ศิริราช ร่วมกับ บ. เมดโทรนิค (ปทท) พัฒนาการบริการและการวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านเบาหวาน ช่วยคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ คุณรานีวรรณ รามศิริ Country Director, บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาการบริการและการวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านเบาหวาน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล Mr. Sandeep Chalke, Vice President, Diabetes Group, Medtronic Asia Pacific และทีมผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายร่วมด้วย ณ ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตึกอำนวยการชั้น 2 รพ.ศิริราช การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาการบริการและการวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านเบาหวานของทั้ง 2 องค์กร จะเป็นการประสานความร่วมมือในการพัฒนาการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวาน และการวิจัยโดยนำเทคโนโลยีด้านเบาหวานมาใช้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายและ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เป็นเบาหวาน และบุคลากรทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ รวมทั้งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุด ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ รายงานว่าในปี พ.ศ. 2558 ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกมีจำนวน 415 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583 ในปัจจุบันประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน สำหรับในประเทศไทยรายงานจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2557 พบว่าความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 คิดเป็นผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากถึง 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งพบเพียงร้อยละ 6.9 หรือประมาณ 3.2 ล้านคน โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องของพันธุกรรม พฤติกรรมการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาโรคเบาหวานจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยผู้เป็นเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้การจัดการตนเอง (diabetes self-management) เพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม หากผู้เป็นเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีและเรียนรู้การจัดการตนเอง จะสามารถป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งของผู้ป่วยเองและในภาพรวมระดับประเทศได้ โรงพยาบาลศิริราชให้การดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานหลายหมื่นรายต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โรงพยาบาลตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานอย่างเป็นองค์รวมและมุ่งเน้นให้ผู้เป็นเบาหวานมีสุขภาวะที่ดี โดยมีการพัฒนางานเบาหวานทั้งด้านการดูแลรักษา การศึกษา และการวิจัยอย่างต่อเนื่อง สำหรับด้านการรักษาผู้เป็นเบาหวาน โรงพยาบาลศิริราชให้ความสำคัญกับการสอนให้ผู้ป่วยมีความรู้ในการจัดการตนเองอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมในการดูแลผู้เป็นเบาหวานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น 1) การใช้ Continuous Subcutaneous Insulin Infusion – CSII หรือ Insulin Pump ในผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ เช่น ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ต้องฉีดยาอินซูลินวันละ 3-4 ครั้งแล้ว ยังมีปัญหาน้ำตาลสูงหรือต่ำที่ควบคุมได้ยาก 2) การใช้เครื่องติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่อง (Continuous Glucose Monitoring System -CGMS) ในผู้เป็นเบาหวานที่มีปัญหาน้ำตาลต่ำบ่อยหรือมีปัญหาในการปรับยารักษาเบาหวาน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการรักษาหรือปรับขนาดยา จึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือกันในครั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยในอนาคต ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโรงพยาบาลศิริราช ในฐานะของโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ นอกจากจะทำหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนแล้ว ยังมีพันธกิจที่สำคัญในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมวิทยาการและความรู้ใหม่ ๆ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งมีพันธกิจในด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการดูแลประชากรไทย โดยในโรงพยาบาลศิริราชมีการวิจัยทางด้านเบาหวานทั้งในด้าน basic molecular ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อค้นหากลไกการเกิดโรคเบาหวานในระดับยีนส์และชีววิทยาของเซลล์ เพื่อพัฒนาการรักษาแบบ personalized medicine และยังมีกลุ่มงานวิจัยด้านคลินิก เช่น กลุ่มวิจัยโรคเบาหวานผู้ใหญ่ กลุ่มวิจัยโรคเบาหวานเด็ก กลุ่มวิจัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กลุ่มวิจัยสหสาขาเท้าเบาหวาน เป็นต้น ดังนั้น การประสานความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดี ที่ทีมแพทย์และนักวิจัยศิริราชจะสามารถนำเทคโนโลยีด้านเบาหวานมาใช้ในการทำวิจัย เพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิด value-based medicine ต่อไป Mr.Sandeep Chalke, Vice President, Diabetes Group, Medtronic Asia Pacific กล่าวว่า บริษัท เมดโทรนิค เป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับโลก ที่มอบโซลูชั่นเพื่อบรรเทารักษาอาการของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง บริษัทฯ ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ วิธีการรักษา และบริการต่าง ๆ เพื่อยืดอายุของผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก โดยมีพันธกิจที่ต้องการมีส่วนร่วมในการนำวิศวกรรมชีวทางการแพทย์เพื่อวิจัย ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ฟื้นฟูสุขภาพ และทำให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวขึ้น บริษัทฯ มีการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนเพื่อพัฒนาการให้บริการการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีความร่วมมือในลักษณะเดียวกันนี้อีกกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ตลอดเวลาบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานให้ดียิ่งขึ้น โดยมีการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมในการบริหารยา และเครื่องติดตามผลระดับน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่องที่ใช้ง่ายขึ้น มีความแม่นยำมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก ให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย มีความสะดวกสบายในการบริหารยา และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียง และชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนในอนาคตด้วย โดยในปัจจุบันมี insulin pump แบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกาย เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย มีการพัฒนาระบบที่เพิ่มความปลอดภัยในการบริหารยามากขึ้น มีระบบช่วยเตือนและหยุดการปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกายหากพบว่าผู้ป่วยเบาหวานกำลังจะมีระดับน้ำตาลต่ำในเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถหาทางป้องกันและแก้ไขอาการไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย คุณรานีวรรณ รามศิริ Country Director, บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและเป็นพันธมิตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงการรักษาโรคเรื้อรัง โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมในการรักษาผู้ป่วย ไม่เพียงแต่โรคเบาหวานเท่านั้น ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชมาแล้ว 2 ครั้ง คือ แผนกอุปกรณ์ห้องผ่าตัด และแผนกอุปกรณ์ผ่าตัดศัลยกรรมฟื้นฟู ซึ่งผลจากความร่วมมือที่ผ่านมาเป็นประโยชน์ในการนำเอาความรู้ความชำนาญ ที่ได้จากความร่วมมือดังกล่าวมาใช้เพื่อพัฒนาการดูแลรักษาโรคเรื้อรัง ช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยได้ บริษัทฯ จึงมีความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช เพื่อพัฒนาการให้ความรู้ และดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ดังที่ประสบความสำเร็จมาแล้วกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นมาก่อนหน้านี้เช่นกัน รศ.พญ.อภิรดี ศรีวิจิตรกมล รองประธานศูนย์เบาหวาน อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวโดยสรุปว่า การดูแลผู้ป่วยเบาหวานในปัจจุบัน นอกเหนือจากการควบคุมระดับน้ำตาลให้ถึงเป้าหมายแล้วยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำหรือน้ำตาลสูงเกินไปในเลือด และความปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของผู้ป่วยด้วย ปัจจัยสำคัญที่จะสามารถป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและโรคแทรกซ้อนได้คือ การเพิ่มทักษะการจัดการตนเองของผู้เป็นเบาหวานและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเบาหวานอย่างชาญฉลาด ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาการให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีด้านเบาหวาน และการนำผลจากการศึกษาวิจัยมาใช้อย่างเป็นระบบ จะทำให้ผู้เป็นเบาหวาน ผู้ดูแล และบุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษา และอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย