อาสาสมัครหญิงไทยในต่างแดน

จาก โครงการอบรม การเตรียมความพร้อมผู้หญิงไทยก่อนเดินทางไปต่างประเทศ ที่เมืองพัทยา เมื่อวันก่อน ทำให้ Btripnews ได้มีโอกาสพบปะกับบุคคลจิตอาสาชาวไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศต่างๆ ที่มาร่วมกันให้คำแนะนำ และเดินทางปกป้องสิทธิต่างๆ ที่คนไทยควรจะได้รับเมื่อไปใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งจัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวงร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ซึ่งถือเป็นยุคที่สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจและความอบอุ่นใจให้กับผู้หญิงไทยอย่างแท้จริง 

โดยการอบรมฯ ได้มีการบรรยายอาทิ  เรื่อง มันส์ๆ หลังสถานทูตกับวีซ่า ฮาสาดกับต๋งคิวท์ โดยคุณรวิทัต บุณยเกียรติ  , การให้บริการกงสุลกับกลุ่มคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศโดย คุณธาตรี เชาวชตา , การอภิปรายเรื่อง “สถานการณ์ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ โดย คุณดรรชนี วรดิถี ฟิทซ์เนอร์ ประธานชมรมสื่อสัมพันธ์คนไทยในยุโรป คุณวัชรินทร์ ภูมิจิตร อาสาสมัครคนไทยในสหราชอาณาจักร , คุณศรีไศล สุชาติวุฒิ คุณชญาดา กาวีวงศ์ อาสาสมัครคนไทยในสหรัฐอเมริกา , อาจารย์ บุญส่ง ชเลธร ที่มาให้ความรู้ถึงการเตรียมความพร้อมผู้หญิงไทยในสวีเดน , คุณ อนงค์นาฎ ซอหิรัญ คาร์รีเคอร์ ผู้แทนเครือข่ายหญิงไทยในอิตาลี 

dsc_6651

สมาคม THAISMILE in FVG ในประเทศอิตาลี

เราลองฟังคำบอกเล่ากับ คุณนพมาศ ลำดวน ผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวอิตาเลี่ยน หลังจากพบรักกันในเมืองไทย และไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอิตาลีสามสิบกว่าปี เมื่อครอบครัวประสบความสำเร็จ และบุตรธิดาโตแล้ว เธอจึงเริ่มใช้ความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิต ก่อตั้งสมาคม THAISMILE in FVG ขึ้นในประเทศอิตาลี ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งชาวไทยและชาวอิตาลี

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนชีวิต      

คุณนพมาศ เริ่มเล่าให้ฟังว่า “วันนี้มาช่วยให้คำแนะนำ คำปรึกษากับน้องๆ หรือผู้ที่จะไปอยู่อิตาลีถาวร ในฐานะที่อยู่มา 30 กว่าปี ตัวเองมีข้อมูลแน่นพอที่จะให้คำปรึกษาน้องๆ หรือผู้ที่จะไปอยู่ถาวร สำหรับพี่พี่เริ่มไปอยู่ ปี 1985 ตอนแรกไปเที่ยวก่อน หลังจากที่มีคบหากับคนอิตาลีที่มาชอบ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมหอกันก็ไปดูก่อน ขอไปดูว่าความเป็นอยู่ ดูครอบครัวเขาว่าเป็นอย่างไร

เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เรื่องระบบอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ก็ยาก การสื่อสารยากมาก สมัยนั้นยังใช้แฟกซ์ และจดหมายก็นานกว่าจะถึงกัน ตอนนั้นเป็นช่วงที่พีทำงานอยู่โรงแรมมณเฑียร พัทยา เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ เรื่องแฟกซ์ก็สะดวก

