สค. รับคำร้องจากชมรมพนักงานสอบสวนหญิง กรณีถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.45 น. ณ ห้องประชุม Happy Family ชั้น 3 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้การต้อนรับ พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี ประธานชมรมพนักงานสอบสวนหญิง พร้อมด้วย นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าพบเพื่อยื่นคำร้องให้ตรวจสอบและดำเนินการตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งเรียกร้องขอความเป็นธรรม จากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทุกเพศได้มีโอกาสที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และได้รับการคุ้มครองจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ขึ้น เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองและป้องกันเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด โดยมีบทบัญญัติที่เป็นข้อห้ามทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน หรือบุคคลใด มิให้กระทำการในลักษณะที่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเอาไว้ใน พ.ร.บ. ดังกล่าว นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้ สค. ได้รับคำร้องจากชมรมพนักงานสอบสวนหญิง ซึ่งเรียกร้องขอความเป็นธรรม จากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยอาจเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม อันเกิดจากการแสดงความคิดเห็นบน Facebook ที่เปิดเป็นข้อมูลสาธารณะ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพศหญิง ซึ่งมีหน้าที่สอบสวน ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ทำให้ได้รับความเสียหาย ให้ตรวจสอบและดำเนินการตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ตามมาตรา 18 ซึ่งเรื่องดังกล่าว สค. ให้ความสำคัญกับผู้ถูกกระทำให้สามารถใช้สิทธิเพื่อให้ได้รับการพิทักษ์ คุ้มครอง และป้องกันสิทธิของตนเองในสังคมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ในเมื่อพนักงานสอบสวนหญิงเห็นว่าพวกเขากำลังถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องได้ โดยจะมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือ คณะกรรมการ วลพ. ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาที่มีการยื่นคำร้องว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศหรือไม่ต่อไป “ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนผลักดัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และความเสมอภาคของสังคมในที่สุด หากถ้าท่านใดรู้ว่าถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ สามารถโทรแจ้ง 1300 เป็นที่แรกได้ก่อน ซึ่ง 1300 จะรับเรื่อง และประสานส่งต่อให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยดำเนินการต่อไป หรือ ถ้าอยู่ต่างจังหวัดสามารถเดินทางไปที่หน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัดได้เลย หรือ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 ศูนย์ที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย