืน เป็นฟาร์มโคนมแห่งแรก มีระบบการส่งเสริม การอบรมให้เกษตรกร นั่นคือจุดมุ่งหมายและเห็นว่า นม ทุกหยดที่เราผลิตออกไปเกิดจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้ก็ต้องถูกอบรม

ให้คนได้เรียนรู้ สัมผัสวิถีเกษตรกรจริงๆ วิธีการรีดนม การป้อนนม เมื่อได้น้ำนมดิบมาแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงาน มีนม ยูเอสที พาสเจอร์ไรส์ และที่สำคัญให้มารู้จักนม ไทยเดนมาร์ค แต่เป้าหมายของเราเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับของโชคชัย มุ่งหวังให้คนทั่วไปได้เข้ามารู้จักเยอะๆ

โดยเปิดทุกวัน มีมัคคุเทศน์ มีรถรางนำชม มีสถานีให้ลงแวะ มีสวนสัตว์เล็กๆ ถึงฟาร์มก็วิดีทัศน์ มีการแสดง มีคล้องบ่วงบาต มีแวะฟาร์มม้า เด็กนักเรียนคิด 50 บาท นักศึกษาคิด 80 บาท ถ้าบุคคลทั่วไป 100 บาท

ผมเป็นหัวหน้าฝ่ายท่องเที่ยวคนแรก สมัยก่อนเป็นกิจกรรมเล็กๆ ก็ลงไปทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีการทำค่าย พักค้างคืน โรงเรียนไผทอุดมศึกษาเป็นแคมป์แรกที่มีนักเรียนมานอน 100-200 คน มาศึกษาการเลี้ยงโคนมอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่เช้าว่าเกษตรกรทำอะไรบ้าง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการเลี้ยงโคนม กลางคืนก็มีกิจกรรมแคมป์ไฟ ในช่วงฤดูหนาวที่หมดฝนแล้ว สามารถเข้าไปดูในเวปไซต์ www.dpo.go.th เชื่อมโยงถึงเรื่องท่องเที่ยว ภายในนมไทย-เดนมาร์ก ด้วย” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวท้ายสุด




                                                                   ..... วันนี้ คุณรู้จัก อ.ส.ค.แล้วหรือยัง ?