สังคม

พม. รับหนังสือข้อเรียกร้องจากผู้แทนกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและองค์กรเครือข่าย

   

วันที่ 18 มี.ค. 60 เวลา 13.00 น. นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ให้การต้อนรับและรับมอบข้อเสนอจากผู้แทนกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและองค์กรเครือข่าย จำนวน 20 คน ซึ่งประกอบด้วย ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคตะวันออก กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี กลุ่มผู้ใช้แรงงานรังสิต กลุ่มผู้ใช้แรงงานอ้อมน้อย กลุ่มผู้ใช้แรงงานอ้อมใหญ่ กลุ่มผู้ใช้แรงงานพระนครศรีอยุธยา กลุ่มผู้ใช้แรงงานนอกระบบ ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพฯ

นายไมตรี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มีภารกิจสำคัญประการหนึ่งคือการพัฒนาศักยภาพ คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์สตรี และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคม โดยได้ขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านสตรี มาอย่างต่อเนื่อง

และวันนี้ในฐานะผู้แทนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้การต้อนรับกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและองค์กรเครือข่าย พร้อมทั้งเป็นผู้แทนรับมอบหนังสือข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2560 อีกทั้งได้ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุข้อเสนอ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและเครือข่าย

นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและเครือข่าย ประกอบด้วยข้อเรียกร้องหลัก ได้แก่ 1) รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา 2) รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน อย่างทั่วถึง มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนเวลา เปิด – ปิดศูนย์ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน 3) รัฐต้องกำหนดให้มีสัดส่วนหญิง – ชาย 50 : 50 ในคณะกรรมการทุกมิติ 4) รัฐต้องกำหนดวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดราชการและวันหยุดตามประเพณี และข้อเรียกร้องประเด็นย่อย

ได้แก่ 1) ให้รัฐเพิ่มวันลาคลอดจากเดิม 90 วันเป็น 120 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 2) รัฐต้องให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิตรวจมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมฟรี 3) ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้กับลูกแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีทุกคน 4) ให้รัฐจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แรงงานหญิงนอกระบบหลังคลอดบุตร ระยะเวลาเท่ากับที่แรงงานในระบบได้รับ และ 5) รัฐต้องให้ลูกจ้างเอกชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจชาย ลาไปดูแลภรรยาและบุตรหลังคลอดโดยได้รับค่าจ้าง 30 วัน

“ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการพัฒนาศักยภาพสตรีของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และนำข้อเรียกร้องเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป” นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย