สุข งาม ศิลป์ …. เยือนถิ่น “ซุโข๋ทัย” by SACICT
“.....ปีหน้าจะเห็นกิจกรรมขององค์กรเปลี่ยนไป มีการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นมากขึ้น มีการทำเวิร์คช็อปลงพื้นที่ในหลายภูมิภาคมากขึ้น” เมื่อได้รับรู้ว่า ...จะมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนเหล่าครูช่างถึงเมืองศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัยจากคำเชื้อชวนของ SACICT ก็ทำเอาเกิดอาการตื่นเต้นจนออกนอกหน้า ด้วยเพราะเคยเห็นงานหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาครูช่างที่งดงามมาเมื่อครั้งไปออกงานที่ห้างสรรพสินค้าสุดหรูกลางเมืองเมื่อปีก่อน... ครั้งนั้นได้เห็นได้ชื่นชมกับความละเอียดอ่อนของงานก็เพียงผ่านทางตู้กระจกแสดงผลิตภัณฑ์ที่ตั้งอยู่เคียงข้างด้วยโต๊ะสาธิตขนาดเล็กเท่านั้น แต่คราวนี้จะได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิดถึงต้นน้ำกันเลยทีเดียว ... และแล้วก็ถึงวันเดินทาง เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา SACICT หรือศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้การดูแลของ ผอ.อัมพวัน พิชาลัย จัดกิจกรรมพา SACICT สื่อมวลชนร่วมอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทยในเมืองศรีสัชนาลัย เกือบยี่สิบชีวิตจากหลายสื่อหลายสำนักทยอยสู่เลานจ์สายการบินบางกอกแอร์เวย์ สนามบินสุวรรณภูมิตามนัดหมาย ก่อนเจ้านกยักษ์จะพาเหินฟ้าลงสู่เมืองสุโขทัยภายในเวลาแค่ชั่วโมงเศษๆ “ ทานอาหารเช้ากันก่อนค่ะ” หนึ่งในคณะเจ้าหน้าที่เอ่ยขึ้นเมื่อรถตู้นำคณะมาจอดเทียบด้านหน้า โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย Organic Agriculture Project , Sukhothai Airport สถานที่ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายแพทย์ปราเสริฐและคุณวัลลีย์ ปราสาททองโอสถ เมื่อปี 2542 ที่ทดลองให้พื้นที่นี้ปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี จากพื้นที่เล็กๆ ก่อนจะขยายแปลงนาเนื้อที่ 200 ไร่ในอีก 6 ปีถัดมา ด้านหน้าทางเข้าก็สะดุดตากับตัวอักษรบนกระดานดำที่ถูกเขียนด้วยช็อคสีขาว สีชมพู แสดง ภาษาท้องถิ่นสุโขทัย “ ท่าทางจะลบหลายรอบ” เราแอบคิดเมื่อเห็นร่องรอยของการถูกแปรงลบกระดานปาดหลายรอบ ก่อนจะทับด้วยตัวอักษรที่น่าสนใจ .... หวันโลก = สวรรคโลก ... ซุโข๋ทัย = สุโขทัย ... สีสั๊ด = ศรีสัชนาลัย และ..... นั่นเป็นที่มาที่เราขอเลือกใช้ภาษาถิ่น ว่า ซุโข๋ทัย แทนคำว่าเมือง สีสั๊ด เพราะกลัวเสียงเพี้ยนจะซวยเอา.... อิอิ ที่แน่ๆ คืออยากได้ยินเสียง อี๊หนีด แห่งซุโข๋ทัย ว่าจะเหมือนบ้านเราป่าวหนอ ? เมื่อเดินเข้าสู่ภายในโครงการ จะพบลานต้อนรับที่ประกอบด้วย ร้านอาหารข้าวหอมสุโข ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ นิทรรศการความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ หน่วยพัฒนาพันธุ์ข้าว โรงเรือนกางมุ้ง โรงเลี้ยงเป็ด แต่แม้จะเพิ่งทานอาหารเช้ามาบนเครื่อง กลับรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับขนมพื้นถิ่นและอาหารเช้าแบบโบร่ำโบราณที่ถูกจัดวางเรียงรายรอต้อนรับผู้มาเยือน มุมหนึ่งตั้ง ซาลาเปาหลากสี วางใกล้กับกระติกน้ำร้อนให้เสริฟชาจีนตามชอบใจ ร้อนไม่ร้อนไม่รู้แต่เห็นนั่งเป่ากันฟู่ฟู่ ... อีกด้านหนึ่งน้องๆ กำลังสาละวนกับการทำไข่กะทะหน้าตาน่าลิ้มลอง “ขอแบบไม่ใส่ผักที่นึงค่ะ” บอกเสร็จสรรพก็เดินไปหากระติกขนาดใหญ่สองใบ มีตัวหนังสือแปะไว้ว่า ข้าวเหนียวหมูฝอย กับข้าวเหนียวหมูชิ้น แต่ที่ร้านข้าวหอมสุโขทัยยังไม่หมดเท่านี้ ยังมีสลัดผักออร์แกนิก ไข่เจียวผักโขมและอีกมากมาย เอาไว้ให้เลือกลิ้มรสกัน ที่นี่นอกจากจะมีแปลงนาปู่ย่าตายาย แปลงนาสวนผสมแล้ว ยังจัดให้มีห้องเรียนกลางแจ้ง Outdoor Classroom เรียกว่าจัดให้มีการทำนาแบบโบราณ การปลูกผักอินทรีย์ การทำน้ำหมักชีวภาพ มีจักรยานเอาไว้ให้ลัดเลาะภายในกันแบบเพลินๆ ด้วย ยังมีกิจกรรมอีกมากมาย สนใจลองสอบถามกันไปที่ โทร 055 647 290 ศิลปะโบราณบนเนื้อทอง... ครูสมสมัย เขาเหิน .... แล้วก็มาถึง บ้านครูสมสมัย เขาเหิน ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2553 มีทายาทครูช่าง คุณปราโมทย์ เขาเหิน ยืนยิ้มคอยท่าตั้งกะหน้าประตู สถานที่โอ่โถงสมกับเป็นบ้านช่างทอง ภายในจัดแบ่งเป็นส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องทองโบราณ ลวดลายถักของเกลียวทองบริสุทธิ์ 99.99 % งานทองที่โดดเด่นด้วยสีเหลืองจำปางดงามกว่าร้านทองทั่วไป เรียกว่า..เมื่อเห็นปุ๊บก็จะรู้ปั๊บว่าเป็นทองสุโขทัยของร้านสมสมัยแห่งนี้ แต่ละชิ้น สีสันลวดลายขับสะท้อนตัดกับผืนไหมดำและแดงที่วางรองรับอย่างสวยงาม “ชิ้นนี้แบบใหม่ค่ะ” ครูสมสมัย หยิบสร้อยทองระย้าพวงยาวลายดอกกุหลาบให้คณะได้ชื่นชม ก่อนจะถูกนำมาทาบบนลำคออวดโฉมความงาม ค่ะ... ใช่ค่ะ....ดูอร่าม งามแต๊ ส่วนสนนราคานี่จำไม่ได้จริงๆ เจ้าค่ะ บอกได้คำเดียวว่า ละลานตา จากเอกสารส่วนหนึ่งบอกเล่าว่า ครูสมสมัย อยู่ในตระกูลช่างทอง สนใจและรักอาชีพทำทองมาตั้งแต่ครั้งรุ่นคุณพ่อ ถือเป็นร้านทองร้านแรกในจังหวัดสุโขทัยที่ทำการผลิตทองแบบโบราณ มีที่มาจากชาวจีนสองคนที่ได้ถ่ายทอดวิชาการทำทองให้กับคุณพ่อครูสมสมัย และได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ส่วนความเป็นมาของทองสุโขทัย เริ่มมาจากมีการค้นพบเส้นถักสำริด ผู้ค้นพบจึงได้นำมาถอดลายโดยครูสมสมัยและกลายเป็นเอกลักษณ์ของทองสุโขทัยจนปัจจุบัน ด้านคุณปราโมทย์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556 เล่าว่า “ผมถือเป็นรุ่นที่ 3 ของบ้านทองสมสมัย แรกเริ่มที่คุณตาทำทองมีแค่ 2-3 โต๊ะ สมัยก่อนการทำทองไม่มีการถ่ายทอดกันมีแต่ตระกูลต่อตระกูล อาชีพช่างทองจึงไม่แพร่หลาย แต่ปัจจุบันกลับกัน ที่นี่พยายามถ่ายทอดและพัฒนาฝีมือการทำทองให้กับเด็กๆ ในชุมชน โดยฝึกสอนให้ฟรี เพื่อให้ทองสุโขทัยอยู่คู่กับจังหวัดสุโขทัย ไม่ให้สูญหาย “จุดเด่นของทองสมสมัยคือ เป็นงานแฮนด์เมด ใครได้ไปจะเป็นชิ้นเดียวในโลก ถึงจะช่างคนเดียวกันทำแต่ก็ไม่เหมือนเดิม เสน่ห์ของทองโบราณคือตำนานที่มีชีวิต บางคนอยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่าสามสิบปีจึงสามารถทำได้ครบทุกกระบวนการตั้งแต่ขึ้นงานจนเสร็จชิ้นงาน” ทายาทครูช่าง เล่าต่อว่า “ ....ที่นี่ถือเป็นส่วนผสมของมรดกล้ำค่าของชาวศรีสัชนาลัยกับฝีมือเชิงช่างที่คุณตาได้มีโอกาสไปเห็นเครื่องทองโบราณ จึงนำมาซึ่งลวดลายที่แปลกตา ไม่ว่าจะเป็นงานสานสร้อยสี่เสา การนำลายไทยมาทำเป็นเครื่องทอง เครื่องประดับทองคำ ลวดลายเส้นสายและการลงยาฝังพลอย” เราเดินตามคุณปราโมทย์ เข้าสู่ด้านหลังภายในโรงผลิตชิ้นงาน เห็นเหล่าช่างฝีมือขะมักเขม้นกับงานฝีมือตรงหน้า ขดทองเส้นบางเฉียบ ....ถักทอแต่งแต้มด้วยเม็ดหมุดทองขนาดสุดจิ๋ว จนตาแทบจะไม่เห็น นับถือ...นับถือ ทำได้ไงเนี่ย บางคนชิ้นงาน ถึงกับใช้เพียงปลายขนไก่ขนาดเล็ก เขี่ยนับลวดลายที่กำลังแต่งเติม เรียกว่า งานเล็กมากจนเราอดถามไม่ได้ว่า “มีตกหล่นลงพื้นกันบ้างป่าวคะเนี่ย” “ทุกปีจะนำพรมที่พื้นในห้องนี้ไปเผา ซึ่งจะพบว่ามีทองหลงมาจำนวนมากพอสมควรค่ะ” พี่ในร้านบอก น้องช่างภาพคนหนึ่งแอบกระซิบกับเราว่า “พี่ๆ กลับบ้านผมต้องไปเผาถุงเท้าแล้วหล่ะ เผื่อจะเจอทองติดมามั่ง ” อืมมม... เน๊อะ คิดได้เน๊อะ 5555 เอาเป็นว่า .... ท่านใดสนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมงานได้ที่ บ้านทองสมสมัย โทร 055 631 604 เครื่องเงินสุโขทัย บ้านครูขวัญกับทายาท ....