กรมอุทยานฯ สั่งคุมเข้มทำประมงผิดกฎหมาย หวั่นทำ“เต่ามะเฟือง” ใกล้สูญพันธุ์
(กรมอุทยานแห่งชาติฯ ,3ธ.ค.2560)นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมนายณัฐพล รัตนพันธุ์ ผอ.ส่วนกิจการอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมอุทยานฯ ร่วมกันเปิดเผยถึงสถานการณ์ของเต่ามะเฟืองซึ่งเป็นเต่าทะเลหายากที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโลกและเป็นสัตว์ป่าสงวน บัญชี 1 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยนายธัญญา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ของเต่ามะ เฟือง ค่อนข้างวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากไม่ขึ้นมาวางไข่เลยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน โดยกรมอุทยานฯ ได้สำรวจและติดตามการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟือง ใน 2 อุทยานแห่งชาติ ที่มีประชากรเต่ามะเฟืองมากที่สุดคือ อุทยานฯ เขาลำปี – ท้ายเหมือง จ.พังงา กับ อุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า ที่อุทยานฯ เขาลำปี – ท้ายเหมือง สำรวจและติดตาม ตั้งแต่ปี 2546 – 2556 บริเวณหาดท่านุ่น หาดเขาปิหลาย หาดโคกกลอยและหาดท้ายเหมือง พบการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟือง จำนวน 28 รัง จำนวนไข่เต่าทะเลทั้งหมด 2,678 ฟอง จำนวนลูกเต่าที่ฟักได้ 1,574 ตัว คิดเป็นร้อยละ58.78 การฟักตัวทั้งหมด ส่วน อุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต สำรวจและติดตามตั้งแต่ปี 2542 – 2556 บริเวณแหล่งวางไข่ตั้งแต่หาดในยาง หาดไม้ขาว หาดสวนมะพร้าว พบการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟือง จำนวน 16 รัง จำนวนไข่เต่าทะเลทั้งหมด 166 ฟอง โดยเฉพาะการข้ึนมาวางไข่ของเต่ามะเฟืองบริเวณหาดไม้ขาว พบว่ามีจำนวนน้อยมากและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการพัฒนาฟื้นที่ขายฝั่งและชายหาด ซึ่งเป็นการรบกวนแหล่งวางไข่ แห่งหากินและแหล่งอาศัยของเต่าทะเล นายธัญญา กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรียกได้ว่า ครั้งสุดท้ายที่พบคือปี 2556 เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่หาดไม้ขาวและหาดอื่นๆ ที่เป็นแหล่งวางไข่ แต่หลังจากปี 2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่พบการข้ึนมาวางไข่ของเต่ามะเฟืองเลย โดยเฉพาะในฤดูกาลวางไข่คือตั้งแต่เดือน พ.ย. – ก.พ.ของทุกปี ทั้งนี้ โดยปกติเต่ามะเฟืองจะวางไข่ที่เดิม เพราะมีความทรงจำในพื้นที่และจดจำสภาพทางเคมีของน้ำได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หากถึงฤดูวางไข่ เต่ามะเฟืองก็จะกลับมายังหาดเดิมทุกครั้ง ปกติเต่ามะเฟืองจะวางไข่แล้วหายไป 1-3 ปีจึงกลับมาวางอีกครั้ง แต่ขณะนี้ เต่ามะเฟืองหายตัวไปแล้วกว่า 4 ปี ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เพราะอย่าลืมว่าประเทศไทยเคยมีประชากรเต่ามะเฟืองจำนวนมาก ถึงขนาดเคยการเปิดสัมปทานไข่เต่าแล้วแล้วก่อนปี 2518 ขณะนี้ กรมอุทยานฯ กำลังแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งการควบคุมสภาพแวดล้อมแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่ามะเฟือง ด้านนายณัฐพล กล่าวว่า สาเหตุที่เต่ามะเฟืองหายไปหรือใกล้สูญพันธ์ุ มาจากการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเลในฤดูวางไข่ทั้งเพื่อการบริโภคและการค้าขาย ไข่เต่ามะเฟืองขายกันใบละ 150 บาท นิยมนำไปทำไข่ต้มหรือยำไข่เต่า เพราะเชื่อกันว่าเป็นอาหารบำรุงร่างกาย ยาโด๊ปโดยเฉพาะสามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ นอกจากนั้นยังมาจากสาเหตุการทำประมงชายฝั่ง ที่เครื่องมือประมงหลายชนิดมีผลกระทบต่อเต่ามะเฟือง เช่น อวนรุน อวนลาก อวน ลอย อวนติด เบ็ดราว เต่ามะเฟืองมักจะถูกจับและติดเครื่องมือประมงเสียชีวิต โรงแรม รีสอร์ท สิ่งปลูกสร้าง ถนน การวางระบบสาธารณูปโภค แสงไฟส่องสว่าง ก็เป็นปัญหาเพราะทำให้สภาพชายหาดเปลี่ยนแปลง เต่ามะเฟืองรู้สึกไม่ปลอดภัยจึงไม่ขึ้นมาวางไข่และสูญพันธุ์ไปในที่สุด นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้สั่งการให้อุทยานฯ ทางทะเลเข้มงวดด้านกฎหมาย เพิ่มการตรวจตราการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการทำการประมงอวนลาก อวนลอยขนาดใหญ่ในระยะ 3 กิโลเมตรจากฝั่งและระงับการทำประมงด้วยเครื่องมืออวนลอยและเบ็ดราวในระยะใกล้ฝั่งหน้าบริเวณชายหาดที่เป็นแหล่งวางไข่รวมทั้งควบคุมไม่ให้มีการปั่นไฟในรัศมี 3 ไมล์ทะเลด้วย