Update Newsแหล่งเที่ยว

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ คว้ารางวัลกินรี แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรภาคใต้

เมื่อไม่นานนี้ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลผลงานที่ชนะการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awords) ครั้งที่ 11 ประจำปี 2560 ที่จัดขึ้นโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และในโอกาสนี้ นางสายหยุด เพ็ชรสุข ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เข้ารับรางวัล ดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรภาคใต้ ชื่อผลงาน  “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต...มรดกแห่งภูมิปัญญาที่พ่อสร้าง” ณ ห้องรอยัล พารากอน ฮอลล์ 3 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน  เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็น 1 ใน 6 ศูนย์การศึกษาพัฒนา ที่มีอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ถือกำเนิดขึ้น เนื่องจากจังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำขังตลอดปีเรียกว่า ดินพรุ ซึ่งมีอยู่ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงถึงประมาณ 400,000 ไร่ ดินพรุมีคุณภาพต่ำ แม้ระบายน้ำออกแล้ว ก็เพาะปลูกไม่ได้ผล เพราะดินมีสารประกอบไพไรท์ ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยวจัดเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อราษฎรประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้ผล พื้นที่ดินจำนวนมากจึงถูกทิ้งให้รกร้างเปล่าประโยชน์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2524 โครงการตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง บ้านโคกสยา ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ห่างจากตัวเมืองไป 8 กิโลเมตร 
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศูนย์รวมกำลังของเจ้าหน้าที่ด้านเกษตร สังคม และการส่งเสริมการศึกษามารวมอยู่ด้วยกัน เพื่อให้ความรู้ และช่วยอนุเคราะห์ด้านวิชาการแก่ประชาชน ในการประกอบอาชีพและพัฒนาตนเอง มีเป้าหมายสำคัญด้านการวิจัยเพื่อปรับปรุงดินพรุ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมให้ได้มากที่สุด และมีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดครอบครัวแบบครบวงจร ในเรื่องยางพาราและปาล์มน้ำมัน อันเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ด้วย การดำเนินงานของโครงการเป็นไปในลักษณะผสมผสาน มีหน่วยงานที่เข้าร่วมสนองพระราชดำริเป็นจำนวนมาก เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ฯลฯ


เมื่อศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินการศึกษาวิจัยและทดลองเพื่อแก้ปัญหาดิน พัฒนาพื้นที่ และหารูปแบบวิธีการที่เหมาะสมได้ผลดี ในการประกอบอาชีพแล้ว ศูนย์วิจัยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลและสาธิตเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรม ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เพื่อให้นำไปใช้พัฒนาพื้นที่ที่มีปัญหาขยายผลออกไปตามเป้าหมาย

พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาสที่เคยถูกทอดทิ้งให้เปล่าประโยชน์ จึงกลับใช้ประโยชน์ได้ เช่น สามารถปลูกข้าว ปลูกผัก และปลูกพืชไร่ และราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น