จากผลงานการวิจัยล่าสุดของอมาเดอุส พบว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวไทยกว่าร้อยละ 79 ยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อสาธารณะมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อแลกมาซึ่งประสบการณ์การท่องเที่ยวที่สามารถออกแบบเองได้ นักท่องเที่ยวไทยไม่สนใจภาพสวยงามจากโบรชัวร์โปรโมตการท่องเที่ยว แต่พิถีพิถันในการเลือกดูฟีดอินสตาแกรมของเหล่าเซเลบริตี้มากขึ้น
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่่ผ่านมา : อมาเดอุสได้เผยแพร่ผลวิจัยหัวข้อ “The Journey of Me Insights: What Thai Travellers want” ซึ่งได้เจาะลึกไปยังพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยในการวางแผนและจองทริปท่องเที่ยว รวมทั้งวิธีการและเหตุผลที่พวกเขายังคงเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ขณะท่องเที่ยวไป ความถี่ในการใช้บริการแชร์ห้องพักแบบประหยัดและประเภทของเทคโนโลยีที่พวกเขาให้ความสนใจมากที่สุด
การวิจัยดังกล่าวได้แบ่งผลการศึกษาออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ๆ ที่ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวควรให้ความสนใจได้แก่:การแลกกันระหว่างการสูญเสียความเป็นส่วนตัว กับ การได้รับข้อเสนอด้านการท่องเที่ยวแบบเฉพาะตัว – พบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ยินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลในโลกที่ผู้คนต่างคาดหวังสูงขึ้นกับการบริการในแบบที่ตัวเองต้องการ ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย พบว่า 79 เปอร์เซ็นต์ ยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับข้อเสนอรวมถึงประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ออกแบบเองได้ สำหรับผู้ให้บริการท่องเที่ยว ระเบียบหรือข้อกำหนดต่าง ๆ จะต้องชัดเจน การท่องเที่ยวที่ออกแบบเองได้นี้จะต้องอยู่ในจุดสมดุล ไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวระหว่างการเดินทางของนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการจะต้องเคารพและปกป้องความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการความเป็นส่วนตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์ในมิตินี้ ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวจะต้องนำเสนอสิ่งตอบแทน หรือข้อเสนอที่มีคุณค่าเพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวยินดีเปิดเผยข้อมูล
คำแนะนำที่น่าเชื่อถือ – นักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มที่จะอ่านรีวิวหรือบันทึกประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวคนอื่นเป็นหลัก แรงบันดาลใจเหล่านี้เป็นประตูสู่โอกาสของผู้ให้บริการการท่องเที่ยว แต่ความน่าเชื่อถือก็ยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดโอกาสเหล่านั้น นักท่องเที่ยวไทยจะไม่ได้ใส่ใจแค่ภาพสวย ๆ จากโบรชัวร์โปรโมตการท่องเที่ยวในการวางแผนการท่องเที่ยวครั้งต่อไป แต่จะพิถีพิถันในการเลือกดูฟีดอินสตาแกรมของเหล่าเซเลบริตี้และบล็อกเกอร์มากขึ้น นักท่องเที่ยวกว่า 43 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบคำถาม ยอมรับว่าให้ความเชื่อถือข้อเขียนหรือบทรีวิวออนไลน์จากคนที่มีความชอบเหมือนกันหรือคล้ายกับตนเอง และ 40 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าได้รับแรงบันดาลใจจากโซเชียลมีเดีย ทั้งที่เป็นเนื้อหาที่มาจากการโฆษณาและโพสต์จากเพื่อนหรือญาติ
ความเหมาะสมของเนื้อหา ช่องทาง และช่วงเวลา – นักท่องเที่ยวไทยชอบใช้โซเชียลมีเดีย แต่ไม่ชอบรับอีเมล: ในโลกแห่งการท่องเที่ยว การมีส่วนร่วมต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากการท่องเที่ยวที่ออกแบบเองได้แล้ว การเข้าถึงนักท่องเที่ยวด้วยวิธีการอันแยบยลในเวลาที่เหมาะสมนับเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่สนใจที่จะรับคำแนะนำตั้งแต่เริ่มจองทริป หรืออยู่ระหว่างทริป ผู้ให้บริการท่องเที่ยวต้องพิจารณาวิธีการเข้าถึงและเนื้อหาที่นำเสนออย่างระมัดระวัง นักท่องเที่ยวชาวไทย 47 เปอร์เซ็นต์ ต้องการรับอัพเดตและรับคำแนะนำเกี่ยวกับทริปผ่านโซเชียลมีเดีย มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ชอบการติดต่อผ่านอีเมล ซึ่งต่างจากนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิคและออสเตรเลียที่ส่วนใหญ่ต้องการรับข้อมูลทางอีเมล โดยในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะให้ความสนใจสูงที่สุด (36 เปอร์เซ็นต์) ในคำแนะนำที่ข่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ในขณะที่คำแนะนำด้านการท่องเที่ยวที่ข่วยในการประหยัดเวลาได้รับความนิยมต่ำที่สุด (18 เปอร์เซ็นต์)
นักท่องเที่ยวแต่ละชาติในเอเชียแปซิฟิคมีความต้องการหลากหลายและแตกต่างกัน – การสำรวจในประเทศไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสำรวจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในหัวข้อ Journey of Me Insights โดยจัดทำใน 14 ประเทศ ผลสำรวจที่เด่นชัดที่สุดคือนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศของเอเชียแปซิฟิคมีความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในด้านพฤติกรรม ความต้องการ ความชอบส่วนตัวที่เกิดจากข้อจำกัดด้านภูมิภาคและองค์ประกอบของประชากร ตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวชาวไทยมากถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ต้องการรับการอัพเดตและรับคำแนะนำผ่านโซเชียลมีเดีย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ พึงพอใจที่จะรับข่าวสารเหล่านั้นผ่านทางอีเมลมากกว่าทางโซเชียลมีเดีย
ในอีกตัวอย่าง คือ นักท่องเที่ยวชาวไทย 45 เปอร์เซ็นไม่เคยใช้บริการแชร์ห้องพัก ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ใช้บริการชนิดนี้บ่อยมาก ส่วนนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ 84 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าการมีพนักงานต้อนรับหรือผู้ให้บริการที่สามารถใช้ภาษาที่พวกเขาเข้าใจได้เป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพียง 47 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยมีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ต้องการผู้ให้บริการที่สามารถใช้ภาษาไทย นั่นอาจเป็นเพราะมีชนชาติอื่นไม่มากนักที่สามารถสื่อสารภาษาไทย ซึ่งได้แก่ สปป. ลาว และ สิบสองปันนา
นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า “จากการรายงานของอมาเดอุสที่ระบุว่านักท่องเที่ยวชาวไทยได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวจากโซเชียลมีเดียมากเป็น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับคำตอบของนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิคและออสเตรเลีย โดยในไทยมีอัตรา 4 ใน 10 คนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโซเชียลมีเดีย เมื่อเทียบกับชาติอื่นที่อยู่ในอัตรา 2 ใน 10 คน พฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศแตกต่างกันค่อนข้างมากและหลากหลาย ดังนั้น ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรทำความเข้าใจในพฤติกรรมและแนวโน้มเหล่านี้จากเนื้อหาในรายงาน Journey of Me Insights ของอมาเดอุสดังกล่าว ซึ่งอมาเดอุสมีความมุ่งหวังที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอุปสงค์ (demand) ของลูกค้านักเดินทาง กับ อุปทาน (supply) ของหุ้นส่วนและพันธมิตรทางธุรกิจของอมาเดอุสที่ช่วยวางแผนการท่องเที่ยวในอนาคตร่วมกันดังที่นักท่องเที่ยวต้องการ
รายงานของประเทศไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายงาน Journey of Me Insights ซึ่งจัดทำภายใต้ความร่วมมือของ YouGov ในตลาด 14 แห่งทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและออสเตรเลีย ประกอบด้วย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ ประเทศไทย”
ผลการสำรวจนี้นำมาจาก YouGov โดยมีผู้ให้ข้อมูลซึ่งล้วนบรรลุนิติภาวะทั้งสิ้น 6,870 คน จาก 14 ประเทศในเอเชียแปซิฟิคและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นชาวไทยทั้งสิ้น 400 คนที่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา การออกพื้นที่สำรวจจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 8-17 พฤษภาคม พ.ศ.2017 โดยการสำรวจจัดทำผ่านทางออนไลน์
Post Views: 32