วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 3, 2024
Latest:
Update Newsสกู๊ปพิเศษโครงการเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตามรอยที่พ่อสร้าง ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

ถือเป็นโอกาสอันดีอีกครั้ง ที่ Btripnews มีโอกาสได้ขึ้นไปร่วมงานรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ...ตามรอยที่พ่อสร้าง ซึ่ง กรมวิชาการเกษตร ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่(ขุนวาง)  โดย ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และเหล่าข้าราชการและพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ กับเส้นทางประวัติศาสตร์ ...เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพบนดอยสูง




การเดินทางเริ่มขึ้นในช่วงเช้าตรู่ จากสนามบินดอนเมืองสู่สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ในช่วงฤดูท่องเที่ยวอย่างนี้ นับว่ามากไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ แต่พอจะเบาบางลงบ้างหลังช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ จากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ เดินทางสู่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ขุนวาง




ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จ.เชียงใหม่ อยู่ในวงล้อมของแนวเทือกเขาอินทนนท์ เหมาะสำหรับผู้ต้องการศึกษาธรรมชาติหรือท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีพันธุ์ไม้เมืองหนาวนานาชนิดที่พร้อมใจกันออกดอกบานสะพรั่งยามหน้าหนาว ออกผลเต็มต้นให้เด็ดชิมในฤดูร้อนและยังมีนกในเทือกเขาอินทนนท์นานาชนิดให้ศึกษา

ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านขุนวางในปี 2523 ทรงทอดพระเนตรเห็นท้องทุ่งบริเวณนี้มีการปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก ทรงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้ท้องทุ่งแห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรบนที่สูง รวมถึงเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น 

นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานพันธุ์พืชที่ทรงนำมาจากต่างประเทศ ได้แก่บ๊วย มะคาเดเมีย กาแฟ เพื่อให้เกิดการศึกษาว่าพืชเหล่านี้จะสามารถปลูกในประเทศไทยได้หรือไม่


ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เล่าให้ฟังว่า ในวันที่ 13-20 มกราคม 2560 ได้จัดกิจกรรมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ “ตามรอยที่พ่อสร้าง” ขึ้น  โดยแสดงผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนการขยายผลสู่เกษตรกรทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจัดทำแลนด์มาร์ค พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการจัดพื้นที่รำลึกเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จทรงงาน ณ สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง (ชื่อในขณะนั้น) ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2528 จัดเป็นเส้นทาง “ตามรอยที่พ่อสร้าง “จำนวน 5 จุด”


ในวันนี้ ณ ขุนวาง คลาคล่ำไปด้วยพสกนิกรที่เข้ามาร่วมงานจำนวนมาก  โดยภายในงาน ดร.สุวิทย์ เป็นประธานในการนำถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(ยืนสงบนิ่ง 89 วินาที ) และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งนี้ได้มีการมอบต้นไม้ของพ่อแก่กลุ่มเกษตรกร จำนวน 89 ต้น พร้อมกับมอบพันธุ์พืช ใบรับรอง GAP/ORG/GMP


   

   

ที่แห่งนี้ เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงเสด็จเยี่ยมและทรงติดตามงานหลายครั้ง วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2524 เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระเนตรความก้าวหน้างานในพื้นที่และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมสถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวางเป็นครั้งแรก


วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2525 เสด็จพระราชดำเนินเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับสภาพที่สูง และทรงปลูกต้นบ๊วย ซึ่งถือได้ว่าทรงปลูกต้นไม้ผลเมืองหนาวต้นแรก ณ สถานีแห่งนี้


วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2527 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงทอดพระเนตรแปลงกาแฟและทรงปลูกต้นมะคาเดเมียพันธุ์741 พืชที่พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพืชที่จะช่วยลดสภาวะการเกิดโลกร้อน โดยช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวเขา


วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2528 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังสถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง เสด็จทอดพระเนตรงานของสถานีฯ หลังจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทอดพระเนตรบริเวณพื้นที่ผาแง่ม เพื่อหาแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการปลูกพืชสำหรับเกษตรกร


   

ครั้งนี้ จึงจัดพาสปอร์ตเดินตามเส้นทางรอยทางที่พ่อสร้าง  “จำนวน 5 จุด” จุดที่ 1 ชมนิทรรศการประวัติการทรงงาน จุดที่ 2 ศาลารถพระที่นั่ง จุดที่ 3 หุบรับเสด็จและพลับพลาทรงงาน ชมต้นบ๊วยที่ทรงปลูก (ปัจจุบันอายุ 34 ปี) และต้นมะคาเดเมีย(ปัจจุบันอายุ 32 ปี)

   

   

จุดที่ 4 แปลงกาแฟทรงทอดพระเนตรและมีพระราชดำรัสให้ทำงานวิจัยขยายผลสู่เกษตรกร พร้อมเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปกาแฟ


   

และจุดที่ 5 เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ลานเฮลิคอปเตอร์ แปลงทดลองมะคาเดเมีย กาแฟ และศาลาชมวิว เพื่อดูทัศนียภาพของแปลงขุนวาง


   

 ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงแม่จอนหลวง


   

แต่เนื่องจากสถานที่พักภายในอุทยานฯ ไม่เพียงพอ คณะของเราจึงมุ่งหน้าสู่ แม่จอนหลวง ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง เช่นเดียวกัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันเท่าใดนัก ที่นี่มีบ้านพักขนาดใหญ่และขนาดเล็กรวมถึงจุดกางเต๊นท์เอาไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวเช่นกัน แต่เนื่องจากยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนัก จึงมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักที่นี่ไม่มากนัก ดูเงียบสงบ สวยงาม ไม่พลุกพล่าน  เหมาะสำหรับนักเดินทางที่ต้องการบรรยากาศที่งดงามและเงียบสงบ

   

   

ในครั้งนี้ เราได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ใกล้เคียง ที่ไม่ควรพลาดอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยอินทนนท์


   

   

     

สักการะพระธาตุนภเมทนีดล และพระธาตุนภพลภูมิสิริ


  

และศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ แม้วันนี้จะไม่พบกล้วยไม้สักเพียงดอกเดียว แต่ดอกพญาเสือโคร่งสีชมพู ซึ่งสูงตระหง่านรอบอ่างเก็บน้ำ ก็ทำให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศที่สวยงามได้เช่นกัน


   

“เมื่อวานฝนตก ทำให้ต้นพญาเสือโคร่งต่างออกใบ ดอกที่ควรจะเบ่งบานเลยดูน้อยลง” ผอ.สมคิด รัตนบุรี ผอ.ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ บอกกับเรา


ตลาดขุนวางตลาดเก่าของชุมชนชาวเขา สามารถเลือกซื้อสินค้าได้แบบชิลๆ 


   

อย่างไรก็ตาม การเดินตามรอยที่พ่อสร้าง ซึ่งจัดขึ้นในครั้งนี้กิจกรรมต่างๆ จะจบลง หากแต่หลังจากวันงาน นักท่องเที่ยวยังคงสามารถเดินทางมาเยี่ยมชมส่วนจัดแสดงที่ศูนย์ ฯ ได้ตั้งถาวรเอาไว้ให้ชื่นชมพระบารมีได้ตลอด


..................................................................................................................................................

การเดินทาง


เส้นทางแรก จากจังหวัดเชียงใหม่ผ่านอำเภอสันป่าตอง เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1013 ไปอำเภอแม่วาง ผ่านอำเภอแม่วางไปจะมีทางแยกซ้ายมือให้เลี้ยวซ้าย จากนั้นเส้นทางจะลัดเลาะขึ้นภูเขาไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ช่วงสุดท้ายของเส้นทางนี้จะเป็นถนนดินแดงราว 5 กิโลเมตร หน้าฝนจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ เส้นทางนี้รวมระยะทาง 86 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

เส้นทางที่สอง จากจังหวัดเชียงใหม่ไปอำเภอจอมทองก่อนเข้าตัวอำเภอจอมทอง เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 1009 ขึ้นดอยอินทนนท์ จนถึงกิโลเมตรที่ 31 เลี้ยวขวา เป็นถนนลาดยางไปประมาณ 17 กิโลเมตรก็จะถึงที่ตั้งศูนย์วิจัยเกษตรหลวงดอยขุนวาง รวมระยะทาง 115 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 


ส่วนหากเดินทางด้วยรถประจำทาง จากประตูเชียงใหม่มาถึงจอมทอง จากนั้นต้องต่อรถสองแถวจากจอมทอง- แม่แจ่ม ลงตรงทางแยกขึ้นดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตร 31 จากจุดนี้ต้องเหมารถสองแถวให้เข้าไปยังขุนวางอีก 16 กิโลเมตร หรือเหมารถตั้งแต่ที่อำเภอจอมทองที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ภายในศูนย์ฯ เปิดทุกวัน เวลา 8.00- 16.00 น. มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 4 หลัง แต่ละหลังพักได้ตั้งแต่ 4-8 คน


มีที่กางเต็นท์ 2 จุดคือ บริเวณลานหญ้าหน้าอาคารสำนักงานและบริเวณหุบรับเสด็จ ทั้งสองจุดรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน มีอาหารบริการในราคากันเองแถมกาแฟอาราบิกาให้ชิมฟรีตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ควรติดต่อล่วงหน้าที่ โทร 053 – 114136 โทรสาร 0 5343 2276