กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกับการพัฒนางานกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมฟินิกซ์ 5 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้การต้อนรับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมกับงานพัฒนาสังคม (Social Enterprise : SE) ซึ่งเป็นเวทีวิชาการในการจัดงาน Thailand Social Expo 2018 โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานอนุกรรมการพิจารณาคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม นางลดาวัลย์ กันทวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และดำเนินรายการโดย ดร.เอราวัณ ทับพลี นายกสมาคมนักธุรกิจเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นองค์กรด้านสังคมที่มีภารกิจในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้แก่ประชาชนในทุกระดับ การทำงานของกระทรวงฯ เน้นการบูรณาการข้อมูลจากหลายภาคส่วนมาใช้ทำงานในเชิงรุก ได้แก่ 1) การนำข้อมูลการจดทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ มาใช้ในการวิเคราะห์วางแผนการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน11.649 ล้านคน และมีผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลมุ่งให้การช่วยเหลือก่อนเป็นอันดับแรก จำนวน 8.3 ล้านคน 2) การนำข้อมูลโครงการระบบแผนที่ทางสังคม (Social Map) ตามนโยบายการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของรัฐบาล มาพัฒนาระบบข้อมูลทางสังคมและวางแผนเชิงนโยบาย 3) การจัดโครงการ Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้านสร้างสะพานสู่สวัสดิการสังคมของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยนำข้อมูลผู้จดทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 252,788 ครอบครัว มาวิเคราะห์สถานการณ์และลงพื้นที่ทำงานในเชิงรุก นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นเพื่อจัดเก็บข้อมูล Family Data ให้สามารถแจ้งเหตุ ค้นหาพื้นที่เพื่อการช่วยเหลือ และบันทึกผลการให้ความช่วยเหลือได้อย่างเป็นระบบ นางนภา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงฯ โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้บูรณาการการทำงานระหว่างหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบของ “กิจการเพื่อสังคม” เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยการ “ปรับเปลี่ยนวิธีคิด” จากองค์กรที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เป็น องค์กรที่มีวิธีการบริหารจัดการและมีธรรมาภิบาล โดยผลกำไรนำไปลงทุนกับมนุษย์และสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม สาธารณสุข และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งปัจจุบันกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ดังนี้ 1) ประกาศคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2561 และได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.dsdw.go.th 2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2561 – 2564 รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนำข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียมาประกอบการจัดทำร่างแผนกิจการเพื่อสังคมต่อไป 3) จัดงาน Kick off Social Enterprise : SE เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ ให้ภาคธุรกิจที่สนใจได้รับทราบและยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม 4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม ซึ่งได้พิจารณาแบบคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม และแบบอื่นๆ ซึ่งมีผู้ยื่นขอรับรองและผ่านการรับรองคุณสมบัติ ทั้งสิ้น 15 องค์กร อาทิเช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้จ้างงานกลุ่มผู้ด้อยโอกาส คนไร้สัญชาติ กลุ่มชนเผ่า เพื่อผลิตและรับซื้อสินค้าอาหาร/เครื่องดื่ม เช่น แมคคาเดเมีย กาแฟ และหัตถกรรม เช่น เซรามิค กระดาษสา บริษัท วิสาหกิจสุขภาพชุมชน จำกัด ซึ่งสร้างอาชีพที่มั่นคงให้สตรีที่เคยต้องโทษ และเยาวชนจากพื้นที่เขาหัวโล้น เป็นอาชีพที่ลดผลกระทบของความเครียดจากที่ทำงาน หรือ Office Syndrome ด้วยการดัดจัดสรีระ และเคยได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม ปี 2560 บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นต้น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายภาคเอกชน ภาคธุรกิจในการพัฒนาสังคม ในรูปแบบของ “กิจการเพื่อสังคม” เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ อันจะเป็นการสนับสนุนให้สังคมไทยเกิดความ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ต่อไป