คือพี่ไปดูว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร อย่างแรกคือโสดจริงเปล่า พอไปแล้วก็พบว่า ครอบครัวน่ารัก เขาไม่ได้อยู่กับพ่อกับแม่ แสดงว่าเขาเป็นอิสระ โดยปกติแล้วคนยุโรปทั่วไป อายุ 18 ปีก็จะออกไปใช้ชีวิตส่วนตัว ก็โอเคผ่าน ฐานะหน้าที่การงานมั่นคง ก็เลยกลับมาเมืองไทยเพราะพี่ลาไปพักร้อนเดือนเดียว กลับมาก็เลยมาคุยกับครอบครัว

หลังจากนั้นหกเดือนเขาก็กลับมาขอแต่งงาน หลังจากช่วงฮอลิเดย์ก็ย้ายไปอยู่ที่นั่นเลย เราแต่งงานแล้วได้วีซ่าตามสามี จนไปอยู่ที่นั่น ปัญหาก็ตามมา เราพูดภาษาอังกฤษได้ แต่คนรอบข้างเราพูดไม่ได้ เราต้องไปปรับตัวเยอะเลย คนอิตาเลี่ยนไม่พูดภาษาอังกฤษ จะพูดน้อยมาก อิตาเลี่ยนเป็นภาษาที่ยากมาก เราต้องใช้เวลาเรียนรู้กับมันอีกพอสมควร ด้วยความที่เรามีพื้นฐานเป็นภาษาอังกฤษ ใครไปต่างประเทศพี่แนะนำว่า อย่างแรกคือภาษาอังกฤษ และต้องค่อยๆเรียนรู้ภาษากับประเทศนั้นๆ ที่เราจะไปอยู่ ว่าเขาใช้ภาษาอะไร วัฒนธรรมเป็นอย่างไร

พี่ใช้เวลาหกเดือน ก็เริ่มพูดได้ หลังจากนั้นก็เริ่มไปโรงเรียนเพื่อเรียนภาษา เขามีโรงเรียนสอนภาษาอิตาเลี่ยนให้กับคนต่างชาติ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พี่อยู่เมือง อูดิเน่ ใกล้ๆกับเวนิซ ใช้เวลาสองปีกว่าจะได้ภาษาอิตาเลี่ยน”

เมื่อรู้ภาษาชีวิตก็ดีขึ้น

หลังจากสามารถพูดและเขียนภาษาอิตาเลี่ยนได้ ชีวิตของเธอก็ง่ายขึ้น เริ่มมองหางานทำและเริ่มมีโลกที่กว้างขึ้น

“….พอได้ภาษาปุ๊บ อะไรก็ง่ายขึ้น ก็เริ่มหางานง่ายแล้ว สามารถสื่อสารกับเขาได้ เริ่มเรียนรู้แต่ตอนนั้นคนไทยและสังคมคนไทยในอิตาลียังไม่มีเยอะเหมือนปัจจุบัน การที่จะสื่อสารกับใครไม่ค่อยมี คนแรกที่จะสื่อสารคือสามี ครอบครัว กฎหมายเราก็ไม่รู้ สามีจะต้องเป็นผู้นำ เป็นคนคุ้มครองเรา ถ้าไม่มีเขาเราอยู่ไม่ได้ โชคดีที่สามีดี และเขาสามารถให้ความรู้เรื่องกฎหมายกับเราได้ เพราะขอบข่ายงานที่เขาทำมีเพื่อนฝูงที่รู้เรื่องกฎหมาย ในสถานที่ราชการ

หลังจากรู้ภาษาก็เริ่มทำงานไปด้วย เมื่อลูกไปโรงเรียนเราก็ได้งานทำ ช่วยครอบครัวได้ เมื่อได้งานปุ๊บโลกทัศน์ก็ใหญ่ขึ้น เราได้สัมผัสกับคนท้องถิ่นจริงๆ เราต้องให้ความสำคัญกับคนท้องถิ่น ไม่ใช่เก็บตัวอยู่คนเดียว ถ้าเราเก็บตัวอยู่คนเดียวเมื่อไหร่ สังคมเราจะแย่ ฟุ้งซ่าน พี่เลยมีความคิดว่าทำไมไม่ก่อตั้งสมาคมคนไทยขึ้นมา เพื่อเมื่อใครมีปัญหาอะไรขึ้นมาเราจะได้ช่วยเหลือกัน จึงรวมตัวกันเป็นสมาคมคนไทยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาเลี่ยน ชื่อ สมาคม THAISMILE in FVG หลังจากที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นสิบหกปี ซึ่งเราคิดว่าเราประสบความสำเร็จกับชีวิตแล้ว ลูกก็โตแล้ว พร้อมแล้วที่จะทำอะไรตรงนี้

พี่ใช้สมาคมฯเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับคนไทยในอิตาลี จุดมุ่งหมายสำคัญคือ เราทำงานกับสถานทูต เผื่อในกลุ่มมีปัญหาอะไร เราก็จะเป็นตัวเชื่อมให้ เช่นพาสปอร์ต การแจ้งเกิดของลูก ก็จะจัดการประสานงานกับทางกงสุล เพื่อจัดทำ กงสุลสัญจร มาที่เมืองที่เราประสานงานไป เราจะรวบรวมคนไทยในจังหวัดหรือเขตนั้นที่ไม่สามารถจะไปทำพาสปอร์ตถึงกรุงโรมซึ่งห่างกันถึงแปดชั่วโมงโดยรถไฟ หรือค่าเครื่องบินก็ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ตอนที่ตั้งกลุ่มในเมืองพี่คนไทยจริงๆที่ไปอยู่ที่นั่นถาวร มีอยู่เกือบ 70 คน รวมทั้งพนักงานคนไทยที่ไปทำงานให้กับบริษัทอิตาเลี่ยน ประมาณ 200 กว่าคน เพราะฉะนั้นในเขตของพี่มีคนไทยเกือบ 500 คน ในเขตภาคพื้นตะวันออกเฉียงเหนือ

เป็นที่ปรึกษาให้คนไทยได้รับรู้ว่า เขามีสิทธิ์อะไรได้ตามกฎหมายของอิตาลีบ้าง หากไม่มีงานทำ หรือบ้านประชาสงเคราะห์ เราก็ประสานงานให้กับองค์กรรัฐอีกทีหนึ่ง

ทุกวันนี้ใช้บ้านเราเป็นเซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่ในเมืองอูดิเน่ ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้พี่ไปๆกลับๆ เมืองไทยกับอิตาลี แต่สมาคมฯ ก็ยังอยู่ มีน้องๆ คอยสานต่อ พี่เป็นผู้ก่อตั้ง แต่น้องๆ สานต่อกัน”

นอกจากเป็นศูนย์กลางการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่คนไทยแล้ว ปัจจุบันสมาคมฯ ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจอีกด้วย

คุณนพมาศ กล่าวต่อว่า “พี่สอนวัฒนธรรมไทย สอนภาษาอิตาเลี่ยนให้กับเด็กไทยที่ไปอยู่ที่นู่น ซึ่งไม่มีคนไทยที่มีดีโพรม่าตรงนี้ คนไทยที่จะไปอิตาลี นอกจากต้องรู้จักสถานทูตแล้วต้องรู้จักสมาคมฯ ที่สามารถให้ข้อมูลกันได้ พี่จะใช้ Facebook : THAISMILE in FVG เราไม่ได้รับเฉพาะคนไทย คนอิตาเลี่ยนก็เข้ามาเป็นสมาชิก”

ปัญหาของการใช้ชีวิตคนไทยในอิตาลี  

ผู้ก่อตั้ง สมาคมฯ กล่าวต่อว่า “ปัญหาที่คนไทยต้องเตรียมตัวคือ หนึ่งภาษา สองวัฒนธรรม ไทยกับทางต่างประเทศไม่เหมือนกันเลยโดยเฉพาะสถาบันครอบครัว แตกต่างกันมาก อย่างครอบครัวพี่ สามีมาเที่ยวเมืองไทย ตามปกติคนยุโรปจะมีวันพักร้อนสองอาทิตย์ เขาต้องเก็บเงินตลอดทั้งปีเพื่อได้มาเที่ยวสองอาทิตย์ การใช้ชีวิตช่วงมาเที่ยวเขาจะเหมือนเทพบุตร มีเงินมากมาย

แต่ชีวิตจริงเขาก็ทำงานเหมือนเรา มีค่าน้ำค่าไฟเหมือนเรา ทีนี้ถ้าไปหวังว่า ก็จะผิดหวังและทำให้ทุกข์ ต้องอธิบายให้ผู้ชายเข้าใจมากกว่านั้นด้วยเรื่องวัฒนธรรมไทยว่าเราเป็นลูกเราต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ไม่เหมือนบ้านคุณ แต่ฉันมีภาระ ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ก็จะมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจระหว่างวัฒนธรรม การสื่อภาษาที่ไม่ตรงกัน”

สิ่งที่อยากฝากไว้กับทางรัฐบาลไทย คุณนพมาศ บอกว่า “อยากให้แต่ละสถานทูตมีคนไทยที่สามารถให้คำแนะนำในการขอวีซ่า เพราะสถานทูตเป็นหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศ เขาเป็นคนของสถานทูต ไม่ใช่ของรัฐบาลไทย จึงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือกับคนไทยที่ไปขอวีซ่า

การมีเจ้าหน้าที่คนไทยไปประจำอยู่ จะทำให้สามารถให้คำแนะนำและการเตรียมตัวสำหรับคนไทย ก่อนที่จะขอวีซ่า เหมือนกับเป็นการติว บางสถานทูตมีแล้ว คือเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ มีผู้ให้คำแนะนำ เมื่อคนไทยได้รู้ข้อมูล แล้วกลับไปท่องจำมา แล้วค่อยกลับมาขอวีซ่า ทุกอย่างจะง่ายขึ้น เหมือนกับให้ความรู้เบื้องต้นกันก่อนจริงๆ”

และเมื่อถามถึงอาชีพที่เหมาะกับคนไทยในอิตาลี คุณนพมาศ บอกว่า “จริงๆ คนไทยเหมาะกับทุกอาชีพ ถ้าเรามีความรู้ทางด้านภาษา เพราะคนไทยเก่งๆ มีเยอะ ทำงานเป็นล่าม ทำงานกับการท่องเที่ยวก็ได้ หรือเป็นพรีเซนเตอร์ก็ได้ เพราะเรามีเสน่ห์อยู่แล้วในตัว อยู่ที่ความสามารถของเรา รวมถึงขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราไปอยู่ด้วย เช่นเมืองนั้นเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวหรือไม่ อย่างเมืองที่พี่อยู่เป็นเมืองที่คนอิตาลีชอบมาเที่ยวเมืองไทยมาก และเมืองไทยที่เป็นเสน่ห์ ทั้งอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว

กิจกรรมที่สมาคมฯ ทำเป็นประจำ คือ เผยแพร่วัฒนธรรม  แต่ละปีจะมีการจัดงาน เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง ซึ่งจัดให้คนไทยโดยรอบหรือชาวอิตาลีที่เคยมาเที่ยวเมืองไทย หรือชื่นชอบเมืองไทยเข้ามาร่วมงาน มีการจัดการทำบุญเลี้ยงพระ กรวดน้ำ โดยการจัดงานจะมีการจำหน่ายบัตรเพื่อนำเงินเข้าชมรมฯ เพื่อสานงานต่อ เพราะเราไม่มีเงินทุน

นอกจากนี้ ก็มีการพาคนอิตาเลี่ยนเข้ามาเที่ยวเมืองไทย เพราะช่วงนี้พี่มาอยู่เมืองไทย ก็จะเป็นไกด์ให้กับคนอิตาลีที่มาเที่ยว เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปอีกแนวหนึ่ง ให้ความเป็นกันเองกับเขาได้มากขึ้น เพราะเราเป็นคนไทยที่ไปอยู่ในอิตาลี สามารถพูดภาษาเขาได้ และเขาสามารถเชื่อใจได้ เพราะคนอิตาลีเป็นคนที่ขี้กลัว ลักษณะนิสัยถ้าเป็นเขตภาคเหนือ ประชาชนจะขยันขันแข็ง มุ่งมั่นทำงานเหมือนคนกรุงเทพฯ แต่ถ้าเป็นคนใต้จะร่าเริง แจ่มใส ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ถ้ามองตามรูปรองเท้าบูท ของแผ่นที่ประเทศอิตาลี พี่จะอยู่ทางเหนือไปทางขวามือ รวมถึงหากมีคนไทย หรือ บริษัท ที่ต้องการไปเที่ยวอิตาลี ทางพี่ก็พาไปเที่ยวได้ เป็นการเดินทางแบบแฟมิลี่มากกว่าบิสสิเนส เป็นแบบไพรเวทค่ะ”

dsc_6643   dsc_6645
จิตอาสาในเนเธอร์แลนด์ 

อีกหนึ่งจิตอาสาตัวยง ทำงานจิตอาสาฯในประเทศเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2533 ปิดทองหลังพระมาตลอด กับงานอาสาฯมากมายในต่างแดน คุณผ่องพรรณ พลยศ-โพสม่า ซึ่งในวันนี้มาเป็นผู้ให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปอยู่ประเทศเนเธอร์แลนด์แบบถาวร

dsc_6666

คุณผ่องพรรณ หรือคุณไก่ เล่าให้ Btripnews ฟังว่า “… ทำงานด้านจิตอาสาฯ ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์มาหลายปีแล้วค่ะ พี่แต่งงานกับคนดัช และก็ไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2533 มีลูกสองคนค่ะ ระหว่างอยู่ที่นั่นก็ทำกิจกรรมช่วยเหลือคนไทย ที่มีความเดือดร้อน กรณีเช่นการหย่าร้าง หรือให้คำแนะนำการคลอดบุตร การแจ้งเกิด บางคนคลอดต่างเมือง บางคนก็ไม่รู้ อย่างน้อยให้ลูกเขามีสิทธิได้ใบเกิดด้วย

การทำงานเป็นการบอกต่อกันแบบเพื่อนต่อเพื่อน คล้ายกับเรามีเน็ตเวิร์ค เมื่อรู้จักกันก็จะช่วยเหลือกันแม้จะอยู่ต่างเมืองกัน แล้วแต่ว่าใครจะสามารถช่วยเหลืออะไรกันได้  บางคนเป็นฝ่ายแปล เอกสารก็ทำ เช่นถ้าผู้หญิงไทยโดนจับ ตำรวจก็จะติดต่อมาที่กลุ่มเพื่อขอความช่วยเหลือด้านภาษา เป็นการช่วยเหลือกันในระดับต้น

สำหรับไก่จะช่วยเหลือแนวๆ วิชาการค่ะ อย่างการจัดตั้งโรงเรียนการศึกษานอกโรงเรียน กศน. ในประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งต้องจดทะเบียนนิติบุคคลให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อใช้สอนภาษาไทยให้กับคนไทยในต่างแดน มีหลักสูตรขั้นพื้นฐาน หลักสูตรต่อเนื่อง หรืออย่างที่ญี่ปุ่น

หรือส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเดือนกรกฎาคมก็มีการจัดให้มีการอบรมให้ความรู้หลายเรื่อง รวมถึงการค้ามนุษย์ด้วย เป็นการอัพเดทข้อมูล ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในต่างประเทศจะได้ช่วยเหลือได้ถูกต้อง แต่สำหรับครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมผู้หญิงไทยก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เป็นการนำผู้ที่มีประสบการณ์ในประเทศต่างๆ มาให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะไปอยู่ต่างประเทศแบบถาวร

