Update Newsการตลาดธุรกิจ-เศรษฐกิจพาณิชย์เศรษฐกิจ

ทีเส็บ จัดงาน Thailand MICE Forum 2019 (TMF 2019) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยปี 63 

ทีเส็บ จัดงาน Thailand MICE Forum 2019 (TMF 2019) เวทีรวมพลผู้ประกอบการไมซ์ ดึงผู้บริหารระดับสูงจากสมาคมด้านไมซ์ระดับโลก ร่วมเปิดมุมมองเสริมความแกร่งไมซ์ไทย ประกาศศักยภาพไทยในฐานะจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับภูมิภาค พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยปี 2563 





นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บกำหนดจัดงาน Thailand MICE Forum 2019 หรือ TMF 2019 ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้วยยุทธศาสตร์ไมซ์” หรือ “Thailand’s Opportunity: Asia’s Top MICE Destination” เพื่อเป็นเวทีสร้างการรับรู้ และตื่นตัวให้กับผู้ประกอบการไมซ์ไทยร่วมสร้าง “โอกาส” และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจไมซ์ระดับเอเชีย (Asia’s Top MICE Destination) ไปด้วยกันอย่างมีทิศทางและแผนกลยุทธ์ในแนวทางเดียวกัน



“กิจกรรมไฮไลท์ปีนี้ คือ ทีเส็บได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของ 3 สมาคมด้านไมซ์ระดับโลก ได้แก่ สมาคมส่งเสริมธุรกิจการจัดอินเซนทีฟระดับโลก (SITE) สมาคมด้านการประชุมนานาชาติของโลก (ICCA) และสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก (UFI) มาร่วมพูดคุยเปิดมุมมองให้กับผู้ประกอบการไทยในหัวข้อเสริมแกร่งการแข่งขันไทย ด้วยมุมมองไมซ์โลก นอกจากนี้ ยังมีบรรยายพิเศษในหัวข้อ Customer-First Experience Creation for Business Events หรือ สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าประทับใจในวินาทีแรกผ่านการจัดงานเชิงธุรกิจ โดยผู้บริหารจากกลุ่มธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย ได้แก่ กลุ่มดุสิตธานี สยามพิวรรธน์ และไทยเบฟ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย รวมถึงการติดต่อทำธุรกิจไมซ์กับนานาชาติ”







ภายในงาน ทีเส็บ ในฐานะหน่วยงานรัฐหลักผู้ขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ พร้อมเปิดวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปี 2563 ชี้ทิศทางครอบคลุมทั้งด้านการดำเนินงาน การตลาด และการบริหารงาน โดยกำหนดกรอบการทำงานภายใต้ 5 แนวทางหลัก ประกอบด้วย การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ การสร้างและกระจายรายได้สู่ภูมิภาค การสร้างภาพลักษณ์ไมซ์ไทยและทีเส็บในฐานะองค์กรหลักที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ การพัฒนานวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน และการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กร มุ่งสู่การเป็นองค์การมหาชน 4.0 ทั้งด้านบุคลากร สำนักงาน กระบวนการทำงาน ด้วยการบริหารงานที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ เน้นการดึงงานสำคัญและสนับสนุนงานตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งงานใหญ่ในระดับภูมิภาคและระดับโลก สร้างและกระจายรายได้สู่ภูมิภาคเน้นเพิ่มการกระจายการจัดงานไมซ์ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับการจัดงานไปสู่นานาชาติ ทำแผนพัฒนาไมซ์เมืองรองและพัฒนามาตรฐานเมืองไมซ์ โดยเน้นการทำตลาดอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นผ่านโครงการไมซ์เพื่อชุมชน และโครงการพัฒนาในภูมิภาคและพื้นที่สำคัญ เช่น EEC, Thailand Riviera และให้ความสำคัญกับสื่อดิจิทัล ควบคู่กับงานวิจัย การจัดทำข้อมูล Big Data และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีสนับสนุนธุรกิจไมซ์ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง



สำหรับ ตลาดต่างประเทศ ยังคงให้น้ำหนักกับตลาดเอเชียเป็นหลักเพราะมีการเติบโตสูง โดยมีตลาดยุโรป อเมริกา และโอเชียเนียเป็นตลาดรอง พร้อมกับแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ทางด้านตลาดในประเทศ เน้นทำตลาดและสร้างงานในพื้นที่ที่มีศักยภาพ สร้างความเข้มแข็งเมืองที่มีศักยภาพและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น EEC รวมทั้งอุตสาหกรรมตามเป้าหมายของรัฐบาล เช่น กลุ่ม S-curve ด้านการเกษตร ท่องเที่ยว อาหาร และอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการจ้างงาน และการค้าการลงทุน นำไปสู่การจัดอันดับไมซ์ประเทศไทยในระดับโลก

ประมาณการเป้าหมายอุตสาหกรรมไมซ์ปี 2563 ไทยจะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 37,781,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 232,700 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,386,000 คน ทำรายได้ 105,600 ล้านบาท นักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศกว่า 36,395,000 คน คิดเป็นรายได้ 127,100 ล้านบาท







ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า ปีงบประมาณหน้าประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานไมซ์สำคัญหลายงาน เช่น การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่ด้านงานแสดงสินค้าโลก หรือ 86th UFI Global Congress จัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก (UFI) ระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 2562 ภายใต้แนวคิด “Platforms of Trust : Connect – Engage – Succeed คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 550 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก โดยในงานจะแบ่งเป็น 5 โซนกิจกรรม ประกอบด้วย Thai Town โซนพิเศษแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าและไมซ์ซิตี้ / สัมมนาเชิงธุรกิจ “ประเทศไทย” จุดหมายใหม่แห่งอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าของโลก / เวทีเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ / กิจกรรมเพื่อสังคม และกอล์ฟกระชับมิตร

ผู้เข้าร่วมงานจะสัมผัสประสบการณ์การจัดงานสะท้อนวัฒนธรรมและประเพณีไทย เช่น กิจกรรมงานบุญของไทยที่มีเสน่ห์และมีอัตลักษณ์ เช่น ชมเทศกาลงานวัด ศิลปะมวยไทย เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม ซึ่งจะจัดขึ้นในงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำ UFI Grand Night Out ณ วัดโพธิ์ท่าเตียน และส่งท้ายด้วยกิจกรรมสัมผัสกับประสบการณ์ชีวิตวิถีธรรมชาติ ณ ปฐม ออร์แกนิค วิลเลจ สวนสามพราน

“การเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ ทีเส็บมุ่งหวังว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากผู้เข้าร่วมงาน 550 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจกว่า 44 ล้านบาท อีกทั้งยังทำให้นานาชาติรับรู้ถึงความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก ยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางจัดงานแสดงสินค้าระดับโลก” นายจิรุตถ์ กล่าวสรุป

ด้าน มร.ไค ฮัทเทนดอฟ กรรมการผู้จัดการและประธานบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก หรือ UFI กล่าวว่า “ศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางงานแสดงสินค้านานาชาติได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ข้อมูลจากการวิจัยล่าสุดของ UFI ได้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีตำแหน่งทางการตลาดที่เหมาะสม สามารถรองรับการขยายตัวเพิ่มเติมได้เป็นอย่างดีในอนาคตอันใกล้นี้ อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยเปรียบได้กับกรณีศึกษาที่โดดเด่นสำหรับงานพัฒนา นโยบาย และการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่จับต้องได้นอกเหนือจากการท่องเที่ยว สำหรับทาง UFI สิ่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลือกกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานประชุมใหญ่ประจำปีด้านงานแสดงสินค้าระดับโลก หรือ 86th UFI Global Congress ในปีนี้”

นายทาลูน เทง นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์การจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตขึ้นทุกปี มีการขยายตัวของพื้นที่จัดงานมากขึ้น โดยแต่ละงานเริ่มมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้ร่วมงาน ผมมองว่าธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะเติบโตเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับโลก แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร การบริการ เทคโนโลยี กฎระเบียบบางอย่าง รวมถึงผู้ประกอบการที่ต้องร่วมกันพัฒนามาตรฐานของตนเอง และทำการตลาดในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อดึงงานแสดงสินค้าระดับโลกมาจัดในประเทศไทย

 “สำหรับงานแสดงสินค้าระดับโลก 86th UFI Global Congress 2019 ในปีนี้ที่ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ได้เป็นเจ้าภาพ ทางสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ และนับเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้พบปะผู้จัดงานระดับโลกที่เดินทางมายังประเทศไทยอีกด้วย” 

นอกจากนี้ มีงานไมซ์ไฮไลท์อีกมากมาย ในปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 ) ทั้งงานแสดงสินค้านานาชาติ อาทิ งาน ASEAN BIKE powered by EURO BIKE หรืองานแสดงสินค้าจักรยานอาเซียน (3-5 ต.ค. 2562) จำนวน 8,000 คน งาน Thailand Marine & Offshore Expo 2019 หรืองานมหกรรมอุตสาหกรรมนอกชายฝั่งทะเล การต่อเรือและการขนส่งทางเรือ (9-11 ต.ค. 2562) จำนวน 3,700 คน และ งาน VIV health & Nutrition Asia 2020 หรืองานแสดงเทคโนโลยีและสัมมนาสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์น้ำ (24-26 มี.ค. 2563) จำนวน 4,650 คน / งานประชุมนานาชาติ อาทิ งาน Asia Fitness Conference หรืองานประชุมนานาชาติเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ ด้านกีฬาและการออกกำลังกาย (10-14 ต.ค. 2562) จำนวน 1,200 คน กรุงเทพมหานคร 

งาน Routes Asia 2020 หรืองานประชุมนานาชาติ ด้านการดำเนินธุรกิจท่าอากาศยาน และการลงทุนด้านธุรกิจการบิน (8-10 มี.ค. 2563) จำนวน 1,200 คน เชียงใหม่ / งานประชุมสัมมนาและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล อาทิ งาน Herbalife Southeast Asia Extravaganza 2020 (14-17 พ.ค. 2563) จำนวน 10,000 คน / งานเมกะอีเว้นท์และเทศกาลนานาชาติ อาทิ งาน L’ÉTAPE THAILAND BY TOUR DE FRANCE รายการแข่งขันจักรยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งของโลก (25 - 27 ต.ค. 2562) จำนวน 16,000 คน พังงา / งานแสดงสินค้าในประเทศ อาทิ งาน Northeast Tech 2019 หรืองานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีใหญ่ที่สุดในอีสาน (31 ต.ค. – 3 พ.ย. 2562) จำนวน 40,000 คน นครราชสีมา และงาน Rice Expo 2019 หรืองานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลกครั้งที่ 20 (พ.ย. 62) ร้อยเอ็ด เป็นต้น