ปตท.สผ. ต่อยอดนวัตกรรมบ่อก๊าซชีวภาพเปลี่ยนมูลสัตว์สู่พลังงานครัวเรือน
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อเสิรมสร้างความมั่งคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่ไปกับสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 หมู่บ้านทับไฮ อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณโครงการสินภูฮ่อมของ ปตท.สผ. ประสบปัญหามลภาวะจากการลี้ยงสัตว์ มูลสัตว์โดยเฉพาะสุกร ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของชุมชน ก่อปัญหามลภาวะทางกลิ่น และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแพร่พันธ์ของเชื้อโรคและแมลงวัน ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ จึงเป็นภาระของฟาร์มหรือผู้ประกอบการในชุมชนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อดูแลและจัดการปัญหาเหล่านี้ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน นายกิตติศักดิ์ หิรัญญะประทีป ผู้จัดการอาวุโส โครงการร่วมทุนบนฝั่ง (ประเทศไทย) ปตท.สผ. เล่าว่า ปตท.สผ.เข้าไปร่วมกับชุมชนเพื่อช่วยแก้ปัญหา โดยการสนับสนุนการจัดทำโครงการบ่อก๊าซชีวภาพ (Bio-Gas) ส่งเสริมให้ชาวบ้านคัดแยกขยะในครัวเรือน จัดทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และกำจัดสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มสัตว์ ด้วยการจัดทำบ่อก๊าซชีวภาพ ซึ่งนำมาสู่การจัดการด้านพลังงานทดแทนในชุมชน ช่วยลดปัญหาขยะ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้เชื้อเพลิงสำหรับชุมชนและโรงเรียนในหมู่บ้าน นับเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งพาตนเองมาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและได้ความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี จนสามารถพลิกฟื้นวิกฤติปัญหาขยะในชุมชนให้กลายเป็นโอกาสได้ ปัจจุบันมีชุมชน 112 ครัวเรือนเข้าร่วมในโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ บ่อก๊าซชีวภาพดังกล่าว มีขนาดบ่อกว้างประมาณ 1.7 เมตร ยาว 4 เมตร และขุดลึกจากพื้นดินส่วนหัวบ่อประมาณ 0.8 เมตร ลาดเทไปยังส่วนท้ายบ่อลึก 1 เมตร สามารถผลิตก๊าซชีวภาพที่ใช้งานได้ทั้งกับฟาร์มขนาดใหญ่และขนาดย่อม ไปจนถึงโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กของชาวบ้านในชุมชน โดยประยุกต์ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นอุปกรณ์ สำหรับกักเก็บมูลสัตว์และหาจุดขุดหลุมสำหรับบ่อก๊าซ จากนั้นทำถุงหมักก๊าซชีวภาพจากพีวีซีที่มีราคาไม่แพง ขนาด 7 ลูกบาศก์เมตรต่อหลุม จากนั้นนำมูลสัตว์และขยะที่แยกไว้มาหมักจนได้ก๊าซมีเทนที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ เฉลี่ยวันละประมาณ 2-3 ลูกบาศก์เมตรต่อหลุม สามารถใช้ทดแทนก๊าซแอลพีจี (LPG) ได้ประมาณเดือนละ 1 ถัง ช่วยชาวบ้านประหยัดเงินค่าก๊าซได้ประมาณ 300-400 บาท ต่อครัวเรือน อีกทั้งเศษมูลสัตว์ที่เหลือจากบ่อก๊าซชีวภาพยังสามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมีไปได้อีกประมาณเดือนละ 300 บาทอีกด้วย นายฉัตรชัย เหลาเกลี้ยงดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทับไฮ กล่าวว่า โรงเรียนได้จัดทำบ่อก๊าซชีวภาพมา 3 ปี แล้ว ปัจจุบันมีบ่อก๊าซชีวภาพจำนวน 2 บ่อ ที่ผลิตก๊าซมีเทนจากเศษอาหารและหญ้าเนเปียร์สับ เทลงทางปากบ่อหมักก๊าซรูปร่างคล้ายแคปซูลขนาดใหญ่สีดำตามสีของผ้ายางที่ทำจากพีวีซี ซึ่งได้รับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ รวมทั้งงบประมาณจาก ปตท.สผ. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของก๊าซหุงต้มลงได้อย่างเห็นชัด หากเทียบกับการซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละถัง ใน 3 ปี โรงเรียนสามารถประหยัดงบประมาณการซื้อก๊าซหุ้งต้ม มูลค่ามากกว่า 14,000 บาท “ปัจจุบันโรงเรียนปลูกหญ้าเนเปียร์บนพื้นที่ประมาณ 1 งานกว่าเพื่อนำมาสับละเอียดใช้เติมลงบ่อก๊าซชีวภาพ เพิ่มเติมจากเศษอาหารและบางครั้ง ก็ให้นักเรียนตัดหญ้าเนเปียร์ไปแลกมูลวัว มูลควาย มูลไก่ มูลหมู ของเสียจากสัตว์นานาชนิดในหมู่บ้านมาเป็นวัตถุดิบสำหรับเติมลงบ่อหมักเพื่อให้ได้ก๊าซที่เพียงพอต่อการใช้ประกอบอาหารสำหรับนักเรียน ในอนาคตโรงเรียนบ้านทับไฮอาจมีโครงการจัดหาวัวมาเลี้ยง โดยให้หญ้าเนเปียร์เป็นอาหาร และนำมูลวัวมาเติมบ่อก๊าซชีวภาพอย่างจริงจัง” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทับไฮ กล่าว นายละม่อม สิทธิศาสตร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านทับไฮ ตำบลแสงสว่าง อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี เล่าว่า โครงการกำจัดมูลสัตว์นำมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน นอกจากจะช่วยแก้ปัญหากลิ่นเหม็นของมูลหมูและขยะจากเศษอาหารได้แล้ว ยังได้เชื้อเพลิงมาใช้เพื่อประกอบอาหารสำหรับสมาชิกในครอบครัว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก การติดตั้งและการบำรุงรักษาบ่อก๊าซชีวภาพก็สามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม เมื่อเราเริ่มทำแล้วได้ผลและเกิดประโยชน์จริง ทำให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม ตอนนี้หมู่บ้านทับไฮหลายครัวเรือนมีบ่อก๊าซเป็นของตัวเองแล้ว และคาดว่าจะมีชาวบ้านทำบ่อก๊าซเพิ่มมากขึ้นอีก ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประโยชน์ที่ชาวบ้านกว่าร้อยครัวเรือนในหมู่บ้านทับไฮ ได้ร่วมกันพลิกวิกฤติปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูลจากมูลสัตว์ ให้กลายเป็นพลังงานที่มีคุณค่า จากโครงการบ่อก๊าซชีวภาพ (Bio-Gas) นับเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า โครงการดังกล่าวเป็นโมเดลชุมชนต้นแบบที่สามารถแก้ปัญหาของชุมชนด้วยการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานที่มีประโยชน์ ช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงที่พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ชุมชนใกล้เคียงได้ต่อไปในอนาคต