นอกจากนี้ ทางเรายังเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ ที่เนเธอร์แลนด์มีชมรมเยอะ แต่จดทะเบียนเป็นเรื่องราว ยังไม่มาก ซึ่งขณะนี้ก็มีการทำเรื่องคัดค้านอยู่องค์กรหนึ่งที่นำเอกสารที่ไม่มีผลทางกฎหมายแล้วมายื่นกับสถานทูตเพื่อจดทะเบียนขอเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ แต่ใช้เอกสารที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งโดยความจริงแล้ว

และตอนนี้กระทรวง พม. ก็มีการเสนอให้จัดตั้งองค์กรสาธารณะประโยชน์ในต่างประเทศ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการให้การสนับสนุนทั้งเรื่องเอกสารหรืองบประมาณสำหรับคนที่เป็นอาสาได้รับความสะดวกยิ่งขึ้นในการติดต่อประสานงาน

อย่างจิตอาสาที่มาในวันนี้ก็เป็นการเดินทางมาเมืองไทยในช่วงฮอลิเดย์ เข้ามาช่วยให้ความรู้สำหรับน้องๆ หรือผู้ที่เข้าอบรมที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศถาวร เราก็แบ่งเวลามาเป็นวิทยากรให้ที่นี่ ที่เหลือก็กลับไปเยี่ยมบ้านหาคุณพ่อคุณแม่ของเรากัน

เมื่อก่อนมีครอบครัว มีลูกๆ แต่ตอนนี้ลูกโตแล้ว เราพร้อมที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ให้ เราก็มาทำตรงนี้ได้ เรามีความสามารถที่จะเดินทางไปตรงนั้นตรงนี้ในการให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือได้ ตอนนี้ก็เดินทางอยู่ระหว่างมาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์ ทำเรื่องการศึกษาในต่างแดน เราอยู่ในฝ่ายของวิชาการมากกว่า”

คุณผ่องพรรณ เล่าต่อว่า” ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไทยในเนเธอร์แลนด์ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาครอบครัว การหย่าร้าง บุตร การเกิด การคลอด การตาย หรือการขอความช่วยเหลือสำหรับผู้หญิงไทยที่ไปตกระกำลำบากอยู่ที่นั่น  ข้อแนะนำสำหรับคนไทยที่จะไปอยู่ถาวรคือการเตรียมพร้อมตัวเอง ต้องศึกษาประเทศนั้นมีกฎระเบียบอะไรบ้าง การเข้าออกประเทศ การอยู่ ภูมิอากาศ ต้องศึกษาให้ดีก่อน วัฒนธรรมแตกต่างกันหรือไม่

ปัจจุบัน งานกิจกรรมจิตอาสาฯ ที่เธอร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กร ฯ ชมรมอาสาฯ ในต่างประเทศ โดยเป็นสมาชิกอยู่ อาทิ ครูอาสาฯศกร.กศน.สำหรับคนไทยในต่างแดน (สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ),อาสาฯ เครือข่ายร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (กรมสุขภาพจิต) การให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน ,อาสาฯ เครือข่ายร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , การค้ามนุษย์ , แรงงานไทยและสถาบันครอบครัว

 สมาคมสตรีไทยในยุโรป ( Thai Women network of Europe/TWNE), สมาพันธ์ครูไทยในยุโรป ( The Federation of Thai Language and Culture Teachers in Europe /FTTE) , ชมรมภาษาและวัฒนธรรมไทยในเนเธอร์แลนด์ ( Thai Language and 9 Culture in The Netherland / TLCNL)  ตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ศกร.กศน. อาร์เมอสฟอร์ต NLและสุดท้ายคือสมาชิก  www.Yingthai.net

dsc_6663

ด้าน คุณเสริมศรี บุญสุตย์ จิตอาสาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ อีกท่านหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ข้อแรกคือการเตรียมตัว อย่างน้อยที่สุดเมื่อเดินทางไปถึงคือต้องมีเบอร์โทรศัพท์สถานทูต เพื่อจะได้รู้ว่าเมื่อมีปัญหาจะต้องติดต่อที่ไหนกรณีฉุกเฉิน

พี่อยากให้ผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับต่างชาติและไปอยู่บ้านเมืองเขา ขอให้มีความจริงใจและเตรียมใจที่จะไปอยู่กับเขา ต้องศึกษาให้ดี ไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้า มันมักจะตายจริง ต้องศึกษาดูก่อน

สอง ต้องสอบข้อสอบความรู้เบื้องต้นภาษาดัชที่สถานทูตให้ได้ก่อน ไปอยู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไม่ง่ายเลย ต้องสอบภาษาให้ผ่าน เป็นข้อกำหนดของประเทศเขามาสิบปีแล้ว เมื่อสอบผ่านแล้วจึงนำใบนี้พร้อมเอกสารคู่สมรส มีฐานะอย่างไร ที่อยู่อาศัยเป็นอย่างไร พร้อมหรือไม่

ปัจจุบันนี้ประเทศในยุโรปหลายประเทศเคร่งครัด เขาก็ปิดประตูเขาเหมือนกัน เพราะเมื่อไปอยู่ในประเทศเขา สื่อภาษาไม่ได้ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ คนดัชเองเมื่อจะแต่งงานกับคนต่างชาติ เขาก็ต้องพร้อมด้วย ไม่ใช่ตัวเองตกงานแล้วจะนำผู้หญิงกลับเข้าประเทศจะเป็นภาระต่อรัฐบาลดัช

สำหรับผู้หญิงไทยเมื่อสอบผ่านเข้าประเทศแล้ว ภายในสามปีต้องไปเรียนภาษาต่อ ไม่ใช่ไปแล้วสบายๆ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่มีมาตั้งแต่ประมาณปี 2004 แล้ว คนที่นอกประเทศอียูจะไปอยู่ถาวรที่เนเธอร์แลนด์จะต้องสอบภาษาที่สถานทูตนั้นๆ ให้ผ่านก่อน เมื่อไปอยู่แล้วภายในสามปีจะต้องสอบให้ได้ จึงจะมีสิทธิในการขอสัญชาติ ไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ทำได้ ต้องขวนขวาย

ปัจจุบันผู้หญิงไทยที่ไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ คุณวุฒิการศึกษาดีขึ้น จบปริญญาตรีบ้าง อนุปริญญาบ้าง ในช่วงแรกจะไปทำงานที่ร้านอาหารก่อน หลังจากได้ภาษาแล้วจึงเริ่มทำงานอย่างอื่น แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เคยอยู่ในประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่เมื่อไปอยู่ที่นั่นต้องทำใจ ต้องทำใจให้กว้าง ยอมรับในวัฒนธรรมของเขา ส่วนเรื่องอาชีพที่ห้ามสำหรับคนต่างชาติไม่มี สังคมเขาเปิดกว้างสำหรับคนต่างชาติพอสมควร คนไทยสามารถเข้าไปทำงานได้ในทุกอาชีพ” จิตอาสาชาวไทยแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์กล่าวท้ายสุด

 แม้ระยะเวลาในการอบรม 3 วัน รวมทั้งสิ้น 20 ชั่วโมง แต่เชื่อเหลือเกินว่า ทั้งประสบการณ์ ความรู้ในด้านต่างๆ จะยังประโยชน์ให้กับผู้หญิงไทยที่ต้องการไปใช้ชีวิตในต่างแดนแบบถาวรได้บ้างไม่มากก็น้อย และหากมีโอกาสและเวลามากกว่านี้ บิซทริปนิวส์ จะนำข้อมูลและความน่าสนใจต่างๆ มาเสนออีกเป็นระยะๆ