พลังสร้างสรรค์โลก รวมพลังพ่อของแผ่นดิน
Special Scoop
เมื่อไม่นานมานี้ Btripnews ได้มีโอกาสไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์สานต่อการสร้าง “หลุมขนมครก” ที่ใหญ่ที่สุดในไทย “ป่าสักโมเดล” ศูนย์เรียนรู้ ตามศาสตร์พระราชาที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกของประเทศ ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่ห้วยกระแทก จังหวัดลพบุรี ที่จะหยุดท่วม หยุดแล้ง ได้อย่างยั่งยืน
บนเนื้อที่ 600 ไร่ ภายในหน่วยบัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ ซึ่งประกอบไปด้วย แก้มลิง โคกหนองนา ดาราโมเดล เขาหัวโล้นเปลี่ยนเป็นเขาหัวจุก แท็งก์น้ำยักษ์และ 9 ฐานการเรียนรู้อย่างพอเพียง ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 4 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสครองราชย์ครบ 70 ปี
พลโท ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี หนึ่งในผู้นำโครงการ ป่าสักโมเดล ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดของโครงการ ป่าสักโมเดล ว่า “….บริเวณนี้ ห้วยกระแทก อีกด้านเป็นห้วยทับเหล็ก เป็นที่ที่มีน้ำสองห้วยที่ไหลผ่าน จึงเป็นที่รับน้ำของห้วยทั้งสอง ในปี 2556 จึงทำเป็นอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 1 และ 2 พื้นที่เก็บน้ำทั้งหมด หนึ่งล้านคิว
จนปี 2558 มีการพิจารณาว่ายังมีพื้นที่ว่างทำเป็นอ่างเก็บน้ำได้อีกโดยใช้พื้นที่ทหารเช่นเดิม จึงมีการทำห้วยกระแทกเฟซ 3 เดิมทำเป็นสี่เหลี่ยม เป็นชลประทานแบบสี่เหลี่ยม
แต่หลังจากปี 2556-2557 ได้รู้จักกับทางศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ของ อ.ยักษ์ – ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เราจึงมีแนวคิดว่าจะทำพื้นที่แก้มลิงเป็นพื้นที่โครงการศูนย์เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยบัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชาภูมิปัญญาท้องถิ่น ขึ้นที่นี่ โดยผศ.พิเชษฐ์ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เป็นผู้ออกแบบพื้นที่
……ลักษณะอ่างเก็บน้ำจะไม่เป็นสี่เหลี่ยม จะเป็นฟรีฟอร์มไปตามลักษณะพื้นที่ ถือเป็นที่แรก ทางชลประทานก็สามารถทำได้ เราใช้ประโยชน์ด้านอื่นด้วย ซึ่งจะเป็นตัวแบบให้แก่ประชาชน เนื้องานต่างๆก็เป็นไปตามเนื้องานที่ชลประทานทั้งหมด เพียงแต่ขอให้รูปแบบสอดคล้องกับทางโครงการที่เราทำโมเดลโคก หนอง นานี้
เราต้องมีดินในแหล่งน้ำ เพื่อนำไปปลูกพืช 3 อย่าง ใช้ประโยชน์ 4 อย่าง ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงดำรัส ถ้ามีนาก็จะมีหลายรูปแบบ ถ้าพื้นที่ราบจะเป็นนาราบ แต่ถ้าเป็นโคกจะเป็นนาขั้นบันได ซึ่งในพื้นที่เฟซ 3 แห่งนี้ จึงใช้เป็นโมเดลของ โคก หนอง นา ให้ตรงนี้เป็นโมเดลทฤษฎีใหม่ ซึ่งเดิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแบ่งเป็น 30 – 30 40 แบ่งพื้นที่เป็นการดำเนินงานว่าจะเป็นนากี่ส่วน พื้นที่อยู่อาศัยกี่ส่วน ปลูกพืชที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าอธิบายให้ฟังง่ายๆ ก็คือ โคก หนอง นา ใครนำไปทำในพื้นที่ของตัวเองก็สามารถทำได้ในทุกรูปแบบของพื้นที่ เราจะมีโมเดลต่างๆ เอาไว้
พื้นที่นี้ก็จะสร้างสถานีต่างๆ เพื่อเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ว่า ถ้าจะทำให้พื้นที่สูงเก็บน้ำได้จะต้องทำอย่างไร ที่ลุ่มอย่างไร น้ำใช้แล้วไม่ให้เสียประโยชน์จะนำไปใช้ต่อได้อย่างไร ทำอย่างไรให้พื้นที่ดินเก็บน้ำได้ บางท่านจะเข้าใจว่า พื้นที่หลุมบ่อ เกรงว่าจะไม่เก็บน้ำ แต่จริงๆแล้วมีศาสตร์มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอนกันไว้เป็นรุ่นๆ มาเช่น พื้นที่เราขุดบ่อหรือเรียกว่าหลุมขนมครก ที่พระองค์ทรงดำรัสให้ทำหลุมขนมครกไว้เยอะๆ เพื่อให้เก็บน้ำไว้ได้เยอะๆ บางแห่งถ้าเก็บน้ำไม่ได้ ก็จะมีวิธีการ เช่นใช้ฟาง หรือมูลสัตว์ โดยลงไปย่ำก็จะทำให้บ่อนั้นที่คิดว่าเก็บน้ำไม่ได้จะเก็บน้ำได้ เรานำศาสตร์พวกนี้มาทำ ไม่ใช่บ่อใหญ่ แต่บ่อทำอยู่บนยอดเขาสูงก็ใช้ได้ เมื่อมีน้ำ ก็สามารถทำเกษตรทำกสิกรรมเลี้ยงตัวเองได้”
พลโท ธนศักดิ์ เล่าให้ฟังต่อถึงการทำกสิกรรมในปัจจุบันว่า “ผมมองว่าปัจจุบันนี้ถ้าจะมาหวังน้ำชลประทาน หรือน้ำฝน ทำเกษตรกรรมไม่ได้ ต้องมีน้ำต้นทุน การมีน้ำต้นทุนก็ต้องแล้วแต่ระดับ ใครมีพื้นที่ใหญ่ ก็ต้องเสียสละพื้นที่ตัวเองทำอ่างน้ำขนาดใหญ่
เช่นเดิมปลูกข้าวสิบไร่ เพราะหวังจากน้ำชลประทานหรือฝน ปัจจุบันไม่ได้ ก็ต้องยอมเสียพื้นที่สักสองถึงสามไร่เพื่อทำที่เก็บน้ำต้นทุน ยอมให้พื้นที่ทำข้าวน้อยหน่อยแต่ก็มีน้ำรองรับว่าทำได้ทั้งปี ตรงนี้ถือเป็นน้ำต้นทุนโดยไม่ต้องพึ่งสภาพดินฟ้าอากาศ และอีกอย่างหนึ่งแหล่งน้ำที่มีถ้าแปลงผลผลิตแล้วได้มากกว่าข้าวคือการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง อัตราการแลกเนื้อผลผลิตบางทีสูงกว่าข้าวซะอีก
เราใช้ชื่อโครงการนี้ว่า โครงการศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ในระดับจังหวัดหรือผู้ว่าฯได้คุยกันแล้วว่า ตัวอย่างความสำเร็จของสถานที่นี้เราจะเรียกว่า ป่าสักโมเดล เป็นป่าสักโมเดล หมายความว่า การที่เราจะพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ตามที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงดำรัสไว้ว่า จัดการยากที่สุด เพราะลุ่มน้ำป่าสักลาดชัน คือพอฝนตกลงมาน้ำจะไหลลงเร็ว ถ้าพวกเรายังถางป่าอยู่น้ำที่ไหลลงมาก็จะไม่ค่อยๆ ไหลลงมา แต่จะไหลลงมาอย่างรวดเร็ว เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ท่านสร้างไว้ก็เก็บน้ำได้ไม่เพียงพอ การที่เรานำน้ำไปใส่เร็วๆ อ่างน้ำก็จะไม่มีระบบ แต่ถ้าข้างบนโกร๋นหมด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แค่ไหนก็เก็บน้ำไม่ทัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดำรัสตรงนี้ว่า เขื่อนป่าสักฯ เก็บน้ำไม่ทันต่อน้ำที่ไหลลงมา การที่น้ำไหลลงมาเกิดจากการถางป่า และสภาพภูมิประเทศที่ลาดชัน เกิดจากการที่เราไม่มีบ่อไม่มีหลุมขนมครก เก็บน้ำไว้เยอะๆ ถ้าเรามีหลุมเก็บน้ำไว้เยอะๆ เหมือนถาดขนมครก น้ำที่ตกลงมาก็จะไหลบ่าลงมาน้อยลง ตรงนี้คือที่พระองค์ท่านดำรัสไว้ตอนที่ประชวรที่รพ.ศิริราช ปี 2556 และทรงดำรัสว่า “ถ้าท่านหายประชวรท่านจะมาช่วยเราได้มากกว่านี้”
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (The Power of Human Energy : A Journey Inspired by the King) จึงเกิดขึ้นหลังปี 2556 ถึงตอนนี้ก็เป็นปีที่ 4 แล้ว”
การดำเนินงานโครงการเป็นลักษณะของการเดินทางใน 9 วัน โดยจะกำหนดขึ้นในแต่ละปีแตกต่างกัน
ปีที่ 1 ออกจากจากรพ.ศิริราชและรณรงค์มาจบที่จังหวัดสระบุรี ในระหว่างนั้นก็จะไปทำตัวอย่างความสำเร็จหรือไปยังสถานที่ที่มวลสมาชิกได้นำศาสตร์พระราชา ทำสำเร็จ ก็ให้ไปดูและประชาสัมพันธ์ รณรงค์กันว่าทำแบบนี้จึงจะอยู่ได้
ปีที่ 2 ขบวน 9 วันเหมือนกัน เริ่มจากสระบุรีและไปจบที่เพชรบูรณ์ มีขบวนจักรยาน รถ เดินทางไปค้างคืนเป็นจุดๆ ให้คนไปศึกษาเรียนรู้ เช่นผ่านไปสระบุรีไปบ้านนางบุญล้อม เต้าแก้ว ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมจากมาบเอื้องและสามารถนำศาสตร์นี้กลับไปใช้ปรับปรุงจนผืนนาประสบความสำเร็จ สามารถทำนาได้ตามที่ต้องการตามศาสตร์ของพระราชา
ปีที่3 ปีที่แล้ว ก็เริ่มขึ้นที่บริเวณศูนย์สงครามพิเศษเหมือนกันแต่ไปจบที่ ซับลังกา