สวัสดีลากลับกันออกมา แทบจะตรงกันข้ามกับร้านทองสมสมัยก็ถึงร้านขวัญเงิน ของครูขวัญ พลเหิม ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2555 ประเภทงานหัตถกรรมเครื่องเงินสุโขทัย ภายในอาคารตึกแถวริมถนน ที่นี่เป็นแหล่งผลิตช่างฝีมือเครื่องเงินฝีมือสุดล้ำและมีการพัฒนาด้วยรูปแบบที่สวยงามแห่งหนึ่ง ครูขวัญ พลเหิม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางงานหัตถกรรมเครื่องเงินว่า “แรกเริ่มเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ร้านทองนันทนา ฝึกฝนอยู่นานสองปี ก็พบว่ากระบวนการทำทองกับทำเงินไม่ต่างกันแตกต่างกันที่วัสดุ จึงลาออกจากร้านมาเพื่อนำความรู้งานเครื่องทองมาทำเป็นเครื่องเงินอย่างที่เราชื่นชอบ เริ่มแรกทำเป็นสร้อยพระห้อยคอก่อน จนเริ่มมีลูกค้าสนใจ จึงเริ่มพัฒนารูปแบบต่างๆมากขึ้น และเริ่มหาคนที่สนใจงานทำทองเข้ามา เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวตอนนี้มีช่างทำเครื่องเงินอยู่ 10 คน” คุณณัฐวุฒิ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2558 เดินเข้ามาสมทบ ก่อนจะเล่าให้ฟังว่า “เครื่องเงินที่นี่จะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับที่อื่น คือ ใช้เงิน 99.99 % เพราะต้องการให้ชิ้นงานออกมาสวยงามเหมือนทองคำขาว” “ชิ้นนี้ สวยมากกกกก เท่าไหร่คะ” เสียงเพื่อนร่วมทางท่านหนึ่งดังมาจากแถวๆ ตู้โชว์ มิน่า ... พี่ก๋อย - เพ็ญศิริ ปันยารชุน หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร SACICT ถึงบอกว่า ถ้าสนใจงานเครื่องเงินรับรองว่าไม่พลาด อิอิ... ควักกระเป๋ากันเป็นระวิง ทายาทหนุ่มน้อยยิ้มปลื้มปริ่ม เมื่อเห็นครูช่างผู้มารดาไม่มีเวลาตอบคำถามมากไปกว่าการบอกราคา .. ก่อนจะเล่าต่อว่า “เราเห็นแม่ทำมา เราได้มีโอกาสจับเครื่องไม้เครื่องมือและชิ้นงานมาตั้งแต่ยังเล็กทำให้ซึมซับงานเครื่องเงินมาตลอด พอเรียนจบด้านการตลาดที่พิษณุโลกก็มาช่วยที่บ้าน สมัยก่อนทำอยู่ในชุมชนเล็กๆ ยังไม่มีคนรู้จัก พอเรียนด้านการตลาดมาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างทีละนิด อย่างที่บ้านก็ออกแบบสถานที่เป็นโซนๆ ทำ บิลท์อินให้ดูดีขึ้น พัฒนาเครื่องมือเพื่อให้สามารถทำงานได้ละเอียดขึ้น เอกลักษณ์ของขวัญเงิน จะเน้นเป็นลายฉลุ เดิมทีต้องติดลวดลายบนแผ่นโลหะทั้งหมดแล้วเชื่อม แต่เราจะฉลุออกเพื่อให้มีรายละเอียดมากขึ้น และน้ำหนักจะไม่มาก เวลาสวมใส่จะไม่หนักมากเกินไป ลายที่นิยมจะเป็นลายไม้เครือวัลย์ และลายดอกประจำยามตามใบเสมา ลวดลายจะมาจากวัตถุโบราณที่อุทยานฯศรีสัชนาลัย ลายกำแพงมีลายไม้เครือวัลย์แต่ด้วยความที่สมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่ทันสมัยเหมือนสมัยนี้ทำให้เล็กลงได้ จึงสามารถดัดลายเล็กลงได้มากขึ้น” และเมื่อสอบถามถึงการเข้ามาให้ความช่วยเหลือครูช่างของ SACICT ทายาทครูช่าง กล่าวว่า “ที่ผ่านมา SACICT ได้ช่วยเรื่องของการให้นำผลงานออกไปเผยแพร่ รวมถึงเรื่องของการจดลิขสิทธิ์ ตอนนี้จดลิขสิทธิ์ไปมาสามแบบ เลือกชิ้นที่ผลิตขึ้นเองไม่เหมือนที่อื่น” ความที่เป็นคนรุ่นใหม่ คุณณัฐวุฒิยังคิดหาวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดปัญหาเนื้อเงินที่มักจะหมองเมื่อสวมใส่ ด้วยการเคลือบผิวให้เงินหมองช้าลง หรือการนำวัสดุอื่นๆ มาผสมผสานกับเงินเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของงาน มีการใช้เทคินคการชุบทอง ชุบเงิน ชุบนาค หรือชุบแบบสองสี คือชุบทองชมพู