Update Newsสังคม

สค. พม. เร่งขับเคลื่อนกระบวนการสหวิชาชีพในการคุ้มครองเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว

   

   

   


 ในวันที่ 24 เมษายน 2560 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนกระบวนการสหวิชาชีพในการคุ้มครองเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง” (ระดับภาค) และบรรยายพิเศษ หัวข้อ ภารกิจของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวในการคุ้มครองเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง โดยมี นางอัจฉรา พุ่มมณีกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบครัว ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดงานดังกล่าว 

 นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ถือเป็นปัญหาสำคัญ จำเป็นต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคนและสังคม ซึ่ง พม. เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันก่อนเกิดปัญหา และหากเกิดแล้ว ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดซ้ำ และสามารถคืนผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบสู่สังคมและครอบครัวได้อย่างปกติสุขและมีพลังในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ 

โดยมาตรการสำคัญจะมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ 

รวมทั้งสหวิชาชีพ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ในการร่วมกันการสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัวจากความรุนแรง มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง สร้างกระแสความตระหนัก เข้าใจ เข้าถึงสิทธิของประชาชน การรณรงค์ปรับทัศนคติของสังคมและครอบครัว (ที่มองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว คนอื่นไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ) 

และการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนการคุ้มครองช่วยเหลือ ที่ต้องรวดเร็วและทันการณ์ 

พม.จึงมีบริการสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง รับปัญหาสังคมทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องความรุนแรง ในภาวะวิกฤตที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือด่วน หรือกรณีให้คำปรึกษา ทั้งทางสังคมและกฎหมาย สุดท้าย คือ การเสริมพลัง โดยมุ่งเน้นให้ผู้เสียหายสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้ 
 
นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนกระบวนการสหวิชาชีพในการคุ้มครองเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง” (ระดับภาค) ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพจากหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับจังหวัด ให้มีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีความรุนแรงต่อเด็กและสตรี พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสหวิชาชีพระดับจังหวัดที่ปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ให้มีการประสานและสามารถส่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นระบบ 

โดยมี อัยการสาโรช นักเบศร์ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการโครงการในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานอัยการสูงสุดให้เกียรติมาเป็นวิทยากร 

กลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย อัยการจากสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เจ้าหน้าที่จากบ้านพักเด็กและครอบครัว เจ้าหน้าที่จากศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 20 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ พิจิตร สุโขทัย อุทัยธานี ชลบุรี ปราจีนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส พังงา พัทลุง ระนอง สงขลา และสตูล จำนวน 100 คน