พลโท ธนศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ปีนี้พิเศษ คือ ทุกอย่างมารวมที่นี่ เป็นโรงจัดนิทรรศการ สมาชิกที่ช่วยกันมาตั้งแต่ปีที่ 1 อย่างเชฟรอน เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ให้กับโครงการนี้ ก็นำพนักงานเข้ามาเรียนรู้ เหมือนกับนิทรรศการแต่ไม่ใช่นิทรรศการที่เข้ามาดูอย่างเดียว แต่คุณมาร่วมกันทำนิทรรศการด้วย มาทำสานตุ่ม แท้งค์ยักษ์ หลุมขนมครก ทำนาขั้นบันได ก็เหมือนกับเป็นนิทรรศการมีชีวิต
มีสมาชิกชาวน่าน คนเบื่อเมือง หมายความว่าอยู่ในเมืองแล้วสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ก็สามารถกลับบ้านได้ สำหรับคนที่มาจากต่างจังหวัดสามารถนำกลับไปสู่ท้องถิ่นตนเองได้
หลังจากเริ่มมา เราได้มีการเก็บข้อมูล พบว่าตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงทุกวันนี้ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาก มีเครือข่ายเยอะ และสิ่งที่ทำจับต้องได้ นำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาผนวกกัน ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าทำได้ อาจารย์ยักษ์ เคยทำงานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มา 11 ปี ทำให้ซึมซับทุกสิ่งทุกอย่าง และก็ไปทำในที่ของท่านที่พนัสนิคม ที่มาบเอื้อง จากที่ที่ทุรกันดารดินยังขุดไม่ลงเลย แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไป
ซึ่งที่มาของโครงการนี้ มาจากที่ผู้บัญชาการทหารบกหรือพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้ดูละครเทิดพระเกียรติในช่วงปลายปี 2556 เป็นละครเทิดพระเกียรติของโครงการนี้ ชื่อ เย็นศิระน้ำพระทัย ซึ่งบริษัท เจเอสแอล ได้มาถ่ายทำและสร้างละครเทิดพระเกียรติ ในช่วงปีแรกที่มีการทำนิทรรศการ 9 วัน
เนื้อเรื่องละคร ถ่ายทอดผ่านเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่รู้จักโครงการพระราชดำริ ไม่รู้จักว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทำอะไร ในละครบอกเล่าถึงความลำบากลำบนที่เด็กวัยรุ่นผู้นั้นได้รับและจะหนีกลับบ้านในช่วงสามวันแรก แต่ด้วยการได้เข้ามาอยู่ในโครงการตลอด 9 วัน ทำให้ได้ซึมซับ ได้เรียนรู้และทำให้ทัศนคติของเด็กคนนี้เปลี่ยนแปลงไป และรับรู้ว่า สิ่งที่พระองค์ทำคืออะไร
ละครเรื่องนั้นบังเอิญ ผมก็ได้ดู ตอนนั้นยังไม่รู้จักอาจารย์ยักษ์เลย และผบ.ทบ.ท่านดูเรื่องนี้เหมือนกัน เมื่อจบละครท่านสั่งให้ทหารทุกค่ายไปเรียนที่มาบเอื้องของอาจารย์ยักษ์ ตอนนั้นทหารก็ไปเรียนกัน 500 คน ของผมก็มีจัดไป 15 คน เป็นรุ่นหนึ่งที่ไปเรียนเมื่อปลายปี 2556
ท่านก็บอกว่าเมื่อเรียนแล้วให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อสอนกำลังพลของหน่วย หรืออย่างน้อยพลทหารที่จบประจำการไปแล้วจะได้นำกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเอง นอกจากนั้นก็สอนให้ประชาชนสานต่อยอดต่อไป
เราก็เปิดมาตั้งแต่ปลายปี 2556 เป็นศูนย์เล็กๆ อยู่ด้านหน้าวัดใหม่เอราวัณ ก็แนะนำอบรมทหารและประชาชนเรื่อยมา จนกระทั่งปีนี้ ที่ตัดสินใจทำเป็นป่าสักโมเดล ถือเป็นโคก หนอง นา ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
เราใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ มีองค์ความรู้ เพื่อเป็นตัวแบบให้คนมาศึกษาเรียนรู้ อาจารย์ยักษ์บอกว่าตรงนี้เป็นโคกหนองนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่าในอนาคตจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษา ประชาชน เราเปิดกว้าง ใครสนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมหรือมาฝึกอบรมได้ โดย เรามีบุคลากรหลัก เครือข่ายแน่นมาก ตรงนี้เราถือว่าทำด้วยใจ เราเรียกว่าคนมีใจ ซึ่งถ้าทำอะไรด้วยใจก็สามารถประสบความสำเร็จทั้งหมด ทุกคนที่มาคือคนมีใจ พูดภาษาเดียวกันหมด ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เสียสละ ทำเพื่อสังคม เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อให้พระองค์ปลาบปลื้มดีพระทัย
จากวันแรกถึงวันนี้ เราได้เปิดการอบรมมาสิบกว่ารุ่นแล้ว มีทั้งพลทหาร เด็กนักเรียน ประมาณ 3,000 คน ซึ่งได้ต่อยอดไปยังส่วนอื่นๆ ทั่วประเทศ แม้เราจะยังไม่ได้วัดผล แต่จากการติดตามในแต่ละพื้นที่มีเสียงสะท้อนกลับมาว่า เขาไปทำแบบนี้แล้วได้ผล ก็จะพูดกันปากต่อปาก แต่สิ่งที่จะทำได้จริงๆ คือลงมือทำ ถ้ามาเห็นแล้วกลับไปก็เฉยๆ ก็จะไม่เห็นผล สิ่งสำคัญตรงนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้กลับไปทำ
ในส่วนของการรณรงค์ให้เกษตรกร หรือ บุคคลทั่วไป พลโทธนศักดิ์ กล่าวว่า “ การกระตุ้นตอนนี้หนึ่งคือ ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ทั้งทางสื่อและการต่อยอดจากดาราที่มา เรามีดาราในโครงการนี้ สี่คน มีแพนเค้ก เขมนิจ มีบอย พิษณุ ซี ศิวัฒน์ เกล้า จิรายุ สิ่งที่เห็นชัดเจนคือที่สุรินทร์ แพนเค้กกับบอยไปซื้อที่ที่สุรินทร์ซึ่งเป็นที่แล้ง ปลูกข้าวได้บ้างไม่ได้บ้าง และก็ทำโครงการนี้ลงไปปรากฎว่า คนอื่นยังแล้ง แต่ของแพนเค้กและบอยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และยังมีน้ำสำหรับการเกษตรต่อไป ปรากฎว่าชาวบ้านที่นั่นเริ่มทำตามกับสิ่งที่เห็น”
ด้านข้อจำกัดในการทำโคกหนองนา ผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ เผยว่า “เรื่องที่ดินไม่มีข้อจำกัดในการทำโคก หนอง นา จะเป็นเนื้อที่กว้าง 100 หรือ 200 ตารางวา หรือ 10 ไร่ หรือ 600 ไร่ ก็ทำได้เช่นที่นี่
อยู่ในเมืองก็ทำได้อย่าง โคก คือ หลังคา หนองก็คือตุ่มน้ำ นาก็คือพื้นที่ของคุณในบ้านจัดสรร เหมือนปลูกผักแนวตั้ง อย่างที่ที่บ้านพี่ 9 ไร่ ที่นครนายก อาจารย์พิเชษฐ์ ออกแบบให้แล้ว หลังเกษียณจะเข้าไปปรับปรุงที่ของตัวเองเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่คนในพื้นที่นั้นได้เข้ามาดูเป็นตัวอย่าง เพราะทำข้าวไม่ได้มา 2-3 ปีแล้ว เพราะชลประทานไม่ได้ น้ำขาดแคลน พี่มองว่า ปัจจุบันการกสิกรรมในอนาคต ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เสียสละ และต้องมองเห็นว่าอะไรที่จะทำให้อยู่รอดได้อย่างแท้จริง
ในอนาคต ทางศูนย์ฯ จะเซ็ทหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรเดียวกับมาบเอื้อง เปิดอบรมเดือนละ 1 รุ่น อบรม 4 – 5 วัน โดยจะจัดตั้งเป็นมูลนิธิและจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรืออย่างน้อยก็เสียค่าใช้จ่ายน้อยสุด ซึ่งจะมาในรูปแบบของกองทุนฯ คือตอนนี้เราทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คิดว่าต้นปี 2560 น่าจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าอบรมได้อย่างน้อย 100 คนต่อรุ่น”
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ นายทหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนฯ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โทร 090 973 9523 หรือติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทาง Facebook : รวมพลังตามรอยพ่อประมวลภาพบรรยากาศวันเปิดโครงการ ป่าสักโมเดล
ในภาควิชาการ เราได้พบกับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ อดีตข้าราชการ อดีตอาจารย์ด้านบริหารธุรกิจ ผู้ทุ่มเทกับการพิสูจน์ความจริงว่าแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาความพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือแนวทางที่ช่วยให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง และเป็นเกษตรกรรมที่เอื้อต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นผู้ก่อกำเนิด “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง
แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่อาจารย์ยักษ์ พาเราขึ้นมานั่งบนบ้าน หรือแคร่ที่ปลูกบนโคกในศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้ ที่ขยายความให้กับคำถามที่ว่า ระหว่างพื้นที่อื่นๆ ที่เคยทำมา กับพื้นที่แห่งนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร
“ หลักการเดียวกัน ไม่แตกต่าง เพราะหลักการออกแบบคือการวางแผนการใช้ที่ดิน เพื่อการจัดการน้ำ เพื่อการจัดสร้างฟื้นฟูป่า การเพาะปลูกและการดำรงชีวิตของชาวบ้านก็ต้องประยุกต์ใช้สองเรื่องหลัก คือ ให้เหมาะกับภูมิประเทศและสังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงใช้คำว่า ภูมิสังคม
ภูมิศาสตร์อยู่ชายเขา บริเวณนี้พื้นเดิมเป็นที่นาที่ราบ แต่เราต้องการจะมีหนองน้ำสำหรับเก็บน้ำไว้ วัตถุประสงค์คือ ที่นี่สูงจากน้ำทะเล 44 เมตร น้ำฝนที่มาจากเขาทั้งหมดให้มาสต็อปไว้ที่นี่ ไม่อย่างนั้นจะลามท่วมทั้งเมือง ข้างล่างเป็นเมืองทั้งนั้น แต่ถ้าเราทำตรงนี้ น้ำจากเขาจะถูกเก็บไว้เท่าที่จะทำได้
เราประยุกต์ทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเรียกว่า โคก หนอง นา ถ้าต้องการหนองน้ำ ก็สต็อคน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง ฤดูฝนไม่ให้น้ำท่วมก็มาขุดหนอง ดินไปไหนก็เอามาถมเป็นโคก แล้วได้หนอง ได้โคกก็ปรับคันนาเพื่อจะได้มีข้าวกิน ก็จะมีท้องนา ลำคลอง มีหนองมีโคก
หลักการเดียวกันหมดทั้งประเทศ แต่ถ้าเป็นภูเขาสูงก็จะปรับตามภูมิประเทศ สำหรับพื้นที่ตรงนี้ 600 ไร่ ก็ได้แบ่งกันทำส่วนหนึ่งเป็นหนอง เพื่อช่วยบรรเทาไม่ให้ไปท่วมตัวเมืองลพบุรี มีส่วนของดาราโมเดล มีหนองสามแห่ง ฝนตกลงมาก็มีคลองล้อมรอบ ให้ไหลคดไปคดมา จึงเรียกว่าคลองไส้ไก่ เพราะคดเคี้ยว ก็ควบคุมน้ำให้ไปไหลตรงที่เราต้องการ บนโคกก็ปลูกป่า เปรียบเสมือนฟองน้ำ เรียกว่าป่าสามอย่างแต่ให้ประโยชน์สี่อย่าง
ด้วยวิถีอย่างนี้ คนก็อยู่กับป่าได้ เพราะป่ามีทุกอย่าง มีข้าว มีหนอง มีปลา มีผัก คนสามารถดำรงชีวิตอยู่กับป่า เขา นา โคกได้ โดยไม่ต้องขับไล่ออกจากป่า ขณะเดียวกันป่าก็ไม่ต้องถูกทำลาย เป็นแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งนี้จึงมีหลายส่วนที่มีใจเดียวกัน มาช่วยกันทำทั้ง 18 จังหวัด ทั้งเครือข่ายคริสตจักรที่นำแนวคิดไปเผยแพร่แล้วได้ผล มีเครือข่ายเอามื้อทางภาคเหนือ เครือข่ายกลุ่มเบื่อเมืองที่จังหวัดน่าน ก็เป็นบก.ของหนังสือททท. อยากนำศาสตร์นี้กลับไปทำที่บ้านเกิดก็รวบรวมเพื่อนฝูงซื้อที่ 50 ไร่และทำขึ้น จากภูเขาหัวโล้นเปลี่ยนเป็นเขาหัวจุก เป็นต้น เหล่านี้ทำได้ผลจริง จึงนำมาย่อส่วนจัดทำขึ้นที่นี่เพื่อให้ความรู้แก่คนทั่วไป มีดาราโมเดลที่เขาไปทำที่สุรินทร์ ไปซื้อที่ทำกันจริงๆ จนชาวบ้านเห็นผลและทำกันบ้าง ขยายตัวออกไป เราก็นำมาสร้างเป็นโมเดลเอาไว้ที่นี่
ถึงวันนี้ ดีใจมาก ผมทำงานเผยแพร่โครงการพระราชดำริ ตลอดชีวิตราชการมา ไม่แตกตัวเลย แตกเฉพาะตัวงบ แต่ตรงนี้ไม่มีงบ ชาวบ้านดิ้นรนขยายกันเอง ก็อาศัยความเป็นดาราเขา นอกจากทำแล้วเห็นประโยชน์จริง จึงเริ่มทำตามกัน เราก็ดิ้นรนหาทุนไป ท่านรับสั่งว่าชาวบ้านอาจจะไม่มีกำลังจะไปจ้างรถขุด เราจึงระดมกันไป ก็เรี่ยไรกันมาช่วยกัน
ท่านรับสั่งคนอยู่กับป่า แต่คนไม่ค่อยทำให้ท่าน ไม่ใช่คนไปอยู่ที่ไหนเป็นข้าวโพดหมด ข้าวโพดก็ได้ เหลือป่าบ้าง จะได้แฟร์กับป่า มีชาวบ้านจากอีสานที่ทำแล้วเห็นผลมาเล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาเคยแต่ปลูกป่า แต่เป็น ป่าข้าวโพด ป่าอ้อย ป่ายางพารา ป่ามันสำปะหลังได้ดอกทุกอย่าง เหมือนกัน แต่เป็นดอกเบี้ย”
อาจารย์ยักษ์กล่าวท้ายสุดว่า “โครงการนี้จะสำเร็จได้ต้องเป็นคนที่มีใจมาทำ ทุกคนมาที่นี่จึงมาด้วยหัวใจกันทุกคน มารวมพลังเพื่อสร้างสรรค์โลก รวมพลังเพื่อพ่อของแผ่นดิน”เชฟรอน ผู้สนับสนุนหลัก โครงการ “พลังสร้างสรรค์โลก รวมพลังพ่อของแผ่นดิน” คุณหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัทเชฟรอน สำรวจและผลิตจำกัด เผยถึงโครงการพลังสร้างสรรค์โลก รวมพลังพ่อของแผ่นดิน ว่า “เกิดจากกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติร่วมกับบริษัทเชฟรอน สำรวจและผลิตจำกัด ตั้งแต่ปี 2556 โดยสืบเนื่องจากปี 2554 กรุงเทพฯมีน้ำท่วมใหญ่ จนปลายปี 2555 ทางสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้มาคุยกับทางบริษัทว่ามีโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะดูแลการจัดการทรัพยากรน้ำ หยุดท่วมหยุดแล้งอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเป้ามาที่ลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพฯมากที่สุด ทางเชฟรอนดูโครงการแล้วน่าสนใจมากเพราะเป็นโครงการที่นำศาสตร์พระราชากับภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงเกิดความร่วมมือกันในปีแรกขึ้น
ต่อมาก็มีภาคส่วนอื่นๆมาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นราชการ ทหาร ทางวิชาการและสื่อมวลชน มีเจเอสแอลเข้ามาร่วมตั้งแต่ปีแรกช่วยเผยแพร่ศาสตร์พระราชานี้ได้เผยแพร่ออกไป ปีแรกๆ เราทำโครงการเป็นกิจกรรมเก้าวันเดินทางจากปลายน้ำขึ้นไปหาต้นน้ำ ศิริราชไปธรรมศาสตร์รังสิต ขึ้นไปเรื่อยๆ จนมาที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อเยี่ยมชมจุดต่างๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านชุมชนที่ได้นำศาสตร์พระราชาได้ผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กสิกรรมของชาวบ้าน โดยนำดาราเข้ามาตั้งแต่ในปีแรกปีที่สองไปที่เพชรบูรณ์ เป็นต้นน้ำ ข้างบนและเดินทางลงมาข้างล่าง ปีที่สามก็เริ่มที่ลพบุรี เปิดตัวที่วัดใหม่เอราวัณ มีการเดินทางขึ้นไปเหมือนกัน
ปีนี้ปีที่สี่เลยเปลี่ยนรูปแบบ เพราะคิดว่าเราเดินทางกันมาสามปีแล้ว ได้แวะชมส่วนต่างๆ ทั่วลุ่มน้ำป่าสัก ก็มีโมเดล โคกหนองนา ถูกนำไปปฏิบัติในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นน่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย อุดร สุรินทร์ จึงเกิดความคิดว่าเราน่าจะมาปักหลักอยู่ที่นี่เลย ไม่ต้องเดินวิ่งปั่นไปไหน แต่นำความสำเร็จจากที่ต่างๆ มาทำเป็นศูนย์เรียนรู้เป็นนิทรรศการมีชีวิตให้เรียนรู้ได้จริง ที่ค่ายศูนย์สงครามพิเศษ ท่านผู้บัญชาการก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ ท่านผู้ว่าฯก็ให้การสนับสนุน ก็มีการออกแบบและขุดสระ ขุดห้วยขึ้นมาโดยใช้หลักของโคก หนอง นา โมเดล คือไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยม แต่เมื่อเอาศาสตร์ของพระราชามาใช้จะมีโค้งมีเว้า ความลึกก็จะต่างระดับกัน เพื่อที่จะให้ปลาได้อยู่ จะปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ อีกหน่อยก็จะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ให้กับลพบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของลพบุรีด้วย และเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย
ภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ประกอบด้วย สี่ฐาน ฐานจำลองมาจากจังหวัดสุรินทร์ เมื่อแพนเค้กกับบอยมาเริ่มโครงการตั้งแต่ปีหนึ่ง เมื่อเขามาแล้วเห็นว่าศาสตร์นี้ทำได้จริง เห็นผลจริง เขาจึงไปซื้อที่กันคนละสามไร่ หุ้นกันทั้งหมดหกไร่ นำโคก หนอง นา อาจารย์ โจ้ไปออกแบบให้เมื่อสองปีที่แล้ว จนเห็นเป็นรูปธรรมจริงๆ ที่ของเขาสามารถเลี้ยงที่ตัวเองได้ ชาวบ้านมาขอระบายน้ำไปที่ข้างๆด้วย ตอนนี้รอบๆ เขาหกสิบเก้าครัวเรือนที่เปลี่ยนใจหันมาทำตามแล้ว คือมีโคก มีหนอง มีนา เกษตรผสมผสาน เห็นผลจริงๆ หรืออีกฐานหนึ่งทีเป็นนาขั้นบันได เปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นเขาหัวจุก ก็มาจากน่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน แต่ก่อนเป็นไร่ข้าวโพดหมดเลย มีการแพ้วถางป่า เมื่ออาจารย์ยักษ์เข้าไปแนะนำ ถ้าคุณมีพื้นที่หกสิบไร่ ให้แบ่งพื้นที่สิบไร่ ให้มาทำแบบนี้”
คุณหทัยรัตน์ กล่าวต่อว่า “คอนเซ็ปต์ของโครงการที่เปลี่ยนยากที่สุดคือเปลี่ยนคน เปลี่ยนความคิดคนให้เห็นประโยชน์ โครงการมีหลายมิติ ในตอนแรกจะเป็นมิติสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการจัดการน้ำ หยุดท่วมหยุดแล้ง ต่อมาก็ได้ไปดูชุมชนต่างๆก็จะมีมิติทางด้านเศรษฐกิจ มีการเพิ่มรายได้ได้จริงๆ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยคอก ใช้เกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่เท่ากันเขามีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงพืชผัก สัตว์น้ำในหนอง เลี้ยงกบเลี้ยงปลา
มีมิติด้านชุมชน สังคมเพราะเกิดเครือข่าย การมีศูนย์เรียนรู้เกิดขึ้น อย่างที่ตาก น่าน ที่เคยไปดู เขาเรียกว่าการเอามื้อ เหมือนการลงแขก เขามี 29 ครัวเรือนที่เปลี่ยนจากทำพืชไร่เชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน ทำแบบโคก หนอง นา 29 ครัวเรือนก็จะมาช่วยกัน เวียนครบทุกบ้าน เป็นมิติทางสังคมที่แต่ก่อนต่างคนต่างทำก็มาช่วยเหลือกัน
เชฟรอน ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงในสองลักษณะ คือลักษณะเป็นโครงการห้าวัน วัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ในห้าวันก็จะมีคนมาร่วมงาน มีเครือข่ายที่มาจากทั่วประเทศ มีสื่อมวลชนเข้ามาช่วยเผยแพร่ อันนี้เป็นลักษณะภาพกว้าง เราทำงานในภาคที่ว่าลงพื้นที่จริง ทำกับอาจารย์ยักษ์มาโดยตลอด ให้เครือข่ายของอาจารย์ไปอบรมที่ศูนย์มาบเอื้อง เพราะอาจารย์บอกว่าการที่จะเปลี่ยนความคิดเขาได้ต้องไปเข้าอบรมห้าถึงเจ็ดวัน ให้รู้จริงๆ ที่ดินที่ไม่เท่ากันจะออกแบบอย่างไร
อีกหนึ่ง กราวน์เวิร์ค คือ ร่วมงานกับคณะสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง ที่เข้ามาร่วมงานกันตั้งแต่ปีแรก แต่เต็มตัวปีที่สองโดยนำนักศึกษามาออกแบบพื้นที่ให้เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปรับพื้นที่ตัวเองอย่างไร มีการตั้งเป็นศูนย์ไอที ใช้แอพ ใช้ซอฟแวร์เข้ามาช่วยให้เร็วขึ้น ถ้าเกษตรกรคนไหนมีที่ดิน ก็กดกูเกิลว่าอยู่ที่ไหน ถ่ายเข้าแอพที่อาจารย์จะทำขึ้นมา อาจารย์ก็จะเห็นภาพแล้วให้นักศึกษาออกแบบได้
หรือไม่ก็อาจจะมีโปรแกรมง่ายๆ ที่ใส่พื้นที่เข้าไป มีคำถาม แอพก็จะออกแบบให้เลย ศูนย์เป็นข้อมูลเชิงลึกที่เราได้ทำกัน ในจังหวัดต่างๆ สามพื้นที่ด้วยกัน ตาก อุดร ลำปาง เป็นไพลอต โดยอาจารย์จะส่งนักวิชาการไปประจำสามพื้นที่นี้ เพื่อทำข้อมูลเชิงลึก ตั้งแต่ก่อนที่ชาวบ้านจะมาทำโคกหนองนา คุณภาพชีวิตอย่างไร รายได้อย่างไร ดินเป็นอย่างไร เมื่อทำแบบนี้แล้วจะเป็นอย่างไร มีการเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นข้อมูลทางวิชาการแล้วไปตีพิมพ์ เพื่อเป็นเปเปอร์เพื่อให้เกิดการยอมรับนานาชาติ อยากให้โคกหนองนาศาสตร์พระราชาได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เราจึงร่วมสนับสนุนด้วยเป็นโครงการสองปี
ความสำเร็จตรงนี้เพราะความที่อาจารย์ตามเสด็จพระองค์ท่านมาโดยตลอดและได้ทำจริงด้วยตัวเองให้เห็นที่มาบเอื้องและรู้จริง สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำ มีคนที่นำไปทำแล้วสำเร็จจริง อย่างที่เห็นด้วยว่า จากการที่เป็นหนี้ธกส.ล้างหนี้ได้หมดและมีเงินเหลือเก็บและซื้อที่เพิ่ม
อยากให้ภาคส่วนต่างๆ เห็นความสำคัญของโคก หนอง นา โดยเฉพาะทางภาครัฐและประชาสังคมให้ได้เข้ามาร่วมมือกัน มีการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ อยากให้มาดูที่ป่าสักโมเดล ถ้าสามารถเอาไปทำในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งจังหวัด ชุมชน เอกชนด้วย ร่วมมือกัน และช่วยเหลือชาวบ้าน ชุมชนต่างๆ สามารถทำได้จริงในพื้นที่ตัวเอง”
ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ทั้ง 9 ฐาน ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวัดใหม่เอราวัณ แหล่งรวบรวมความรู้ซึ่งประกอบด้วย ฐานแรกเป็น ฐานฅนมีไฟ สอนการทำน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ที่ใช้แล้ว สอนกระบวนการสร้างถัง หมักแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ขนาดครัวเรือน ถัดมาเป็นฐานฅนเอาถ่าน สอนการทำถังเตาเผาถ่าน เพื่อให้ได้ “ถ่านคุณภาพ” ไว้ใช้ในครัวเรือนรวมถึงกระบวน การผลิต “น้ำส้มควันไม้” ที่สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เร่งการเจริญเติบ โตของพืชบริเวณราก ควบคุมโรคพืชที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยและรา
ฐานฅนรักษ์ป่า: อบรมแนวคิดของการผสมผสาน การอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าได้อย่างแยบยล
ฐานฅนรักษ์สุขภาพ อบรมวิถีสุขภาพแบบพอเพียงของชาวกสิกรรมธรรมชาติ อาทิ วิถีแห่งจิตเป็นนาย สมาธิบำบัดวิถีแห่งกายเป็นบ่าว กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร การประคบและอบสมุนไพร ฐานฅนติดดิน ปั้นดินให้เป็นบ้าน อบรมการสร้างบ้านดิน ตั้งแต่กระบวนการวางแผน การเลือกพื้นที่สร้าง บ้านดิน เลือกดิน การวางฐานราก ก่อผนัง ช่องลม ห้องน้ำ หลังคา ฯลฯ ฐานฅนมีน้ำยา อบรมการผลิตน้ำหมักชีวภาพที่มีทั้งจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก โดยใช้การหมักผลไม้หรือพืชผักและเศษอาหาร ฐานฅนรักษ์แม่โพสพ อบรมการทำนาข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคแมลงและสัตว์ศัตรูข้าว และเน้นการใช้ธรรมชาติเป็นสำคัญ
ฐานฅนรักษ์แม่ธรณี เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช เป็นฐานการอบรมการห่มดินหรือการคลุมดิน โดยใช้ฟาง เศษหญ้า หรือเศษพืชผลทางการเกษตรที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และปรุงอาหารเลี้ยงดิน โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไป การปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้ดินกลับมามีชีวิต พืชที่ปลูกก็จะเจริญเติบโตแข็งแรงให้ผลผลิตดี และลดต้นทุนในการผลิตและฐานสุดท้าย คือ ฐานฅนรักษ์น้ำ เป็นฐานการเรียนรู้ศาสตร์การจัดการและการอนุรักษ์น้ำ
ของพระราชา จากโครงการ พระราชดำริต่างๆ อาทิ โครงการแก้มลิง เกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงการจัดการและเก็บน้ำด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ การสร้างฝาย การปลูกหญ้าแฝก ระบบบึงชีวภาพเพื่อกรองน้ำเสีย
ก่อนจะปิดท้ายกันด้วย ศาลาขนาดย่อม ที่มีกิจกรรมการอบรมให้ความรู้กับผู้ที่สนใจนำสมุนไพร ผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นของใช้ ของที่ระลึก ยา
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>