เป็นการชุมทองผสมนาค รวมถึงการนำรูปลักษณะของงานจักสานมาทำเป็นพื้นผิว ให้ลักษณะแปลกแตกต่างออกไป หากใครสนใจ สามารถเยี่ยมชมได้ที่ ร้าน ขวัญเงิน โทรถามเส้นทางกันได้ที่ 055 631 402 ผ้าตีนจกบ้านหาดเสี้ยว ชาวไทพวน local สู่ global มองนาฬิกา บ่งบอกว่าเที่ยงวัน..... ได้เวลาทานอาหารกลางวัน เจ้าหน้าที่จัดสรรให้คณะทานอาหารกันที่ ร้านครัวศรีสัชเฮอริเทจ ที่นี่นอกจากจะเป็นร้านอาหารแล้ว ยังเป็นศูนย์อนุรักษ์ผ้าไทย ภายใต้ชื่อศรีสัชนาลัยเฮอริเทจ รวมถึงรีสอร์ท ริมน้ำที่รอรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย อาคารศูนย์อนุรักษ์ผ้าไทย ค่อนข้างกว้างขวาง มีคุณอัญชัญ พินิจเจริญผล ดูแลให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมอย่างกระตือรือร้น โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับผ้าซิ่นตีนจก ที่วางเรียงรายอวดสีสันผสานลวดลายที่สวยงาม แถมยังขอให้ ผอ.SACICT ทดลองสวมใส่อีกด้วย เรียกว่าระหว่างผู้สวมกับผ้าซิ่นงดงามแบบกินกันไม่ลงก็ว่าได้ อิอิ โอเคร.....ถัดไปสถานที่ต่อไปกันเลย ... ที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทย บ้านหาดเสี้ยว เราได้พบกับ ครูสุนทรี วิชิตนาค ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2554 พร้อมกับทายาทพี่มืด คุณรวีวรรณ ขนาดนิด ชาวไทยพวน ที่ส่งเสียงต้อนรับตั้งแต่ยังไม่ได้เดินเข้าศูนย์ ฯ ผ้าตีนจกบ้านหาดเสี้ยว จากเอกสารบอกเอาไว้ว่า .... เป็นผ้าทอพื้นเมืองของกลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวพวน ที่ทอสืบทอดกันมาช้านาน เรียกว่า ผ้าตีนจกศรีสัชนาลัยก็ไม่ผิดนัก ชาวหาดเสี้ยวที่ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายลาวพวนถูกกวาดต้อนมาจากเมืองพวนตอนใต้ของเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว การทอผ้า ตีนจก ส่วนใหญ่จะทอเพื่อใช้ต่อกับผ้าซิ่นลายต่างๆ เพื่อนำไปสวมใส่เป็นผ้าซิ่น โดยเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นตีนจกหาดเสี้ยว ส่วนบนจะเรียกว่า หัวซิ่น ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว และสีแดงต่อกัน ส่วนกลางเรียกว่า ตัวซิ่น เป็นผ้าซิ่นลวดลายต่างๆ ตามเอกลักษณ์ ส่วนล่างสุด เรียกว่า ตีนซิ่น เป็นส่วนผ้าตีนจกที่นำมาต่อเป็นตีนซิ่น นิยมทอลายจกด้วยสีสด เช่นสีแดง เหลือง ส้ม ครูสุนทรี ในวันนี้วัย 81 ยังคงแข็งแรงสวยพริ้งด้วยชุดผ้าซิ่นตีนจก สวมสร้อยคอเงินระย้า คาดเข็มขัดเงินมันเงาวาวแวว ครูสุนทรีเกิดในตำบลบ้านหาดเสี้ยว เป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว จบม. 6 ก็เข้ามาช่วยมารดาทอผ้า สร้างสรรงานทอในแบบวัฒนธรรมของชาวไทพวน รวมถึงการตั้งกลุ่มแม่บ้านจัดตั้งเป็นศูนย์สาธิตการทอผ้าพื้นเมืองขึ้น เพื่อผลิตออกจำหน่าย ทำให้ ผ้าทอตีนจกบ้านหาดเสี้ยว มีชื่อเสียงรู้จักกันในวงกว้าง “เชิญค่ะ ทานน้ำกันก่อน ” ครูสุนทรี เอ่ยปากชวนพร้อมกับชี้ไปที่โต๊ะจัดเตรียมน้ำดื่มรอรับคณะของเรา “วันนี้แต่งตัวสวยจังค่ะ” เราอดแซวไม่ได้ “ไม่ใช่สวยเฉพาะวันนี้นะคะ แต่งตัวแบบนี้ทุกวันค่ะ” ครูสุนทรี กล่าวย้ำเสียงดังฟังชัด น๊าน เป็นไง.... จ๊าบมั๊ยล่ะ ...หลังจากเจ้าของบ้านจัดสรรที่นั่งให้เรียบร้อย พี่มืด - คุณรวีวรรณ ก็เริ่มเล่าให้ฟังว่า “ที่บ้านแม่บ้านรวมกลุ่มกันทำผ้าตั้งแต่ปี 2520 ปกติชาวบ้านจะทอกันใต้ถุนบ้านอยู่แล้ว เราเป็นชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเชียงขวางเกือบสองร้อยปีมาแล้ว รุ่นนี้จะเป็นรุ่นที่ห้า แต่การทำงานตรงนี้ต่อจากยายและแม่ ผ้าตีนจกที่นี่ใช้ขนเม่นในการจก ใช้เวลาในการทอนานมากกว่าจะเสร็จหนึ่งผืน แต่เราก็สืบทอดกันจนทำให้เห็นว่าสามารถใช้ภูมิปัญญานี้เลี้ยงชุมชนได้ ตอนนี้เราเป็นกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านที่นี่มี 50 คนที่มาทอและมีการสร้างมาตรฐานด้วย เมื่อสิบปีก่อนเป็นแหล่งทอผ้าที่ถูกแข่งขันด้วยราคา จึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้รู้สึกว่าผ้าทอที่นี่แตกต่างจากคนอื่น สิ่งที่ทำกันก็คือ สร้างมาตรฐานว่าผ้าทอหนึ่งผืน ต้องเนื้อแน่น น้ำหนัก สีและลาย จะตรงตามที่กำหนดเป็นที่มาของการใช้ แบรนด์สุนทรีย์ ในการสร้างการแข่งขันเรื่องของผ้า “แม่ได้รับเกียรติให้เป็นครูช่างของศิลปาชีพฯ จึงเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้รู้สึกว่าจะต้องทำงานต่อไปเพื่อแผ่นดิน จริงๆ ตัวเองไม่ได้ทำตั้งแต่แรก ไปเถลไถลที่อื่น แต่ทุกครั้งที่ติดต่อกับแม่จะรับรู้ว่าทุกเย็นถึงค่ำ แม่จะออกไปหาชาวบ้านไปเก็บผ้า แรกๆ ก็ไม่เข้าใจ ทั้งที่เราเองก็คุ้นเคยหัดทอมาตั้งแต่เด็ก จนวันหนึ่งกลับมาอยู่บ้าน ทำให้เริ่มคิดว่าถ้าแม่ไม่อยู่ใครจะสานต่องานนี้ ทำให้เริ่มเข้าใจว่าทำไม แม่จึงต้องไปเก็บผ้ากับชาวบ้าน ทำไมต้องไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ก็เพื่อให้เกิดความไว้ใจ เชื่อใจ และให้ผ้าเหล่านี้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ไม่สูญหายไป” .....เหลียวมองบริเวณโดยรอบ นอกเหนือจากกี่ที่ให้ได้ทดลอง ยังมีการนำอุปกรณ์การทอผ้าตีนจก ประวัติ และใยไหม ขนเม่น แสดง อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากผ้าตีนจกวางอยู่ทั่วศูนย์ฯ พี่มืด - รวีวรรณ ดูเหมือนจะอ่านใจออกไงก็ไม่รู้ “คิดว่าเรื่องผ้าไม่ควรจะหยุดอยู่แค่นี้ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ได้ตลอดไป สิ่งหนึ่งคือเรื่องของการท่องเที่ยวโดยหน่วยงานของอพท. มาสนับสนุน การทำกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว เช่น กี่ นักท่องเที่ยวสามารถทำได้ เพื่อให้ได้สัมผัสงาน ได้ร่วมทำร่วมคิด ว่างานทอผ้าแต่ละผืนนั้นยากมากๆ กว่าจะทำได้สำเร็จมาแต่ละผืน อยากถ่ายทอดคุณค่าเหล่านี้ให้กับนักท่องเที่ยวได้ชม” นอกจากนี้เมื่อคราวน้ำท่วม มูลนิธิเพื่อนพึ่งภาฯ ยามยาก พระองค์ภาฯ ทรงช่วยเหลือ โดยทรงเห็นว่าผ้าตีนจกสวยงามและควรใหความช่วยเหลือ ให้พัฒนาสินค้าขึ้นมานอกเหนือจากการเป็นผ้าซิ่น มีทำเป็นสายคล้องโทรศัพท์ กระเป๋า และสินค้าต่างๆ เพื่อนำไปจำหน่ายยังมูลนิธิเพื่อนพึ่งภาฯ ทุกปี การพัฒนาค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยมาโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้คุณมืดได้นำหัตถกรรมผ้าตีนจกไทยพวนไปแสดงที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนั่นทำให้เป็นที่มาของการเตรียมต้อนรับคณะผู้ผลิตกิโมโนที่มีชื่อเสียงของเมืองโตเกียวที่จะบินมาดูงานผลิตจากต้นน้ำของบ้านหาดเสี้ยว “งานตีนจกบ้านหาดเสี้ยว เป็นภูมิปัญญาของที่นี่ จุดเด่น 3 อย่าง คือ จก วิธีการใช้ขนเม่นจก ยก วิธีการเก็บตะกอ เข็น การใช้ด้ายสองเส้นปั่นเข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นเกลียว ใช้เทคนิคที่แข็งแรงที่สุดผสานกันทอผ้าให้เป็นหนึ่งลายทำให้ยากต่อการลอกเลียนแบบ เป็นเทคนิคที่ออกแบบอะไรก็ได้ด้วยมือของเราเอง เราขายความเป็นชาติพันธุ์ของเรา ถือเป็นความภาคภูมิใจ” เหนือสิ่งอื่นใด ผ้าซิ่นตีนจกจากฝีมือชาวบ้านที่ชื่อ สุนทรี ครั้งหนึ่งมีโอกาสสร้างสรรงานถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ที่ทอต่อเนื่องยาวเป็นชิ้นเดียวกันตลอดทั้งผืน โดยทำเป็นผ้า 9 ลาย 9 ผืน 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย .... ความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดของชาวไทยพวน ..ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูสุนทรี วิชิตนาค หากใครสนใจที่จะไปแวะกระตุกกี่ ที่ศูนย์ฯ สามารถติดต่อได้ที่ 089 858 8576 คุณมืด ยินดีต้อนรับค่ะ เครื่องเงินลงยา .... ครูพิสมัย ผุยพรม ได้รับการเชิดชูให้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 : เครื่องลงยา สุโขทัย เป็นอีกหนึ่งครูช่างศิลป์ ที่ SACICT พาคณะเข้ามาเยี่ยมชม ที่ ร้านไหมเงิน ที่มุมด้านซ้ายของร้าน ครูพิสมัยยืนรอคอยอธิบายถึงอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยสำหรับงานหัตถศิลป์ของร้าน ครูพิสมัย หนึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้านที่ผลิตเครื่องประดับเงินจากการเรียนจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผลิตเครื่องประดับเงิน จนมีความคิดว่าอยากจะผลิตเครื่องประดับเงินขึ้น “ลวดลายส่วนใหญ่มาจากวัตถุโบราณ ลวดลายไทยของวัดเก่าในอุทยานศรีสัชนาลัย เช่นฝาผนัง หรือกำแพงวัด “ ครูพิสมัยบอก ที่พิเศษกว่าที่อื่น ตรงที่เครื่องประดับทั้งแหวน ต่างหู เงินวางใส่ถ้วยขนาดเล็กเอาไว้ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเลือกสีลงยาด้วยตัวเอง เรียกว่า ใครใคร่ชื่นชอบแบบไหนก็เลือกจับเลือกจับกันได้อย่างสบายใจ ที่สำคัญคือ ราคาเครื่องประดับเงินที่นี่มีราคาไม่แพง พอจะจับต้องได้กับเขาอยู่เหมือนกันนะเนี่ย .... ว่าแล้วก็อุดหนุนสักวงสองวง “เลือกได้ยังคะ” เราเอ่ยถามเมื่อเห็น คุณป้อม - แสงระวี สิงหวิบูลย์ ผู้จัดการสายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และศักยภาพ SACICT เลียบเคียงอยู่ด้านหน้าตู้ที่อวดโชว์เครื่องประดับให้ได้ยล ยังไม่ทันได้คำตอบก็ต้องรีบวิ่งผุงเข้าไปด้านหลังร้านที่เปิดให้คณะสื่อฯ เข้าไปบันทึกภาพกันได้อย่างใกล้ชิด มัวแต่เลือกเครื่องเงินเพลินไปหน่อย...อิอิ ทำเอาเกือบจะไม่ทันซะแล้ว ท่านใดสนใจงาน เครื่องเงินลงยา ครูพิสมัย สามารถติดต่อได้ที่ 055 – 615411 ทองโบราณ บ้านทองนันทนา ไม่ใกล้ไม่ไกล แค่ฝาผนังเดียวกัน เราก็มาที่ร้านทองนันทนา ที่ที่ ครูสุภัจนา เขาเหิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2256 ครูท่านสุดท้ายที่จะมาหวัดดีเยี่ยมเยียนกันในทริปนี้กันแล้ว จากเอกสาร ที่ได้รับจาก คุณปานจิตต์ พิศวง รองผู้อำนวยการ SACICT บอกเล่าว่า ครูสุภัจนาอยู่ในครอบครัวที่บรรพบุรุษเป็นคนทำทองอยู่แล้ว จึงซึมซับกับวิถีของการทำเครื่องทองมาตั้งแต่เด็กจนเกิดความรักในงานเครื่องทอง จึงได้เรียนรู้การทำทองของครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมและศิลปหัตถกรรมในทิ้งถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน ให้คงอยู่คู่กับชาวศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และสนับสนุนการฝึกอาชีพในท้องถิ่น ครูสุภัจนา เล่าว่า “งานจะยึดนโยบาย เต็มน้ำหนัก เต็มเนื้อทอง พัฒนาฝีมือคือทองนันทนา ส่วนการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำทองสุโขทัย จะถ่ายทอดให้คนในครอบครัว ถ่ายทอดจากเจ้าของร้านให้ลูกจ้างและถ่ายทอดระหว่างช่างทองกับช่างทอง ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ตรง” ร้าน ทองนันทนา ผลิตและจำหน่ายเครื่องทองสุโขทัยลายโบราณมาตั้งแต่ปี 2535 นอกจากจะแสดงลวดลายโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ของทองสุโขทัยแล้ว ยังเป็นบุญตาได้เห็น เคสไอโฟน ที่ทำจากทองคำบริสุทธิ์หนัก 5 บาท สนนราคาก็แค่แสนกว่าบาทแค่นั้นเอง .... จิ๊บ จิ๊บ ก่อนเข้าสู่ที่พัก SACICT พาชมศิลปหัตถกรรมและโบราณสถาน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร (วัดพระปรางค์) แดดยามเย็นขับองค์พระปรางค์งดงามจนเหล่าช่างภาพกระเจิดกระเจิง วิ่งหามุมกันเพลินตาเพลินใจทีเดียว ... วันแรกของการเยือนสุโขทัยจบลง ........................................................................ รุ่งเช้าก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ มีโอกาสเยี่ยมชมวัดศรีชุม ตำนาน พระพูดได้ อลังการขนาดไหน... ชมภาพเลยค่ะ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมจึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาแบบไม่ขาดสาย ปั้นงานศิลป์จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ท้ายสุดผู้ที่ทำให้เราได้มารู้จักกับครูช่างของแผ่นดินรวมทั้งทายาทและโบราณสถานสุดคลาสสิคในทริปนี้ คุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บอกเล่าถึงองค์กรและงานที่จะมีขึ้นว่า “ งานศิลปหัตถกรรมถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ ที่มีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และกระบวนการสร้างสรรค์งานผ่านช่างฝีมือที่มีความรู้ความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น หากแต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้มีการบันทึกหรือเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นรูปธรรม จึงลบเลือนและสูญหายไปตามกาลเวลา SACICT ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน และรวบรวมงานหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน โดยดำเนินการสืบค้น และให้ความสำคัญกับบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่ได้รักษาและถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ตลอดระยะเวลา 14 ปี ของ SACICT มีผู้ที่ได้รับการเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมรวมแล้วทั้งสิ้น 341 คน โดยแบ่งเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 77 คน ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 209 คน และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 55 คน ในปี 2020 นั้น ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง Regional Hub ด้านศิลปหัตถกรรมของเอเชีย (Asian Craft Trading Nation) จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของ SACICT ที่จะเร่งดำเนินงานอนุรักษ์ สืบสาน และรวบรวมงานหัตถศิลป์ไทยอันทรงคุณค่าจากฝีมือช่างหัตถศิลป์ไทย เพื่อต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน และผลักดันให้ SACICT CRAFT CENTER เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และอนุรักษ์สืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สากล เพื่อให้ชุมชนกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ผอ.อัมพวัน เล่าต่อว่า “SACICT ทำงานตั้งแต่อนุรักษ์ การอนุรักษ์ของเราส่วนหนึ่งคือเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดินครูช่างและสืบสาน มีการส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง ทายาทเป็นส่วนหนึ่งที่ต่อยอดด้วยการนำภูมิปัญญาเดิมด้วยการออกแบบ การปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการและด้านการตลาด ทั้งในและต่างประเทศ องค์กรทำงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างครูกับครู ข้ามสายกันที่ผ่านมาจัดให้ภาคใต้มาเรียนการย้อมผ้าที่อีสานเป็นต้น โดยผสมผสานภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นเพื่อนำมาต่อยอดชิ้นงานให้พัฒนาต่อไป มีการนำครูไปต่างประเทศเพื่อไปตามหารากของงานศิลปหัตถกรรมเหล่านั้น เพื่อศึกษาวัฒนธรรมร่วมที่มีรากของงานเช่นเดียวกัน เช่นที่อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ส่วนของทายาท เน้นต่อยอดเรื่องงานดีไซน์ ครูหรือชุมชนทำงานร่วมกันกับนักออกแบบ เน้นเรื่องหัตถกรรมที่ใกล้สูญหายหรือถูกลืม “TODAY LIFE’S CRAFTS”เช่นงาน เบญจรงค์ เน้นให้เกิดการใช้งานในชีวิตจริง แต่เดิมผู้ซื้อไม่ได้ใช้ จะมอบเป็นของฝาก ตั้งโชว์กัน จึงใช้แนวคิดว่า หากปรับเปลี่ยนรูปทรง สีที่ใช้ รวมถึงการลงสี ทำให้ได้ซิกเนเจอร์คอลเลคชั่น ที่เราได้เห็นเบญจรงค์ที่มีรูปลักษณ์อีกแบบหนึ่ง มีหูฟัง ก้านแว่นตา เครื่องประดับ ตุ๊กตา และอื่นๆ ผอ. อัมพวัน ด้านงานที่จะเน้นในปีถัดไป “ ....ปีหน้าจะเน้นเรื่องจักสาน ซึ่งไต้หวันเก่งเรื่องจักสานก็เตรียมนำทายาทไปเปิดโลกทัศน์ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน รวมถึงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย จะเน้นด้านองค์ความรู้ให้กับทายาทมากขึ้น ให้เกิดการพัฒนาด้านดีไซน์นำความรู้เก่าผสมผสานกับความรู้ใหม่ จนเกิดนวัตกรรมที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ได้เห็นคุณค่าของงานศิลป์ซึ่งไม่เฉพาะกลุ่มทายาทเท่านั้น ปีหน้าจะเห็นกิจกรรมขององค์กรเปลี่ยนไป มีการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นมากขึ้น มีการทำเวิร์คช็อปลงพื้นที่ในหลายภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงทางฝั่งธนบุรี และงานผ้าขาวม้าก็จะนำมาเพิ่มเติมต่อยอดเช่นกัน นอกจากนี้ยังเตรียมเสริมความรู้สร้างมาตรฐานครู เนื่องจากพบว่า ครูของเราบางท่านทำงานตั้งแต่เด็ก อาจไม่ได้เรียนหนังสือสูงแต่มีองค์ความรู้ มีความเป็นครูอยู่ในตัว ครูเหล่านั้นหลังจากเชิดชูแล้วก็ได้สถานะส่วนหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรให้ครูมีมาตรฐานที่สูงและไปเทียบกับต่างชาติได้ จะมีการเทียบภูมิปัญญาเหมือนได้วุฒิด้วย เป็นชั้นวิชาชีพ ครูเหล่านั้นก็จะไปสอนในสถาบันการศึกษาได้ กิจกรรม Craft The Future การปลูกต้นไม้ใหม่ๆ ให้แข็งแรงตั้งแต่เป็นต้นอ่อน โดยใส่ปุ๋ยเข้าไปเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้งานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้เติบโตและพัฒนา มีจัดการประกวดผลงาน เพื่อให้เกิดเทรนด์ใหม่ๆ” ทั้งนี้เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา SACICT ผ่านการตรวจประเมินอย่างเป็นทางการ และได้รับการรับรองใบ Certification ISO 9001: 2015 จากบริษัท URS (United Registrar of Systems) ซึ่งเป็นหน่วยรับรอง (Certification Body: CB) และองค์กรระดับสากลของ United Kingdom Accreditation Service: UKAS และ International Automotive Task Force: AITF ให้เป็น “ศูนย์กลางการให้บริการองค์ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และขยายตลาดงานหัตถศิลป์ไทย ผู้สนใจงานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถมาศึกษาค้นคว้าได้ที่ SACICT ทุกวัน เปิดให้บริการตั้งแต่ 8.00-17.00 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือสอบถามข้อมูลโทร.1289 .... การได้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ .... นอกจากจะก่อให้เกิดความสุข ....อิ่มเอมกับภูมิปัญญาที่มากค่า ยังสัมผัสได้ถึงความงดงามจากความรักและความหวงแหนงานศิลป์เพื่อคนรุ่นหลานรุ่นลูกของเหล่าครูช่าง ใบหน้าเปื้อนยิ้ม...น้ำเสียง....แววตา...บ่งบอกความภาคภูมิอย่างเต็มหัวใจ....ชาวสีสั๊ด แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ สุข งาม ศิลป์ได้อย่างไร __________________________________________________________